รพ.เอกชน ไม่รอลุยนำเข้าเอง ‘โมเดอร์นา-ซิโนฟาร์ม-สปุตนิก’ เปิดศึกชิงตลาดวัคซีนโควิด / บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

รพ.เอกชน ไม่รอลุยนำเข้าเอง

‘โมเดอร์นา-ซิโนฟาร์ม-สปุตนิก’

เปิดศึกชิงตลาดวัคซีนโควิด

 

หากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะได้ฤกษ์ดีเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก

เป็นวัคซีนของ “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่จะเข้ามาล็อตแรกต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จำนวน 50,000 โดส จากนั้นจะทยอยเพิ่มจำนวนการผลิต-นำเข้า จนครบ 63 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชนราวๆ 30 ล้านคน ตามแผนการจัดหาวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วางไว้

ภายใต้งบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ สำหรับการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 7,349 ล้านบาท ผ่านโครงการจัดหาวัคซีนของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค รวมทั้งให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดสจากไซโนแวค

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุถึงความต้องการวัคซีนโรคโควิด-19 ของไทยว่า น่าจะอยู่ประมาณ 80-100 ล้านโดส หรือเท่ากับฉีดได้ 40-50 ล้านคน

นั่นอาจจะหมายว่า เมื่อบวกลบคูณหารแล้วจะยังมีจำนวนคนไทยอีกไม่ต่ำกว่า 15- 20 ล้านคน ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

ยังไม่นับรวมถึงแรงงานต่างด้าวอีกไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านคน

นี่คือโอกาสทางธุรกิจที่บรรดาโรงพยาบาลให้ความสำคัญและต้องการจะไคว่คว้ามาให้ได้

หากยังจำกันได้ เมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่โควิด-19 กลับมาโจมตีระลอกใหม่ โรงพยาบาลวิภาวดี ปิ๊งไอเดีย ประกาศรับจองวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทโมเดอร์นา ผ่านเว็บไซต์ของโรงพยาบาล โดยกำหนดราคาค่าจองไว้ที่ 4,000 บาท ส่วนค่าวัคซีนฉีด 2 เข็ม ราคา 6,000-10,000 บาท (รวมค่าแพทย์-ค่าบริการ) โดยรับแค่ 1,000 คนเท่านั้น

แต่หลังเปิดให้จองเพียงไม่กี่ชั่วโมง คนที่สนใจโทร.เข้าไปสอบถามต้องผิดหวังไปตามๆ กัน โดยเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า “ยอดจองเต็ม”

งานนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ต้องออกโรงมาสกัด เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน อย. และเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้ขออนุญาต พร้อมกับสั่งโรงพยาบาลให้ลบข้อมูลออกจากเว็บไซต์

ถัดมากลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ที่นำโดย นพ.บุญ วนาสิน ออกมาขย่มว่า ขั้นตอนและกระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความล่าช้า ทำให้สูญเสียโอกาสและมีความเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อเพิ่ม และที่สำคัญคือ ไม่เปิดกว้างให้เอกชนขึ้นทะเบียนวัคซีนได้เอง

ขณะที่โรงพยาบาลวิภาวดี มีความเคลื่อนไหวก้าวข้ามไปอีกขั้น โดยได้มีการสั่งจองวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นา จำนวน 6 หมื่นโดส โดยขอให้ อย.ลงนามในเอกสารประกอบการจองวัคซีน และแจ้งว่าจะมีการขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้ามาฉีดให้ลูกค้าต่อไป

ร้อนถึง นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. ต้องลุกขึ้นมาชี้แจงว่า อย.ไม่กีดกันการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 และพร้อมจะอำนวยความสะดวกแก่ทุกรายที่ยื่นขอขึ้นทะเบียน

ปรากฏการณ์นี้อาจจะสะท้อนถึงดีมานด์ หรือความต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

ทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศ “ปลดล็อก” ไฟเขียวให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้ (24 มกราคม) โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ถูกต้อง

พร้อมกับเน้นย้ำว่าการนำเข้าวัคซีนต้องมั่นใจว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิผล ทางด้านฝากฝั่งโรงพยายาลเอกชนก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวในการหาวัคซีนเพื่อนำมารองรับดีมานด์อีกระลอกหนึ่ง

แหล่งข่าวระดับสูงจากกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งได้มีความเคลื่อนไหวในการติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั้งไฟเซอร์, โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม รวมถึงสปุตนิก มาเป็นระยะๆ

และมีหลายโรงพยาบาลได้มีการเจรจาเพื่อพยายามจับคู่หรือรวมกลุ่ม เพื่อรวมสั่งออเดอร์ในการสั่งวัคซีนเข้ามาให้บริการ

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรีเฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ตอนนี้ทุกคนอยากฉีด ตลาดมีความต้องการมาก เพราะโควิดกำลังระบาด

เพื่อรองรับดีมานด์ดังกล่าว เบื้องต้น หากวัคซีนซิโนแวคได้รับอนุญาตจาก อย. กลุ่มธนบุรีต้องการจะขอพ่วงต่อจากตรงนี้ เพื่อลดขั้นตอนในเรื่องเอกสารที่ใช้เวลานานและไม่ต้องยื่นขออนุญาตถึง 2 ครั้ง ทั้งๆ ที่เป็นวัคซีนตัวเดียวกัน

และอีกทางหนึ่ง การทาบทามให้ผู้ผลิตวัคซีนสปุตนิกของรัสเซีย มาขอขึ้นทะเบียนในไทยและกลุ่มธนบุรีพร้อมที่จะสั่งซื้อวัคซีนของสปุตนิก

“ช่วงแรกนี้เราวางแผนจะสั่งวัคซีนประมาณล้านโดส และดูแนวโน้มการระบาดว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าของเขาดี แต่เสียตรงที่ว่า จะต้องรอถึงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งช่วงนั้นเราก็ไม่ค่อยสนใจแล้ว เพราะช่วงนั้นจะมีวัคซีนออกมามาก ดังนั้น เราเลือกใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแอสตร้าเซนเนก้า”

ขณะที่ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือบีซีเอช ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า นโยบายดังกล่าวถือเป็นการปลดล็อกและเปิดให้เอกชนสามารถที่จะนำวัคซีนโควิด-19 เข้ามาได้ โดยจะต้องผ่านการพิจารณาและอนุญาตของ อย. เมื่อ อย.อนุญาต เอกชนก็จะสามารถนำเข้าวัคซีนเข้ามาทำตลาดได้

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สมาคมอยู่ระหว่างการเซอร์เวย์ไปยังสมาชิกสมาคมที่มีอยู่กว่า 380 โรง ว่ามีความต้องการวัคซีนโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ง่ายต่อการสั่งออเดอร์ หากมียอดการสั่งซื้อมาก ราคาก็จะได้ถูกลง

ส่วนผู้บริหารระดับสูงโรงพยาบาลเอกชนอีกรายหนึ่ง ยอมรับว่า อยู่ระหว่างการศึกษาการนำเข้าวัคซีน ไม่สามารถระบุความต้องการที่แท้จริงได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยหลายๆ อย่างยังไม่นิ่ง เช่น หลังจากที่มีกระแสข่าวในต่างประเทศว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีไซด์เอฟเฟ็กต์ที่บางรายถึงขั้นเสียชีวิต ทำให้คนจำนวนหนึ่งเกิดความกังวล เป็นต้น

หากมีการสั่งซื้อวัคซีนโควิดเข้ามา เบื้องคาดว่าสัก 1-2 หมื่นโดสก็น่าจะพอ เพราะยังต้องดูปัจจัยในเรื่องเศรษฐกิจ-กำลังซื้อด้วย

หรือหลังจากที่รัฐบาลทยอยฉีดให้ประชาชนไปแล้ว ดีมานด์ที่แท้จริงในตลาดจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตาม

แน่นอนว่า ในมุมมองของโรงพยาบาลเอกชน คงไม่มองเฉพาะปีแรกปีนี้เท่านั้น บนสมมุติฐานที่ว่า โควิด-19 จะยังอยู่กับคนไทยไปอีกนาน อย่างน้อยๆ ก็อีก 2-3 ปีเป็นอย่างต่ำ

ดังนั้น ในเชิงธุรกิจการค้าจึงต้องมองไกลไปถึงอนาคตในวันข้างหน้า

ด้วยจำนวนประชากรไทยที่มีมากกว่า 66 ล้านคน แม้รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อฉีดให้ประชาชนได้ 50-60% ก็ยังมีตัวเลขที่เหลืออีกประมาณ 30 ล้านคน

แค่ 50% ของ 30 ล้านก็รับฉีดกันมือเป็นระวิงแล้ว

ส่วนจะเป็นเม็ดเงินเท่าไหร่ก็เอาราคาวัคซีนที่คิดไว้ในใจคูณเข้าไป

ผลลัพธ์ออกมาเบาะๆ ก็หลักพันล้าน (บาท) หรือทะลุหมื่นล้าน (บาท) ไม่ยาก

เค้กวัคซีนโควิค-19 ก้อนนี้จึงมีความน่าสนใจยิ่งนัก และเป็นเค้กที่หอมหวานไปนานอีกหลายปี