ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
ผู้เขียน | ชนัดดา ชินะโยธิน [email protected] |
เผยแพร่ |
สวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญในด้านการศึกษาของประชาชน เรื่องสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก
แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กมีประชากรเพียงแปดล้านกว่าคน แต่เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทั้งในด้านวัฒนธรรม ภาษา และความเชื่อทางศาสนา
อันเป็นผลมาจากเจตนารมณ์ทางการเมือง มีความมั่นคงทางการเมืองอันเนื่องมาจากการปกครองแบบประชาธิปไตย ในรูปของสมาพันธรัฐ (confederation)
มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งไม่มีภัยก่อการร้ายในประเทศจากการที่ตั้งตัวเป็นกลางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
การมีนโยบายที่เป็นมิตรกับทุกประเทศด้วยการมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) ทำให้รากฐานของประเทศมีความมั่นคงและง่ายต่อการที่จะพัฒนาในลำดับถัดไป
แม้เป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด แต่มีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากและเจริญมากประเทศหนึ่ง
ส่งผลให้สมาพันธรัฐสวิสมีศักยภาพและมีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมสิ่งทอ นาฬิกา เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เครื่องจักร เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า และธุรกิจบริการ ได้แก่ สาขาการท่องเที่ยว การโรงแรม การบริการ สาขาการเงินและธนาคาร
ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประชากรในยุโรปด้วยกัน
รายได้หลักมาจากภาคบริการ โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวและธนาคาร
แรงงานมีทักษะสูง และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี จึงทำให้เป็นประเทศที่มีค่าแรงสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
นอกจากนี้ เป็นประเทศหนึ่งในยูโรโซนที่ไม่ใช้สกุลเงินยูโร แต่ใช้เงินสวิสฟรังก์ที่มีฐานและค่าเงินแข็งแกร่งมาก
วันนี้ นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เล่าถึงความสัมพันธ์ทางด้านการค้า
“เรามีบริษัทสัญชาติสวิสประมาณ 200 แห่งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งทำให้สมาพันธรัฐสวิสเป็นคู่ค้าอันดับที่ 12 ของไทย ในขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลจากประเทศไทยได้ซื้อบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ด้วยโอกาสการลงทุนจำนวนมากนี้ ดิฉันจึงหวังว่าประเทศไทยจะลงทุนในสวิตเซอร์แลนด์เช่นนี้ต่อไป เพราะการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่สำคัญมากของดิฉัน”
“ปัจจุบัน การค้าระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์มีปริมาณ 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งที่ดีคือ มีจำนวนค่อนข้างสมดุลระหว่างการส่งออกและการนำเข้า ไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจเหนืออีกประเทศหนึ่ง”
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปีที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลร่วมกับซิกน่า เข้าซื้อกิจการ “โกลบัส” (Globus) เชนห้างสรรพสินค้าสุดหรูในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวนทั้งหมด 8 แห่งที่ตั้งอยู่ในสุดยอดโลเกชั่นตามเมืองต่างๆ จากบริษัท Migros-Genossenschafts-Bund (MGB) โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน 50 : 50 ข้อตกลงทางธุรกิจในครั้งนี้มีมูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านฟรังก์สวิส ซึ่งรวมไปถึงการเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ชั้นนำต่างๆ ของสวิตเซอร์แลนด์ และโรงแรมอีกหนึ่งแห่งด้วย
สมาพันธรัฐสวิสเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่จากยุโรปในประเทศไทย เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 1866 บริษัท Jucker, Sigg & Co. ก็ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1882 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Berli Jucker
ปัจจุบัน บริษัทสวิสที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ Diethelm Keller (ธุรกิจท่องเที่ยว) ETA (Swatch Group – ผลิตชิ้นส่วนนาฬิกา) Nestl? (อุตสาหกรรมอาหาร) Holcim (ปูนซีเมนต์นครหลวง) Roche และ Novartis (ยาและเวชภัณฑ์) ABB (ผลิตเครื่องจักรให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ) เป็นต้น
ส่วนบริษัทจากไทยที่มีการลงทุนในสมาพันธรัฐสวิสที่สำคัญ ได้แก่ ธุรกิจการโรงแรม เครื่องใช้ไฟฟ้า และนาฬิกา
ถามว่า ประสบการณ์จากประเทศแอฟริกาใต้ มีส่วนช่วยในการปรับตัวในฐานะเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอย่างไร ท่านทูตมีคำตอบว่า
“ระยะเวลาสี่ปีในแอฟริกาใต้ช่วยให้ดิฉันสามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตในฐานะทูตประจำประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เพราะหน้าที่หลักที่สำคัญของดิฉันตอนนั้นคือแอฟริกาใต้ โดยรับผิดชอบอีกห้าประเทศ คือนามิเบีย บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี และมอริเชียส”
“ส่วนที่ประเทศไทย ดิฉันมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศ สปป.ลาว และกัมพูชา ดังนั้น สิ่งที่ได้จากแอฟริกาใต้คือ การมีตัวตนภายในภูมิภาคหนึ่ง อย่างที่เคยทำ ซึ่งต้องทำให้เกิดความสมดุล และคำนึงถึงการขับเคลื่อนความสัมพันธ์นี้จากทางไกล สามารถประยุกต์บางสิ่งที่ได้เรียนรู้มาใช้ที่นี่”
“ก็นับว่าโชคดีที่ดิฉันมีทีมงานที่มีความรู้ความสามารถมาก ช่วยให้ดิฉันกลมกลืนเข้าสู่วัฒนธรรมใหม่ได้อย่างง่ายดาย เพราะอุปทูตซึ่งมาประจำอยู่ที่นี่สามปีแล้ว สามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างมาก รวมทั้งใช้ทักษะจากการสังเกต และการฟังของตัวเองด้วย”
“ในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม แต่การพยายามทำความเข้าใจและมีความเคารพต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มักจะช่วยให้งานทุกอย่างดำเนินได้อย่างราบรื่น”
“ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีสถานทูต 101 แห่งทั่วโลก สำหรับสถานทูตของเราที่กรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นชาวสวิสประมาณ 16 คน แต่ในส่วนแผนกการทูตก็จะมีดิฉันและอุปทูต เรายังมีทีมกงสุลขนาดใหญ่ที่รับผิดชอบชุมชนชาวสวิสในภูมิภาค มีสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ และมีทีมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เรามีเจ้าหน้าที่คนไทยและคนสวิสที่พำนักอยู่ในประเทศ เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เพราะทีมที่มีความเป็นพหุภาษาและวัฒนธรรม”
“นอกจากเรื่องสภาพอากาศที่ร้อน เรื่องภาษา นับเป็นความความท้าทายอย่างหนึ่งของดิฉัน เพราะดิฉันไม่ได้พูดภาษาไทย และในความจริงที่ว่า ภาษาอังกฤษไม่ได้เป็นภาษาที่พูดกันอย่างแพร่หลายมากนักในประเทศไทย ทั้งในงานธุรกิจหรือราชการ”
“กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นหน่วยประจำการที่เรายุ่งมาก หากถามว่าแตกต่างกันอย่างไร กรุงเทพฯ มีความปลอดภัยสูง และมีงานสังคมที่ค่อนข้างบ่อยและเต็มไปด้วยความตื่นตา”
“ที่นี่คือ ราชอาณาจักร ส่วนในแอฟริกาใต้ เป็นรูปแบบของประธานาธิบดี แต่มีกษัตริย์แห่งเลโซโท และกษัตริย์แห่งเอสวาตินี”
“สำหรับเรื่องการแต่งตัว หากเข้าพบประมุขแห่งรัฐในแอฟริกาใต้ ในฐานะผู้หญิงดิฉันจะสวมชุดกระโปรง แต่ถ้าไปพบรัฐมนตรีก็จะสวมชุดสูทธุรกิจ ส่วนในประเทศไทย ดิฉันจะใส่ชุดผ้าไหมไทยหรือชุดที่มีสีสันสวยงาม”
“ในทุกหน่วยประจำการจะพบแง่มุมใหม่ๆ กรุงเทพฯ มีหน่วยงานในระดับภูมิภาคอย่าง UNESCAP และหน่วยงานสหประชาชาติอื่นๆ ซึ่งดิฉันมักจะต้องเข้าร่วมประชุมหารือเป็นประจำ ถือเป็นงานรับผิดชอบใหม่ของดิฉัน”
แล้ววันหยุดชอบไปไหนหรือชอบทำอะไร
“ดิฉันไม่ค่อยมีเวลาว่างมากนัก แต่ไม่นานมานี้ ดิฉันมีโอกาสไปร่วมงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (Bangkok Art Biennale : BAB) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) งานศิลปะสาธารณะร่วมสมัยในโครงการเดอะ ปาร์ค (The PARQ) และงานจัดแสดงภายในวัดโพธิ์ และวัดอรุณฯ ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ”
“สามีของดิฉันนั้นชอบที่นี่มาก เพราะเขาเป็นนักกิจกรรมตัวยง โดยเป็นนักดาราศาสตร์วิทยุสมัครเล่น มีห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่นี่ สามารถส่งสัญญาณวิทยุไปยังดวงจันทร์และกลับมายังโลกอีกครั้ง และเขาเพิ่งได้รับใบอนุญาตจากทางการไทย ซึ่งนับเป็นสิ่งที่พิเศษมาก”
“นอกจากเป็นผู้สนับสนุนในกิจกรรมที่หลากหลายของดิฉันแล้ว เขายังชอบการทำอาหาร อย่างเช่น วันนี้ ดิฉันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน และอาหารค่ำที่บ้านพัก สามีซึ่งเป็นเชฟที่มีความสามารถ ก็ได้มาช่วยออกแบบรายการอาหารให้ดิฉันด้วย”
“ตอนนี้ สามีเริ่มเรียนกอลฟ์แล้ว แม้จะอยู่ในระดับเริ่มต้น แต่เขาก็กระตือรือร้นมาก”
เสียงหัวเราะ ทำให้เราได้รู้สึกถึงความสุขที่อบอวลไปทั่วบริเวณ เมื่อท่านทูตกล่าวว่า
“ปีนี้ นับเป็นปีที่ 24 ที่เราครบรอบการแต่งงาน เราทั้งสองไม่มีลูก แต่มีสุนัขสามตัว ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของเรา”
ประวัติ นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา ประสบการณ์ตุลาคม 2019-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว2015 -2019 : เอกอัครราชทูตหญิงคนแรกของสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศแอฟริกาใต้ ผู้แทนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในบอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มอริเชียส และนามิเบีย และผู้แทนพิเศษของสวิตเซอร์แลนด์ ประจำกลุ่มประชาคมเพื่อการพัฒนาแห่งภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ (SADC)ตุลาคม 2008-กันยายน 2015 : อธิบดีกรมทรัพยากรของกระทรวงต่างประเทศสวิส (FDFA) 2006 : ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ FDFA 2000-2006 : ฝ่ายการเงินของ FDFA 1985-2000 : ประจำสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ในเมืองลากอส ฮาวานา ซานฟรานซิสโก สตราสบูร์ก ลิมาและโบโกตา 1985 : เข้าทำงานใน FDFA เกิด : เมืองซูริก ในปี 1965 การศึกษา : ปริญญาบริหารธุรกิจ มหาบัณฑิต จาก Externado de Colombia University in Bogota สถานภาพ : สมรส |