เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ /ด่านสามชั้นของความเชื่อ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ด่านสามชั้นของความเชื่อ

 

ท่านผู้รู้กล่าวถึง “ด่านสามชั้น” ของความเชื่อที่คนข้ามพ้นได้ยาก โดยลำดับคือ

ด่าน คู่ตรงข้าม หรือ ทวินิยม

ด่าน ความเชื่อเฉพาะตน

ด่าน ตัวตน

คู่ตรงข้ามหรือทวินิยม คือสิ่งอันเป็นตรงข้ามกันโดยทั่วไป เช่น กลางคืน-กลางวัน ร้อน-เย็น ดี-เลว ดำ-ขาว ฯลฯ ซึ่งเราจะติดอยู่กับด่านนี้เป็นธรรมดา อย่างที่เรียกว่า ธรรมดาโลก

ความเชื่อเฉพาะตน เช่น เชื่อเรื่องภพชาติ เชื่อผี เชื่อเทวดาว่ามีจริง หรือเชื่อในอำนาจของดวงดาว ฯลฯ

ตัวตน คือสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นที่สุด เป็นคุณค่าชีวิตอันรวมไปถึงชื่อเสียงเกียรติยศที่เรายึดว่าเป็นเราและของเรา

ด่านในที่นี้หมายถึงเครื่องกีดขวางที่ต้องข้ามให้พ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของความเป็นมนุษย์

คนที่ไม่คิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นด่าน ไม่จำเป็นต้องข้ามไป แถมยังเห็นว่าเป็นความสุขที่ได้อยู่กับมันโดยไม่คิดว่าเป็นเหยื่อมัน หากเป็นไปกับมัน นั่นแหละคือวิถีทางที่ถูกที่ควร

นี้คือวิถีของความเป็นมนุษย์

คือวิถีธรรมดาสามัญของความเป็นมนุษย์

 

ส่วนคนที่เห็นว่าเป็นหมายสูงสุดของความเป็นมนุษย์ไม่ควรติดอยู่กับด่านกักความเชื่อเพียงเท่านี้ มนุษย์ควรข้ามด่านความเชื่อให้พ้นทั้งสามด่าน

เพื่อเข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้

โลกจึงเกิดมีนักปราชญ์และศาสดา เพื่อช่วยพาคนข้ามพ้นด่านทั้งสาม บรรลุถึงคุณค่าสูงสุดของความเป็นมนุษย์

คำว่า ข้ามพ้น “ด่านความเชื่อ” มิได้หมายว่าให้ปฏิเสธความเชื่อนั้นๆ หาก “ข้ามพ้น” ในที่นี้หมายถึง “ไม่ยึดติด” หรือ “ไม่ยึดมั่นถือมั่น” ว่ามันเป็นสิ่งสูงสุด วิเศษสุด เป็นคุณค่าสูงสุดของชีวิต

เพียงให้ “เข้าใจ” ว่าสิ่งนี้คืออะไร เกิดจากอะไร ดำรงอยู่อย่างไร เพื่ออะไร และสำคัญสุดคือ

เราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดโดยไม่เป็นทุกข์…เท่านี้ เท่านั้น

ความเชื่อตามวิสัยโลกของด่านแรก คือความเชื่อลักษณะทวินิยม เป็นคู่ตรงข้ามดี-เลว ขาว-ดำ บุญ-บาป นี้ถือเป็นหลัก “ศีลธรรม” ของสังคมพึงต้องมี เพื่อความเป็นปกติสุขของผู้คนในสังคมนั้นเอง

 

อันตรายของโลกและสังคมเวลานี้เป็นดั่งวาทะของท่านผู้รู้ที่ว่า

สังคมเลวไม่ใช่ด้วยมีคนเลวมากกว่าคนดี หรือมีคนทำความชั่วมากกว่าทำดี หากแต่เป็นเพราะคนทุกคนในสังคมไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรเลว

ด่านความเชื่อประการที่สอง คือ ความเชื่อเฉพาะตน ซึ่งข้ามยากมาก เพราะคนที่เชื่อในสิ่งที่เขาเชื่อเป็นชีวิตจิตใจแล้วนั้น อย่าว่าแต่จะ “ข้ามพ้น” เลย แค่คิดจะแตะต้องสิ่งที่เขาเชื่อในทางลบก็เหมือนจะทำร้ายชีวิตเขาทั้งชีวิตนั่นเทียว

ความเชื่อชนิดนี้มีทั้งเชื่อผิดและเชื่อถูก เชื่อผิด คือความเชื่อประเภทงมงายไสยศาสตร์ เชื่อผีเชื่อทรงเจ้า ซึ่งเชื่อลักษณะนี้มักมีผลประโยชน์เป็นตัวกำหนด เช่น บอกใบ้ให้เลขหวย…ขอให้รวยๆ เป็นต้น

เชื่อถูก คือความเชื่อในพุทธศาสนานี้เอง เป็นความเชื่อในลักษณะ “ยึดมั่นถือมั่น” ในทางที่เป็นตัวเป็นตนมากกว่าที่จะเข้าถึงหลักธรรมที่แท้คือ สัจธรรม

ท่านอาจารย์พุทธทาสเปรียบเทียบความเชื่อเช่นนี้ว่า

พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า

บาลีใบลานบังพระธรรม

ผ้าเหลืองบังพระสงฆ์

ท่านกล่าววา

“วิถีแห่งพุทธธรรมของแต่ละคนยังมีภูเขาขวางอยู่ ไม่มีภูเขาอะไรอื่นนอกไปจากความยึดถือเกี่ยวกับตัวตน และไม่มีความยึดถือเกี่ยวกับตัวตนอะไรอื่น ยิ่งไปกว่าความยึดถือในสิ่งที่ตนถือเอาเป็นที่พึ่งของตน ซึ่งสำหรับพุทธบริษัทก็ไม่มีอะไรอื่นยิ่งไปกว่า ‘พระพุทธเจ้าตามทัศนะของเขา’ เขายังมีพระพุทธเจ้าตามทัศนะของเขาอยู่เพียงใด ก็แปลว่าเขายังมีความยึดถืออยู่เพียงนั้น”

ความเชื่อขั้น “ยึดถือ” นี่แหละที่กลายเป็น “ด่าน” ที่ยากข้ามพ้น ความเชื่อโดยปกติไม่เป็นด่าน หากเป็นสะพานข้าม ดังคำว่า “ศรัทธา” อันนำสู่ “ปัญญา”

 

ด่านสุดท้ายคือ ด่านตัวตน นี่เอง เรายึดมั่นถึอมั่นมันจนมองไม่เห็น ไม่รู้จัก แม้ส่องกระจกก็จะเห็นแต่ตัวที่เราสมมุติ ตัวที่เรายึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเท่านั้น

มีบทสนทนาธรรมเรื่อง “ตัวตน” ระหว่างคฤหัสถ์ผู้ถาม กับท่านพุทธทาสผู้ตอบหลังจากอธิบายเรื่องนี้มายึดยาว ท่านพุทธทาสลงท้ายว่า

“…ขืนพูดมากไป เดี๋ยวคุณจะโกรธ”

ผู้ถามกล่าวว่า

“กระผมภาวนาบริกรรมอยู่เสมอว่า พุทธบริษัทไม่โกรธ ถ้าโกรธไม่เป็นพุทธบริษัท คนโกรธไม่อาจเป็นพุทธบริษัท เพราะไม่อาจนั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้า ถ้าไม่อาจนั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้าก็ไม่เป็นพุทธบริษัท เพราะคำว่าพุทธบริษัทแปลว่า ผู้นั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้า บางคนแกล้งหาเรื่องด่าผม ผมยังนึกได้และไม่โกรธ แล้วผมจะมาโกรธใต้เท้า ซึ่งช่วยเป็นหมอรักษาโรคเรื้อรังให้ผม ผมก็กลายเป็นอะไรไปเสียแล้ว เท่านั้นเอง”

อาจารย์พุทธทาสตอบว่า

“ก็อ้ายที่กำลังเป็นกระผม กระผมก็ถูกด่า กระผมที่พยายามจะไม่โกรธ นั่นมันก็มากอยู่ไม่น้อยเทียวนะ”

ตัวตนตัวนี้แหละข้ามให้พ้นยากจริงๆ

เราอยู่กับมันตลอดเวลา แต่

ไม่เคยรู้จักมันจริงๆ เลย!