หนุ่มเมืองจันท์ : ทางที่ “ยาก”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ทางที่ “ยาก”

วันก่อน ไปทำรายการ “ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ” รีเทิร์น

ไม่ได้จัดรายการอะไรจริงจังหรอกครับ

แค่น้องๆ ABC 2 เขาจัดงานเสวนา และเชิญเพื่อนๆ มาเล่าประสบการณ์ธุรกิจ

ให้ผมกับ “มิ้นท์” พิธีกรคู่ในรายการเป็นพิธีกร

บรรยากาศจึงละม้ายกับรายการฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ ภาคกันเอง

คนที่ขึ้นเวทีมีทั้ง “ตุ๊ก” นภัสนันท์ พรรณนิภา ของ “ทีคิวเอ็ม”

“บอม” ธิติพงศ์ ตั้งพูลผลวิวัฒน์ ของ “เจเนอรัล เอ็นจิเนียริ่ง” หรือ GEL

และ “ช่อ” ช่อทิพย์ ส่งวัฒนา วุฒิพงศ์ ของ “เอฟเอ็น เอ้าท์เล็ต”

แต่ละคนมี “ของ” กันทั้งนั้น

มีโอกาสเหมาะเมื่อไร จะเอามาเล่าสู่กันฟังครับ

แต่มีเรื่องหนึ่งที่อยากเล่าวันนี้ คือ วิธีคิดเรื่องการทำงานของคุณพ่อ “ช่อ” ที่สอนลูกสาว

ผมเคยสัมภาษณ์ คุณปรีชา ส่งวัฒนา คุณพ่อของ “ช่อ” ในรายการมาแล้วครั้งหนึ่ง

เขาเป็นนักสู้ชีวิตที่มีมุมคิดคมคายมาก

อย่างเช่นเรื่องนี้

“ช่อ” เล่าว่าคุณพ่อจะสอนตลอดว่าเวลาทำงานอย่าทำงานง่ายๆ เพราะจะขายยาก

“แต่ทำงานยาก จะขายง่าย”

คำว่า “ทำงานยาก” ไม่ได้หมายความว่าทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก

แต่หมายถึงขั้นตอนการทำงาน ให้วางแผนดีๆ คิดละเอียด คิดให้ครบ

คิดทั้งมุมของผู้ผลิต และในมุมของลูกค้า

ถ้ายอมลงทุน ลงแรง ใช้สมองอย่างหนักเพื่อผลิตสินค้าขึ้นมาชิ้นหนึ่ง

ยิ่งทำงานยากเท่าไร พอถึงขั้นตอนการขาย

จะ “ขายง่าย”

แต่ในมุมกลับ ถ้าเราคิดแบบ “มักง่าย”

ทำแบบเอาให้เสร็จ ทำเลียนแบบคนอื่น

ใช้ความคิดน้อย ลงแรงต่ำ

สินค้าที่ผ่านกระบวนการทำงานแบบ “มักง่าย” เช่นนี้

จะ “ขายยาก”

หรือขายไม่ออก

เพราะลูกค้าวันนี้…ฉลาด

ฟัง “ช่อ” เล่าเรื่องนี้แล้ว ผมนึกถึงคน 2 คน

คนแรก คือ “โชค บูลกุล” ของฟาร์มโชคชัย

วันที่เขาเข้ามากอบกู้ธุรกิจของครอบครัวที่เป็นหนี้จากค่าเงินบาทลอยตัวในปี 2540

ตอนนี้ครอบครัวของเขามีธุรกิจหลัก 2 อย่าง คือ นมสดโชคชัย และฟาร์มโชคชัย

“นมสดโชคชัย” มีกำไร

ทำงานแบบโรงงานอุตสาหกรรม

งานเบา

ในขณะที่ “ฟาร์มโชคชัย” ในวันนั้นก็คือ ฟาร์มเลี้ยงวัว

งานปศุสัตว์หนักมาก

และขาดทุน

“โชค” ขายธุรกิจ “นมสดโชคชัย” เพื่อนำเงินมาลดภาระหนี้

มีคนถามว่าทำไมเลือกทำ “ฟาร์มโชคชัย”

“โชค” มี 2 เหตุผล

เหตุผลหนึ่ง คือ “นมสดโชคชัย” เป็นธุรกิจที่มีกำไร ใครๆ ก็อยากซื้อ

ขายง่าย

“ฟาร์มโชคชัย” ขาดทุน ขายยาก

ในภาวะที่ธุรกิจย่ำแย่ มีหนี้จำนวนมาก

“เวลา” สำคัญกว่า “ราคา”

ยิ่งขายได้เร็ว ภาระหนี้ยิ่งลดเร็ว

เขาจึงตัดสินใจขาย “นมสดโชคชัย”

แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมชอบมาก

“โชค” เลือกรักษา “ฟาร์มโชคชัย” ไว้ เพราะการเลี้ยงวัวเป็นอาชีพที่ใช้แรงงาน ต้องทำงานหนัก

แต่กำไรน้อย

“ธุรกิจที่ทำงานเบา กำไรดี คู่แข่งเยอะ

แต่ธุรกิจที่ทำงานหนัก กำไรน้อย คู่แข่งน้อย”

เขาเลือก “ฟาร์มโชคชัย” เพราะทำงานหนัก กำไรน้อย

และ “คู่แข่งน้อย”

ฟังดูเหมือน “ไม่ฉลาด” ที่เลือกเส้นทางนี้

แต่วันนี้ของ “ฟาร์มโชคชัย” เป็น “คำตอบ” ที่ดีที่สุด

การเลือกหนทางที่ยาก ทำให้เขาไม่ต้องพะวงกับ “คู่แข่ง” มาก

และเมื่อขยายงานอย่างฉลาด

ปรับแนวธุรกิจสู่ “การท่องเที่ยว”

“ฟาร์มโชคชัย” จึงประสบความสำเร็จอย่างสูงมาก

อีกคนหนึ่งที่ผมนึกถึง คือ “พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์

วันก่อนที่พา ABC 5 ไปดูงานที่ “เวิร์คพ้อยท์” และฟังการบรรยายของ “พี่จิก”

ตอนจบ “พี่จิก” ทิ้งท้ายไว้ประโยคหนึ่ง

“เรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้นถ้ามีทางให้เลือกเดินหลายทาง ให้เลือกทางที่ยากไว้เสมอ”

ไม่มีคำขยายความต่อท้าย

ให้คิดเอง

ผมนึกถึง “เรื่องเล่า” ของคนในเวิร์คพ้อยท์ เรื่อง “ความละเอียด” ของ “พี่จิก”

อย่างฉากรายการคุณพระช่วยยุคแรกๆ

วันหนึ่ง เขาใช้ต้นไม้มาประดับฉากจำนวนมาก

แต่เป็น “ต้นไม้ปลอม”

“พี่จิก” เห็นฉากแล้ว ไม่ชอบ

เพราะมองผ่านกล้องแล้วมองออกว่าเป็น “ต้นไม้ปลอม”

ถ้าเป็นคนทำงานทั่วไป เขาก็จะยอมปล่อยผ่าน

เพราะใกล้เวลาที่ต้องอัดรายการแล้ว

แต่ “พี่จิก” ไม่ยอม

สุดท้าย ทีมฉากก็ต้องเปลี่ยนต้นไม้ใหม่หมด

เอา “ต้นไม้จริง” มาแทน

ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะวัฒนธรรมการทำฉากของ “เวิร์คพ้อยท์” ที่สร้างสมกันมานาน

ฉากของทุกรายการจะรื้อและสร้างใหม่ทุกครั้ง

ไม่มีการสร้างทิ้งไว้เหมือนรายการทั่วไป

การรื้อและสร้างใหม่เป็นประจำ จึงเป็นการสร้างวัฒนธรรมหนึ่งให้กับทีมฉากโดยไม่รู้ตัว

นั่นคือ วัฒนธรรมที่พร้อมรับการปรับเปลี่ยนใหม่ตลอดเวลา

ไม่มีคำถามว่า “ทำไมต้องรื้อ”

เพราะ “รื้อ” เป็นประจำอยู่แล้ว

“ความละเอียด” ในงานโปรดักชั่น จึงเป็น “จุดแข็ง” ที่ทำให้ “เวิร์คพ้อยท์” ประสบความสำเร็จในวันนี้

เมื่อคนส่วนใหญ่ชอบทำงานที่ง่าย

การทำงานยากจึงเป็น “ความแตกต่าง”

อาจเหนื่อยยากและลำบาก

แต่ผลที่ตามมาคือ “ความสำเร็จ” ที่น่าภูมิใจ

ครับ ใครที่กำลังทำงานที่ยากอยู่ในวันนี้

ขอให้ถือว่าข้อเขียนชิ้นนี้คือ “คาถาสู่ความสำเร็จ”

โอม…ทำงานยาก ขายง่ายหนอ

ทำงานยาก คู่แข่งน้อยหนอ

ทำงานยากแล้วจะสำเร็จหนอ

โอม…เพี้ยง