วิรัตน์ แสงทองคำ/ระบบการเรียนรู้ออนไลน์

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

ระบบการเรียนรู้ออนไลน์

 

วิกฤตการณ์ COVID-19 และ Great Lockdown ส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อการศึกษาในระบบ

อันที่จริงการศึกษาในระบบ โดยเฉพาะระบบมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยไทย เผชิญปัญหาหลายด้านมาก่อนหน้าแล้ว

ผมเคยเสนอซีรีส์ชุด “มหาวิทยาลัยไทยไปทางไหน” มาเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว (หากสนใจทบทวน โปรดกลับไปอ่านในมติชนสุดสัปดาห์ ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2561 มีทั้งเวอร์ชั่นหนังสือและออนไลน์) ถือว่านานเกินควรที่ควรปรับปรุงข้อมูล (updated) ให้ทันสมัย โดยเฉพาะให้เข้ากับสถานการณ์ในเวลานี้ที่พลิกผันไปอย่างมากมาย

“มหาวิทยาลัยไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น ผ่านสิ่งที่เรียกกว่า Digital Transformation” บทสรุปสำคัญข้อเขียนชุดนั้น ตามมาด้วยข้อเสนอเพียงประการเดียวในเวลาที่ไม่มีแรงกดดันเท่าทุกวันนี้ “มหาวิทยาลัยไทยไปทางไหน-ต้องไปออนไลน์เท่านั้น”

ทั้งนี้ ให้ความสำคัญเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่จริงจังกับระบบการศึกษาออนไลน์ ที่เรียกกันว่า MOOC (Massive Open Online Courses) โดยได้กล่าวถึง 2 เครือข่ายใหญ่ระดับโลกในฐานะผู้นำ เป็นโมเดลอ้างอิง

 

ผู้นำเครือข่ายใหญ่ในระบบ MOOC กำลังจะกลายเป็นผู้ให้บริการการศึกษาที่อิทธิพลมากขึ้นๆ ขณะการศึกษาในระบบค่อยๆ ลดบทบาทลงตามลำดับ การเสื่อมถอยของการศึกษาในระบบ เชื่อว่าจะเริ่มต้นที่ปลายแถวในอัตราเร่ง ค่อยๆ เคลื่อนขึ้นสู่ต้นแถว

“หนึ่ง – edX (https://www.edx.org) ซึ่งก่อตั้งโดย Harvard University และ MIT ในปี 2545 ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกเข้าร่วมมากกว่า 120 แห่ง เริ่มต้นจากหลักสูตรพื้นฐาน พัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง หลักสูตร Professional Certificate และ MicroMasters Program จนถึง Online Master”s Degree อีกค่ายหนึ่ง – Coursera (https://about.coursera.org/) ก่อตั้งในปีเดียวกัน โดยศาสตราจารย์ 2 คนจาก Stanford University ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมมากกว่า 150 แห่ง มีมากกว่า 2,700 หลักสูตร ในสาขาเฉพาะทางมากกว่า 250 สาขา และให้ปริญญาถึง 12 หลักสูตร รวมทั้ง MBA ด้วย” ข้อมูลพื้นฐานอย่างคร่าวๆ เกี่ยวกับผู้นำบริการศึกษาระบบใหม่นำเสนอไว้ในเวลานั้น (กันยายน 2561) ซึ่งในเวลานี้ไปไกลมากแล้ว

ภาพกว้างๆ ในปัจจุบัน กรณี edX (อ้างข้อมูลจาก edX 2020Impact Report ) ในฐานะผู้ให้บริการการศึกษาแบบใหม่ เป็นปึกแผ่นและมีพลังมากขึ้น ด้วยความร่วมมือของสถาบันต่างๆ ที่เรียกว่า “หุ้นส่วน (partners )” ซึ่งมีมากกว่า 145 ราย มีผู้สอน 5,743 คน ผู้เรียนหรือผู้ใช้งานในระบบ (unique users) มากถึง 24 ล้านคน โดยมีมากกว่า 3,000 วิชา ทั้ง Professional Certificate และหลักสูตรปูทางเพื่อจบการศึกษาเต็มรูปแบบ ทั้งปริญญาตรี (MicroBachelors Programs) และโท (MicroMasters Program) โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเรียนการสอนระดับปริญญาโทอย่างแท้จริงเต็มหลักสูตร (Online Master’s Degree) มากกว่า 10 สาขา ทั้งเทคโนโลยี วิศวกรรม และ MBA ทั้งนี้ มีค่าเล่าเรียนแตกต่างกัน ระหว่าง 10,000-20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่ามีค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบการเดินทางไปเรียนที่นั่น

ที่ควรสนใจ ท่ามกลางสถานการณ์ Great Lockdown edX รายงานว่ามีผู้ลงทะเบียนเข้าเรียน (registered learners) เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า และลงทะเบียนเรียน (course enrollments) เพิ่มขึ้น 15 เท่า

 

หากจะให้ภาพการเปลี่ยนแปลงเชื่อมโยงกับสถานการณ์ใหม่ได้อย่างเป็นจริงเป็นจังยิ่งขึ้น ควรพิจารณาบทบาท Coursera (อ้างข้อมูลจาก Coursera 2020 Impact Report) ผู้นำอีกราย เป็นการเพิ่มเติม

ข้อมูลเกี่ยวกับ Coursera ล่าสุดระบุว่ามีหุ้นส่วน (partners) เพิ่มขึ้นจาก 150 ราย (ปี 2561) เป็นมากกว่า 200 ราย ทั้งนี้ มีการจำแนกอย่างเจาะจงเป็นมหาวิทยาลัย 150 แห่ง แสดงให้เห็นว่ามีผู้ให้บริการการศึกษามิใช่มหาวิทยาลัย มีมากถึงกว่า 50 ราย หรือมีสัดส่วนราว 25%

“การปรากฏตัวผู้ให้บริการการศึกษาแบบออนไลน์ที่มิใช่สถาบันการศึกษา เป็นขบวนคึกคักอย่างคาดไม่ถึง เป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขาม เชื่อว่าในระยะต่อมาจะสั่นสะเทือนในโลกที่กว้างขึ้น ถือเป็น Disruptive อย่างหนึ่งต่อระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม” ผมเองเคยว่าไว้ ยังคงเป็นเช่นนั้น ด้วยเชื่อมโยงกับความรู้เฉพาะทาง จึงมีแนวโน้มมีผู้สนใจเรียนมากขึ้น ผู้ให้บริการการศึกษาดังกล่าว เกิดขึ้นจากแผนการธุรกิจระดับโลก เพื่อเข้าสู่ธุรกิจใหม่ จาก Big Tech อย่าง Microsoft Google ไปจนถึงบริษัทที่ปรึกษา เช่น Boston Consulting Group (BCG) PwC และ Accenture

Coursera นำเสนอมากกว่า 3,800 วิชา ในสาขาเฉพาะทางมากกว่า 385 สาขา มีหลักสูตรสืบเนื่องปริญญาโท 17 หลักสูตร และให้ปริญญาถึงราว 30 หลักสูตร ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึง MBA ในอีกมิติก่อให้เกิดกระบวนการเชื่อมโยงทั่วไป เป็นไปอย่างกว้างขวางกว่าที่คิด Coursera รายงานถึงบทบาทสำคัญมากขึ้นในกระบวนการฝึกอบรมให้กับภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐ และที่สำคัญการสนับสนุนและเสริมการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยในระบบปกติด้วย

ในปี 2562 Coursera เปิดฉากระบบใหม่ที่เรียกว่า Coursera for Campus นำเสนอเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนปรับระบบมหาวิทยาลัยในสิ่งที่เรียกว่า digital transformation ด้วยการใช้รายวิชาที่เปิดสอนใน Coursera เข้าไปอยู่ในระบบการเรียนปกติใน campus ต่างๆ ทั่วโลกมากถึง 3,700 แห่ง มีผู้เรียน 2.4 ล้านคน

 

วาทะหนึ่ง (Letter from the CEO – Coursera) ซึ่งสำคัญ เกี่ยวข้องกับ COVID-19 และ Great Lockdown ส่งผลให้ระบบมหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจและหน่วยงานรัฐ ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ระบบการเรียนรู้แบบออนไลน์จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญ (“…online learning will be at the heart of how the world responds”)

สำหรับภาพใหญ่ภาคธุรกิจในสถานการณ์ไม่ปกติ หรือที่เรียกกันว่าปกติใหม่ (New normal) เศรษฐกิจเผชิญวิกฤต ผู้คนตกงานมากขึ้น ท่ามกลางความผันแปรที่มากขึ้น องค์กรซึ่งมองการณ์ไกลมักจะเตรียมผู้คนให้พร้อม ด้วยการเรียนรู้ใหม่ ฝึกอบรมใหม่ Coursera อ้างว่าได้ร่วมมือกับองค์กรธุรกิจชั้นนำของโลกมากถึง 50 แห่ง โดยใช้ระบบการเรียนของ Coursera ถึง 580 รายวิชา ด้วยความรู้เฉพาะทาง 83 แขนง ด้วยประกาศนียบัตร 18 วิชาชีพ

Coursera ได้รายงานด้วยว่า ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 มีผู้เรียนใหม่เพิ่มขึ้นถึง 21 ล้านคน หรือ 333% โดยลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรต่างๆ เพิ่มขึ้นถึง 50 ล้านคน หรือ 444% ทั้งนี้ มีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยนับพันแห่งนำเสนอหลักสูตร Coursera เสริมประสบการณ์การศึกษานักศึกษาของตน ซึ่งรวมทั้งมหาวิทยาลัยไทยด้วย อย่างจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ได้นำ Coursera เข้าไปในระบบการเรียนการสอน ตั้งแต่เมื่อกลางปีที่แล้ว เป็นบริการฟรีสำหรับนิสิต-นักศึกษา ตามโควต้าผู้เข้าใช้ที่กำหนดไว้

อาจเชื่อมโยงกับเรื่องที่ยิ่งตื่นเต้น เมื่อ Coursera ระบุว่าสัดส่วนผู้เรียนที่มากที่สุดมาจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีมากถึง 21 ล้านคน (Learners)

ที่น่าทึ่งผู้เรียนจากประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับสอง (รองจากบังกลาเทศ) ในสัดส่วนมากถึง 128%

 

สิ่งที่อยากเห็นมากกว่านั้น มีมหาวิทยาลัยไทยเข้าไปในฐานะ “หุ้นส่วน (partners)” ของ edX และ Coursera ดูไปแล้วยังไร้วี่แวว

ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในภูมิภาคเดียวกันเดินนำหน้าไปแล้ว ไม่ว่ามหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือไต้หวัน

หากจะว่ามีข้อจำกัดด้านภาษาอังกฤษ ก็คงอ้างไม่ถนัด เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เปิดสอนหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษอย่างคึกคัก ครึกโครม

บทสรุปเดิมเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้วที่ว่า “การเข้าสู่ระบบการศึกษาออนไลน์ เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานโลก เป็นทางสองแพร่ง จะอยู่รอด หรือถูกเบียดขับ”

คงยังเป็นเช่นนั้นหรือ