ที่รู้สึกต่อ ‘ตำรวจ’ / เมนูข้อมูล – นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

ที่รู้สึกต่อ ‘ตำรวจ’

อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลอยู่ในสภาพที่ประชาชนข้องใจเรื่องความชอบธรรมมาตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้การจัดการปัญหาต่างๆ จึงต้องใช้อำนาจ ใช้กฎหมายบังคับให้ทำตาม ไม่เหมือนรัฐบาลที่ประชาชนมอบความศรัทธาให้ ที่แค่ขอความร่วมมือก็บริหารจัดการประเทศได้ จึงทำให้ “ตำรวจ” มีบทบาทเป็นเครื่องมือหลักในการคลี่คลายปัญหาให้รัฐบาล

พฤติกรรมใดที่ไม่ถูกใจ เป็นอุปสรรคในความอยู่ดีมีสุขของผู้อำนาจ กฎหมายจะถูกหยิบขึ้นมาใช้ และตำรวจจะเป็นผู้ลงมือทำ ขจัดสิ่งที่จะกระทบกระเทือนต่อรัฐบาล

การจัดการประเทศดำเนินมาอย่างนี้ จนคิดกันว่าตำรวจมีบารมีสูงส่ง มีผลงานเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป

เมื่อต้องเลือกใครสักคนมาทำหน้าที่อะไรสักอย่างที่ต้องอาศัยการยอมรับจากประชาชนจึงเลือกตำรวจ

แม้แต่ “ผู้สมัครรับรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่จะเข้าสู่คิวเลือกกันหลังเลือกนายกเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลเสร็จ ยังมีความเคลื่อนไหวในวงการตำรวจอย่างคึกคัก

เพราะทำงานมากเพื่อแก้ปัญหาให้กับรัฐบาลที่ต้องใช้กฎหมายควบคุมการยอมรับ อาจจะทำให้ตำรวจเชื่อว่าผลงานที่ผ่านมาจะสร้างศรัทธาให้ประชาชนได้

จึงพากันอาสามาลงสมัครรับเลือกตั้งกันใหญ่

น่าสนใจที่ในความรู้สึกของประชาสชนเป็นจริงอย่างที่คิดเช่นนั้นหรือไม่

คำตอบในใจแต่ละคนคงแตกต่างกัน

แต่หากจะหาคำตอบว่า ประชาชนส่วนใหญ่คิดอย่างไร ล่าสุด “สำนักวิจัยซูเปอร์โพล” ของ ดร.นพดล กรรณิกา นักทำโพลอาชีพ น่าจะสะท้อนบางความรู้สึก

ในการสำรวจเรื่อง “วิกฤตคือโอกาส” เมื่อเร็วๆ นี้

ในคำถามที่ว่า “อะไรควรจะเป็นโอกาสในวิกฤตของประเทศครั้งนี้” ร้อยละ 95.7 ตอบว่า จำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการและงานตำรวจ, ร้อยละ 95.4 การทำงานของข้าราชการและตำรวจต้องเร่งปฏิรูป

และเมื่อถามถึงหน่วยงานที่ต้องการเห็นในการปฏิรูประบบราชการ ร้อยละ 54.6 ตอบว่าตำรวจ, ร้อยละ 46.1 แรงงาน, ร้อยละ 44.5 ยุติธรรม, ร้อยละ 44.1 มหาดไทย, ร้อยละ 35.8 การศึกษา

จากผลการสำรวจที่ออกมาเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามว่าในสนามเลือกตั้งใหญ่อย่าง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ความเชื่อมั่นของตำรวจที่มาลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น เป็นความคิดที่หวังผลสำรวจได้หรือไม่

ตำรวจเป็นอาชีพที่ประชาชนให้ความศรัทธาจนเป็นตัวเลือกที่จะได้รับชัยชนะได้จริงหรือ

หลัง “นายกรัฐมนตรี” ที่มาจากการทำรัฐประหารปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนออก แล้วตั้ง “อดีตนายตำรวจ” ขึ้นมาทำหน้าที่แทน

ลองสำรวจความคิดเห็นกันบ้างหรือไม่ว่าการบริหารจัดการมหานครแบบตำรวจสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนแค่ไหน

ในความรู้สึกของประชาชนนั้น ภาพลักษณ์ของตำรวจเป็นบวก หรือเป็นลบ

การศึกษาหัวจิตหัวใจของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของตำรวจ

โดยเฉพาะหัวจิตหัวใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญเป็นเรื่องที่ควรจะต้องศึกษาให้รู้อย่างน้อยในระดับหนึ่ง

เพราะในที่สุดจะได้ไม่งงกับผลการเลือกตั้ง ที่อาจจะผิดเพี้ยนไปจากที่คิดนึกเอาเอง