E-DUANG : ความหดหู่ สิ้นหวัง รัฐธรรมนูญ ปรองดอง สมานฉันท์ จึงลำบาก

ไม่เพียงแต่ความสนใจต่อการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการสมานฉันท์อันเพิ่งจัดตั้งขึ้นโดยรัฐสภาจะน้อยอย่างยิ่ง หากแม้กระทั่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็แทบไม่มีข่าว

ทั้งๆที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ มีผลสะเทือน เป็นอย่างสูงในทางการเมือง

ทั้งๆที่การเกิดขึ้นของคณะกรรมการสมานฉันท์เป็นความเรียกร้องต้องการร่วมกันจากที่ประชุมรัฐสภาอันประกอบขึ้นจาก 250 ส.ว.และ 500 ส.ส.

เป็นความเรียกร้องต้องการทั้งๆที่เคยมีคณะกรรมการในลักษณะเดียวกันนี้ตั้งแต่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

เหมือนกับความเรียกร้องต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับแต่มีการลงประชามติในเดือนสิงหาคม 2559 และประกาศบังคับใช้ เมื่อเดือนเมษายน 2560

แต่เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดการเคลื่อน ไหวเพื่อจะนำไปสู่การสมานฉันท์ สังคมกลับไม่ให้ความสนใจ

 

ถามว่าเหตุใดสังคมจึงให้ความสนใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญน้อยมากถึงกับแทบมิได้ตั้งความหวังอะไรเลย

คำตอบอยู่ที่กระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติม

ถามว่าเหตุใดสังคมจึงให้ความสนใจต่อพัฒนาแห่งคณะกรรมการสมานฉันท์ถึงกับแทบมิได้ตั้งความหวังอะไรเลย

คำตอบอยู่ที่ความเป็นจริงของคณะกรรมการและการสมานฉันท์ เนื่องจากเป็นกรรมการที่มิได้มีองค์ประกอบจากคู่แห่งความขัดแย้ง คำตอบอยู่ที่เป็นเรื่องของรัฐบาลเป็นด้านหลัก

ในเมื่อเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันมี พรรคพลัง ประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นองค์ประกอบใหญ่

จึงยากเป็นอย่างยิ่งที่การปรองดองสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้

ยิ่งรัฐธรรมนูญที่ DESIGN มาเพื่อการสืบทอดอำนาจ ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย

 

ในเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมิได้มีเป้าหมายเพื่อประชาธิปไตย ในเมื่อการปรองดองสมานฉันท์ไม่สามารถจะทำให้เป็นจริงได้ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความสิ้นหวังจึงกลายเป็นปรากฏการณ์โดยทั่วไป ปัญหาจึงสะสมหมักหมมและมีโอกาสกลายเป็นวิกฤตขึ้นได้ตลอดเวลา