ในประเทศ : ฝ่าดงระเบิดการเมือง ปฏิกิริยา ‘โกตี๋-3 นายพล’ ‘ไปป์บอมบ์’ ลูกที่ 4 โผล่

คดีระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วันที่ 22 พฤษภาคม

ซึ่งมีหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงระเบิดหน้ากองสลากเก่า วันที่ 5 เมษายน และหน้าโรงละครแห่งชาติ วันที่ 15 พฤษภาคม ว่าน่าจะเป็นฝีมือคนร้ายกลุ่มเดียวกัน

โดยมีจุดประสงค์ทางการเมืองในห้วงครบวาระ 3 ปีการรัฐประหารของ คสช.

ผ่านมา 2 สัปดาห์ การสืบสวนสอบสวนทั้งในส่วนของตำรวจและทหารดำเนินไปอย่างเข้มข้น

ในส่วนของตำรวจ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีระเบิดทั้ง 3 ลูก ประกอบด้วย นายตำรวจ บช.น. บช.ก. บช.ส. บก.ป. ตำรวจภูธร และพนักงานสอบสวนแต่ละกองบัญชาการ ทั้งสิ้น 201 นาย ก่อนเพิ่มชื่อ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. เข้ามาภายหลัง รวมเป็น 202 นาย มี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน

ในส่วนของทหาร หน่วยข่าวกรองของกองทัพ ศูนย์รักษาความปลอดภัย ตลอดจนสภาความมั่นคงแห่งชาติ ต่างเข้ามามีส่วนร่วมในการคลี่คลายคดีระเบิดด้วยเช่นกัน โดยทำงานแยกส่วนจากพนักงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจ

เนื่องจากเป็นเหตุการณ์กระทบต่อความมั่นคง ในความรับผิดชอบดูแลของ คสช. และกองทัพ โดยเฉพาะระเบิดลูกที่ 3 เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นพื้นที่ทหาร

ทั้งยังพุ่งเป้าไปที่ “ห้องวงษ์สุวรรณ” ที่ตั้งชื่อตามนามสกุลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม

ดังนั้น ไม่ว่าจะตำรวจหรือทหาร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดตามจับกุมตัวมือระเบิดที่มาเหยียบจมูก คสช. ถึงถิ่นครั้งนี้ให้ได้

เพื่อเรียกศรัทธาความเชื่อมั่นด้านความมั่นคง ในสายตาของประชาชนกลับคืนมา

 

ในเบื้องต้นทั้งฝ่ายตำรวจและทหาร จะประเมินสาเหตุแรงจูงใจของกลุ่มมือระเบิดสอดคล้องต้องกันว่ามาจากการเมือง

แต่วิธีการสืบเสาะให้ได้มาซึ่งตัวคนร้าย แตกต่างกัน

ตำรวจให้ความสำคัญที่วัตถุพยานและพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นหลัก

ขณะที่ฝ่ายทหาร ดูเหมือนมุ่งตรงไปยังตัวบุคคลในเครือข่ายการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะคนที่มีประวัติเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล คสช. ด้วยวิธีรุนแรง

เช่น กรณี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. ออกมาระบุถึง นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และคดีมาตรา 112 ซึ่งหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ ว่าอยู่ในข่ายเชื่อมโยงเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

ก่อนมีรายงานข่าวปล่อยชื่อย่อ 3 นายพลทหารนอกราชการ “พ.-ช.-ม.” ตามมาอีกระลอก รวมถึงลูกน้องนายทหารยศพันเอก ที่ไปมีชื่ออยู่ในสมุดเยี่ยมของโรงพยาบาล ก็ตกเป็นเป้าถูกเพ่งเล็งเช่นกัน

ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. หัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ระบุข้อมูลการสืบสวนของตำรวจค่อนข้างสอดคล้องกับทางกองทัพ แต่ในสำนวนการสอบสวน พยานหลักฐานต่างๆ ยังไปไม่ถึง จึงยังชี้ไม่ได้ว่าเป็นกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มใด

หลังจากมีชื่อตกเป็นผู้ต้องสงสัย “โกตี๋” วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการทางเว็บไซต์ยูทูบ Thais Voice ของ “จอม เพชรประดับ”

ปฏิเสธ ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทั้งกล่าวด้วยว่า ถ้าหากพวกตนทำคงไม่ระเบิดโรงพยาบาล แต่จะระเบิดทำเนียบรัฐบาล หรือบ้านคนในรัฐบาล เพราะไม่ต้องการให้ชาวบ้านเดือดร้อน

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของคนบางกลุ่มที่ทำกันเองหรือไม่ เนื่องจากจุดเกิดเหตุเป็นพื้นที่ทหาร คนธรรมดาระดับตาสีตาสาคงไม่สามารถทำได้

 

ขณะเดียวกัน พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) และอดีตที่ปรึกษานายกฯ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งตรงกับชื่อย่อ “พ.พาน” กล่าวว่า

ตนเป็นทหารมาตลอดชีวิต อยู่ในสนามรบตั้งแต่ยศร้อยตรีถึงพลเอก รู้ดีว่าในการทำสงครามจะไม่มีการยุ่งเกี่ยวกับโรงพยาบาลหรือแพทย์ พร้อมยืนยันว่าไม่เคยรู้จักกับ “โกตี๋”

สำหรับนายพล “ช.ช้าง” เป็น พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ที่ออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า เป็นใครไม่รู้ แต่ไม่ใช่ตนเองแน่นอน “ผมเป็นทหารเก่า เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและอดีตผู้บัญชาการทหารบก มีแต่ปราบระเบิด ไม่ใช่ทำระเบิด”

ส่วนนายพล “ม.ม้า” รายงานข่าวระบุ เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามควบคุมตัวดำเนินคดีอาวุธสงครามเมื่อปี 2557 มาแล้วครั้งหนึ่ง ถ้าใครเกาะติดสถานการณ์ช่วงนั้น อาจเดาออกว่าคือใคร
การบุกปิดล้อมตรวจค้นบ้านพัก นายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ทหารติดอาวุธครบมือ

รวมถึงการสกัดตรวจค้นขบวนรถและจับกุม นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา แม้เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นไปตามนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลเพื่อลดปัญหาอาชญากรรม

แต่เมื่อมากระตือรือร้นในช่วงนี้ ทำให้ถูกมองว่าเป็นการสร้างเงื่อนปม ชี้นำให้สังคมสงสัยมากขึ้นว่าอดีตนักการเมือง มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด 3 ครั้งในกรุงเทพฯ หรือไม่

 

กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เผยว่า ขณะนี้ทหารได้เชิญตัวคนที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยอาจพัวพันระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มาพูดคุยแล้ว 40-50 คน

รวมกับที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ระบุในทางสืบสวนสอบสวนของตำรวจ มีการรายงานกลุ่มคนต้องสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องในการวางระเบิดหรือร่วมทีม จำนวนกว่า 200 คน เป็นข้อมูลของนครบาลส่งมากว่า 100 คน ในส่วนของสันติบาล 80-90 คน

นั่นทำให้คดีระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่เชื่อมโยงไปถึงคดีระเบิดอีก 2 ลูกก่อนหน้า กลายเป็นคดีที่มีผู้ต้องสงสัยมากที่สุด 200-250 คน

แต่ทั้งหมดยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดถึงตัว

อย่างไรก็ตาม การที่มีข้อมูลผู้ต้องสงสัยจำนวนมากจากหลายสายไหลมารวมกัน ส่งผลให้เกิดความสับสนกันเองภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จนสื่อบางสำนักหยิบยกไปเป็นประเด็นพาดหัว เกี่ยวกับภาพความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล

หลังจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าคดี ว่าสามารถระบุตัวคนวางระเบิดได้แล้วว่าชื่อ-นามสกุลอะไร เป็นใครมาจากไหน แต่ยังไม่ขอบอก

สวนทางกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ในเวลาต่อมาของวันเดียวกัน ว่าพอใจผลการสืบสวนสอบสวนคดีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ทั้งยืนยันในการสืบสวนสอบสวนของตำรวจชุดคลี่คลายคดี ยังไม่พบหลักฐานชัดเจนพอจะระบุตัวคนร้ายได้ ทั้งหมดยังเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยและยังไม่ขออนุมัติศาลออกหมายจับใครทั้งสิ้น

ยังดีที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ดับชนวนเรื่องนี้ได้รวดเร็ว ด้วยการยืนเคียงคู่กับ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันรุ่งขึ้น ว่าทุกอย่างเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน

ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์ ก็กล่าวเช่นเดียวกัน ว่าการนำเสนอข่าวของสื่อ ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ยืนยันว่าไม่มีเรื่องงัดกับ ผบ.ตร. แน่นอน ทุกอย่างจึงเป็นอันจบข่าว

 

แต่แล้วแนวทางการสืบสวนที่เริ่มเข้ารูปเข้ารอย ดูเหมือนจะกลับมายุ่งยากอีกครั้ง
เมื่อมีการตรวจพบระเบิดไปป์บอมบ์ลูกที่ 4 ในป่าหญ้ารกร้างหลังร้านอาหารใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์วัฒนธรรม ถนนรัชดาภิเษก

แม้จะสรุปในเบื้องต้นว่า เป็นระเบิดที่คนร้ายนำมาทิ้งเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจค้นจับกุม ไม่ได้หวังผลให้เกิดการระเบิด และไม่เกี่ยวข้องกับระเบิด 3 ลูกก่อนหน้านี้

ถึงกระนั้นการอธิบายลักษณะระเบิดที่บรรจุในท่อเหล็ก ต่อจุดสายชนวน ว่าเป็นแบบเดียวกับเหตุระเบิดย่านมีนบุรี เมื่อปี 2557 และระเบิดทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าห้างสยามพารากอน เมื่อปี 2558
ก็เท่ากับเป็นการตอกย้ำให้เห็นภาพความรุนแรงทางการเมืองที่ยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในยุคสมัยรัฐบาล คสช. ที่มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งพร้อมก่อเหตุระเบิดได้ทุกช่วงเวลา ไม่ว่าในปี 2557, 2558 จนถึงปี 2560

ซึ่งทั้งหมดยังจับมือใครดมไม่ได้