เมนูข้อมูล/ประโยชน์จาก 4 คำถาม

เมนูข้อมูล/นายดาต้า

ประโยชน์จาก 4 คำถาม

เรียกแขกได้ชนิดมโหระทึกไม่แพ้คำสั่ง “ห้ามนั่งกระบะท้ายรถปิกอัพ” สำหรับ “4 คำถาม” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ขอให้ประชาชนตอบก่อนนำประเทศสู่การเลือกตั้งทั่วไป

ไม่เพียงพรรคการเมืองทุกพรรค กระทั่ง “ประชาธิปัตย์” ที่ขับเคลื่อนด้วยความลังเลต่อประชาธิปไตยในความหมาย “อำนาจเป็นของประชาชน” ในหลักการของ “ทุกคนมีสิทธิที่เท่าเทียมกัน” ยังออกมาชี้ให้เห็นความเสื่อมทรุดที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ หากการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไป

เป็นความวิตกเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย พรรคอื่นๆ และแวดวงนักวิชาการสายเชื่อมั่นในประชาธิปไตย อันเกิดจากการตีความความคิดที่อยู่เบื้องหลัง “4 คำถาม” นั้น

แม้ “หัวหน้าคณะรัฐประหาร” จะไม่ได้พูดว่า “ยังไม่พร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้ง” แค่คำถามที่เปิดออกมาหยั่งเสียงประชาชนว่า

1. ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่

2. หากไม่ได้จะทำอย่างไร

3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่น เช่น ประเทศจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

4. ท่านคิดว่า กลุ่มการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีใด

เป็นคำถามที่จริงจังขนาดหัวหน้า คสช. สั่งการว่า “ขอให้ส่งคำตอบและความคิดเห็นมาทางศูนย์ดำรงธรรมในทุกจังหวัด แล้วให้กระทรวงมหาดไทยรวบรวมส่งมา”

ยังไม่มีข้อสรุปว่าประชาชนส่วนใหญ่ตอบผ่านศูนย์ดำรงธรรมไปอย่างไรบ้าง แต่ที่ตอบทางต่างๆ ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ กระหึ่มไปด้วยเสียงวิพากษ์ว่า “มันคือหินที่โยนมาถามทางจากเบื้องหลังความคิดที่จะยื้อการเลือกตั้งออกไป”

คำตอบส่วนใหญ่จึงออกมาอย่างรวบรัดว่า “ให้ประชาชนตัดสินใจเอง ในทุกคำถาม ให้เชื่อมั่นว่าประชาชนจะจัดการปัญหาของประเทศได้ เพียงแค่ผู้มีอาวุธและกองกำลังอย่ามาเอาอำนาจแบบนั้นเข้ามาตัดสินแทนประชาชน”

แน่อนว่าเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่งว่าคำตอบที่ประชาชนส่งไปให้ศูนย์ดำรงธรรม กระแสส่วนใหญ่จะออกมาแบบไหน

เพียงแต่ว่าจะอยากรู้แค่ไหน โดยกลไกการทำงานแบบข้าราชการต้องทำใจว่าต้องใช้เวลา

ดังนั้น หากคิดจะหาข้อมูลมา “แก้อยาก” บ้าง มีแต่ต้องส่องผลสำรวจที่สำนักโพลต่างๆ ไปสอบถามประชาชนมา

ซึ่งมีอยู่โพลหนึ่งที่แม้ไม่ตรงนัก ทว่า ให้อารมณ์ที่ใกล้เคียง คือผลสำรวจของ “สวนดุสิต”

อารมณ์ที่ว่า ระหว่าง “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” กับ “นักการเมืองที่มาจากการใช้อาวุธและกองกำลัง” ถึงห้วงเวลานี้ ประชาชนคิดถึงใครมากกว่า

ในคำถาม “ทำไมช่วงนี้นักการเมืองจึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางขึ้น” คำตอบคือ ร้อยละ 71.22 เห็นว่าเป็นเรื่องปกติทางการเมือง นักการเมืองมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ได้ ร้อยละ 67.76 บอกว่าเพราะการบริหารบ้านเมืองในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผลงานยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ร้อยละ 62.49 เห็นว่าเพราะต้องการสะท้อนความคิดในอีกแง่มุมที่แตกต่างกับรัฐบาล ร้อยละ 56.27 บอกว่าต้องการกดดันรัฐบาลให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ร้อยละ 50.04 บอกว่าเพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน อยากบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า

อย่างที่บอก แม้ไม่ตรงกับ 4 คำถามของหัวหน้า คสช. เป๊ะๆ แต่อารมณ์ของคำตอบสะท้อนได้ไม่น้อยต่อความรู้สึกนึกคิดต่อนักการเมือง

แน่นอนคนที่สนใจติดตามความเป็นไปทางการเมืองย่อมลุ้นระทึกว่า “ศูนย์ดำรงธรรม” จะสรุปคำตอบออกมาอย่างไร

เป็นการลุ้นระทึกในแบบที่หลายคนเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าความหมายของคำว่า “พร้อมจะรับฟัง” นั้น แปลความไปในทางว่า “รับฟังเพื่อเอามาปฏิบัติตาม”

หรือ “รับฟัง” แบบ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อเอามาจัดการควบคุมให้เป็นอย่างที่ตัวต้องการ