‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ จัดเต็ม ‘Full option’ เยียวยา 31.1 ล้านคน บรรเทาทุกข์-กระตุ้นเศรษฐกิจ ยุคโควิดระลอกใหม่ / บทความพิเศษ – ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ
ศัลยา ประชาชาติ

‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’
จัดเต็ม ‘Full option’
เยียวยา 31.1 ล้านคน
บรรเทาทุกข์-กระตุ้นเศรษฐกิจ ยุคโควิดระลอกใหม่

ประเทศไทยเข้าสู่ศักราชใหม่ 2564 ด้วยความหวาดผวาต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ปะทุขึ้นมาในเดือนธันวาคม 2563 ก่อนจะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ไม่กี่วัน และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงกว่าการระบาดรอบแรก ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นหลักร้อยต่อเนื่อง
ทำให้รัฐบาลต้องงัดโครงการ “เราชนะ” มาเยียวยาบรรเทาทุกข์เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์แบบ Exclusive กับทีมงาน “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการ “เราชนะ” เป็นการบรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ ซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งเป็นการประเมินกรอบเวลาจากกรอบของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่ประเมินว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์การระบาดของไวรัสน่าจะทุเลาลง เนื่องจากประเทศไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิดในเดือนดังกล่าว
“ปีก่อนเรามีโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เป็นการเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน แต่มาปีนี้ เมื่อเจอโควิดรอบใหม่ แต่ก็แตกต่างจากรอบแรกที่ยังไม่รู้เรื่องการป้องกัน ยังไม่รู้เรื่องของวัคซีน ไม่รู้อนาคต แต่คราวนี้เมื่อระลอกใหม่กลับมา การพัฒนาวัคซีนทั่วโลกเริ่มประสบความสำเร็จ เราเองก็จองวัคซีนได้ และมีโรงงานผลิตวัคซีนภายในประเทศ ที่ร่วมมือกับทางแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) ก็มีความมั่นใจในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกทำให้เห็นว่าการจะปิดประเทศเหมือนครั้งแรก คงไม่จำเป็น”
นายอาคมกล่าวว่า ที่มองว่าการจะปิดล็อกดาวน์ทั้งประเทศอีก ถือว่าไม่จำเป็น เพราะจะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจแพงขึ้นไปอีก เนื่องจากรัฐบาลต้องทุ่มเงินมาช่วยเหลือประชาชน และภาคธุรกิจ
ดังนั้น การปิดเฉพาะจุดที่ไม่จำเป็น เช่น บ่อนการพนัน สถานบันเทิง เป็นต้น จะช่วยให้ต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งโครงการ “เราชนะ” รัฐบาลจะช่วยประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ คาดว่ามีประมาณ 31.1 ล้านคน ใช้เงินราว 2.1 แสนล้านบาท
“การช่วยเหลือ จะดูตามความจำเป็น วันนี้ในแผนที่ คนที่อยู่จังหวัดสีขาว ไม่ใช่ว่าไม่ได้รับผลกระทบ เขาก็เดือดร้อน เพราะว่าไม่แน่ใจว่าจะมีคนนำเชื้อเข้าไปไหม และบางจังหวัดก็มีการให้กักตัว 14 วัน หรือสินค้าที่ส่งมาในระหว่างจังหวัดก็มีอุปสรรค ดังนั้น เราให้ทั้งหมดทั่วประเทศ ถือว่าเป็นความเดือดร้อนของทุกคนในประเทศ ส่วนวิธีการ เนื่องจากสถานการณ์แตกต่างจากปีที่แล้ว ดังนั้น การใช้เงินจะใช้ด้วยความระมัดระวังมากขึ้น และลงไปถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด”
นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา หลังการระบาดของโควิดระลอกแรก แนวโน้มต่างๆ ถือว่าดีขึ้น แต่เมื่อมีโควิดระลอกใหม่เกิดขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้กลับไปเท่ากับก่อนเกิดโควิด อาจต้องใช้เวลายาวขึ้นอีกประมาณ 3-4 ปี แต่การดำเนินชีวิตภายในประเทศจะต้องเริ่มภายในปีนี้ หากยุติการแพร่กระจายเชื้อได้เร็ว ชีวิตปกติของคนไทยก็จะกลับมาได้เร็วขึ้น
นอกจาก “เราชนะ” แล้ว แพ็กเกจรอบนี้ยังมีมาตรการทางด้านสินเชื่อ ทั้งการพักชำระหนี้ และการเติมสภาพคล่อง
รวมถึงยังได้เสนอการขยายเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% อีก 1 ปี เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ถือครองทรัพย์สิน ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
รวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ 0.01% เป็นการกระตุ้นให้คนที่มีกำลังซื้อที่อยากจะซื้อบ้านได้แบ่งเบาภาระ โดยกำหนดราคาบ้านสูงสุด 3 ล้านบาทเท่าเดิม เพียงแต่ขยายเวลาอีก 1 ปี
รวมถึงมีมาตรการซอฟต์โลนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศขยายเวลาให้ยื่นคำขอพักชำระหนี้และขอสินเชื่อซอฟต์โลนออกไปถึงเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากมีความเดือดร้อนจากพื้นที่ที่เป็นต้นตอการระบาด และพื้นที่สีแดงคุมเข้ม ที่โรงงานอาจต้องปิดชั่วคราวหากมีคนติดเชื้อ ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่าย หรือสภาพคล่อง หรือบางรายอาจจะปิดกิจการไป รวมถึงการดูแลธุรกิจท่องเที่ยว
“นโยบายครั้งนี้โฟกัสไป 2 เรื่อง คือ ภาคการท่องเที่ยว ที่ค้างมา 1 ปีแล้ว กับเรื่องพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด โดยเราให้ธนาคารของรัฐโฟกัสไปที่พื้นที่ส่วนนี้ก่อน กับเรื่องภาคการท่องเที่ยว วันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวฯ มาพบ มีการหารือถึงข้อเสนอจากสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งในหลายข้อเสนอเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ เช่น เรื่องซอฟต์โลน เป็นต้น”

นายอาคมยอมรับว่า ที่ผ่านมาซอฟต์โลนยังติดเงื่อนไขที่ทำให้แบงก์ไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะมีเงื่อนไขการสำรองที่เข้มข้นอยู่ ทำให้แบงก์กลัวว่าถ้าปล่อยกู้ไปแล้วเป็นหนี้เสียขึ้นมา ก็ต้องกันสำรอง 100% แบงก์ก็จะแย่ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ ภาครัฐอยู่ระหว่างผลักดันแก้กฎหมายซอฟต์โลน เพื่อผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะผ่อนปรนให้ทั้ง 2 ข้าง ทั้งฝั่งแบงก์พาณิชย์และลูกหนี้ รวมถึงให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมได้ด้วย จะครอบคลุมไปถึงการช่วยเหลือกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจสายการบินด้วย
อย่างไรก็ดี ในส่วนสายการบิน คงไม่ใช่การให้เงินกู้เพื่อไปลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้ แต่จะพิจารณาช่วยเหลือตามความจำเป็น อาทิ การจ่ายเงินเดือนพนักงาน เพื่อรักษาการจ้างงาน และค่าใช้จ่ายประจำวันที่สายการบินจำเป็นต้องใช้ เป็นต้น โดยให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เข้าไปดูเรื่องการออกแบงก์การันตีให้
“แก้กฎหมายต้องใช้เวลา ตอนนี้กำลังคุยกันอยู่ระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท. เราก็อยากจะแก้ และได้ย้ำทาง ธปท.ไปแล้วว่า ถ้าหากไม่แก้ เงินไม่ออกแน่ ซึ่งตอนนี้ออกไปได้แค่ 120,000 ล้านบาท อยากแก้ให้ออกมาได้มากกว่านั้น อย่าลืมว่า ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยตัวเองมามากแล้ว หากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปอีกก็จะมีผลกระทบ เราจึงพูดกับ ธปท. ว่าอย่างไรก็ตาม แค่เรื่องการขยายเวลาพักชำระหนี้ไปถึงเดือนมิถุนายน 2564 คงไม่พอ ต้องผ่อนคลายกฎเกณฑ์ เพื่อให้สามารถปล่อยเงินออกไปสู่ธุรกิจได้”
ในส่วนของทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2564 ขุนคลังชี้ว่า หากการระบาดจบลงได้ใน 2 เดือน น่าจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ยังมีโอกาสขยายตัวได้ 3.5% ต่อปี จากกรอบเดิมที่กระทรวงการคลังประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 3.5-4.5% ต่อปี อย่างไรก็ดี จะมีการประเมินวิเคราะห์ปัจจัยทั้งบวกและลบ เพื่อปรับประมาณการใหม่อีกครั้งวันที่ 28 มกราคมนี้
ที่ฟันธงได้ชัดเจนคือ ปีนี้ภาครัฐจะเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุนและการกระตุ้นการบริโภค เพราะเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นได้รับผลกระทบหมด