ศึกนอก-ศึกใน ‘เพื่อไทย’ ส่ง ‘บิ๊กเนม’ คุม 21 โซน สู่เบอร์ 1 ขึงขังศึกซักฟอก – ‘3 ป.’ ไม่หลุดโผ / การเมืองในประเทศ

การเมืองในประเทศ

ศึกนอก-ศึกใน ‘เพื่อไทย’
ส่ง ‘บิ๊กเนม’ คุม 21 โซน สู่เบอร์ 1
ขึงขังศึกซักฟอก – ‘3 ป.’ ไม่หลุดโผ

วันนี้สภาพ “พรรคเพื่อไทย” พี่ใหญ่ฝ่ายค้าน บอกได้คำเดียวเลยว่า ศึกนอกก็ใหญ่ ศึกในก็หนัก
เจอหมัดจากหลายทางจนรับมือกันไม่ไหว
หมัดหนึ่งจากคนกันเองที่ตอนนี้จบกันไปแล้ว แต่ปัญหายังคาราคาซังไม่จบ
หมัดหนึ่งจากคนในพรรคเดียวกันเองที่ใจไปแล้วแต่ตัวยังอยู่
หมัดหนึ่งจากฝ่ายค้านด้วยกันเอง
และหมัดหนึ่งจากฝ่ายรัฐบาล
การออกหมัดสู้กันกับฝ่ายรัฐบาลเป็นสิ่งที่ฝ่ายค้านต้องทำอยู่แล้วด้วยหน้าที่
วันนี้งานใหญ่คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่โหมโรงกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตั้งแต่เรื่องเรือดำน้ำ การละเมิดสิทธิและการคุกคามนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่มาชุมนุม รถไฟฟ้าสายสีเขียว การปล่อยให้มีการลักลอบใช้แรงงานต่างชาติ และการมีบ่อนการพนันจนเป็นเหตุให้โควิด-19 ระบาดรอบ 2 การบริหารจัดการกับสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญทั้งโควิดและพิษเศรษฐกิจที่รัฐบาลบริหารจัดการได้ล้มเหลวในสายตาประชาชน
ประเด็นเหล่านี้ผุดขึ้นมาเปิดแผลของรัฐบาล รอให้ฝ่ายค้านเข้าไปขยี้ซ้ำ แต่ “ฝ่ายค้าน” ยังทำได้ไม่เข้าเป้า และยังไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการบริหารจัดการข้อมูล
เพราะมัวแต่กังขากันเองอยู่

เป้าหลักความกังขาตกอยู่ที่ “เพื่อไทย” ตามระเบียบ เพราะพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุดในประเทศ มักจะคุม ‘คน’ ให้เบ็ดเสร็จยาก ดังนั้น จึงมักจะได้เห็นภาพ ส.ส.ในพรรคใหญ่เดินแตกแถวให้เห็นอยู่บ่อยๆ
แต่กรณีล่าสุด ทัวร์ลงเพื่อไทยมาก เพราะทำญัตติของเพื่อนในพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง ‘เสรีรวมไทย’ ที่ยื่นร้องถอดถอนนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ออกจากการเป็น ส.ส.ล่มไป เนื่องจากการถอนชื่อออกจนสุดท้ายชื่อไม่ครบ แม้จะบอกว่าเกิดจากการสื่อสารและกระบวนการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องรายชื่อที่ผิดพลาด และโดนขู่หนัก
แต่เพื่อนฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคน้องใหม่อย่างพรรคก้าวไกล ยังมีความกังขาอยู่ว่ามีนอกมีในอะไรแฝงอยู่หรือไม่
สุดท้าย “พี่ใหญ่เพื่อไทย” เลยต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจ
ออกเป็นมติพรรคให้ ส.ส.ทุกคนของพรรคมาลงชื่อในคำร้องถอดถอนนายสิระออกจากตำแหน่งเป็นครั้งที่สอง

เดินหน้าต่อมาถึงเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ปีที่แล้ว “เพื่อไทย” ทำผิดฟอร์มไว้จนเสียหายหลายกระดาน ลามไปถึงถูกครหาว่ามี “ดีล” พิเศษกับรัฐบาลให้เกิดมวยล้มต้มคนดู
ครั้งนี้พรรคใหญ่ฝ่ายค้านจึงพลาดไม่ได้อีก
รอบนี้มีแหล่งข่าวพรรคใหญ่ยืนยันหนักแน่นว่ามีชื่อ “บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” อย่างแน่นอน
และน่าจะมีรัฐมนตรีหลายคนที่ถูกถลก
ชี้เป้าได้เลยก็ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่คงโดนหนักทุกเรื่องเพราะเป็นผู้ควบคุมทุกอย่าง
“เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ปล่อยให้มีกรณีลักลอบใช้แรงงานเถื่อน
“บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ
และรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจอย่าง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งบริหารจัดการเศรษฐกิจได้ล้มเหลว เป็นต้น
ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ก็เสนอชื่อและประเด็นในการซักฟอกเข้ามากันอย่างต่อเนื่อง
ซึ่ง “เพื่อไทย” ระบุว่า ศึกซักฟอกรอบนี้มีเซอร์ไพรส์แน่ เพราะจะมีชื่อรัฐมนตรีที่ไม่เคยมีชื่อว่าจะโดนซักฟอกจะโดนในรอบนี้ด้วย
พร้อมยืนยันด้วยว่าการทำงานของเพื่อไทยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเรียบร้อยดี ทั้งชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปราย และยื่นญัตติต่อประธานสภาในวันที่ 25 มกราคม
เพื่อเปิดเวทีชำแหละระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์นี้

แต่ระหว่างทางการเตรียมการศึกซักฟอกก็มีเรื่องจากอดีตคนกันเองเข้ามาให้ปวดหัวอีก โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. โร่ร้อง ป.ป.ช.เอาผิด ‘นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’ รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากนาฬิกาที่ใส่มาแถลงข่าวเรื่องงบฯ กองทัพนั้นมองดูแล้วเป็นนาฬิกาหรู แต่กลับไม่มีแจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สิน
ทำให้ ‘เสี่ยโจ้’ ต้องรีบออกมาชี้แจงเร็วจี๋ว่า นาฬิกาตัวเองไม่หรู ราคาแค่หลักหมื่น ไม่เข้าข่ายที่ต้องยื่นในบัญชีทรัพย์สิน แถมใส่มานานเป็น 10 ปี
เหตุการณ์นี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นเกมการเมืองหวังสกัดการอภิปรายของ ‘เดอะโจ้’
แต่คนในพรรคเดียวกันเองกลับมองว่า เป็นความบาดหมางเก่าส่วนตัว เพราะก่อนหน้านี้ทั้ง 2 เคยมีวิวาทะและเหตุไม่พอใจกันมาแล้วเรื่องการมีชื่อเป็นคณะกรรมาธิการงบประมาณ
และไม่กินเส้นกันมาตลอดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วันนี้เพื่อไทยต้องทำคะแนนหนัก เพราะหากนับเวลาดูแล้วเหลือเวลาอีกประมาณปีกว่าๆ เท่านั้นที่รัฐบาลจะครบวาระ และมีการเลือกตั้ง
การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์พรรคเพื่อไทยว่าจะมีวิถีทางเดินไปในทิศทางใด
ระหว่างที่พิสูจน์ตัวเองผ่านการทำหน้าที่ในสภาก็ต้องเร่งหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนด้วย เพราะในอนาคตพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นตัวหารในเส้นทางสายเดียวกันนี้จะผุดขึ้นมาอีกมาก
วันนี้พรรคเพื่อไทยจึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานพื้นที่เขตเลือกตั้งมอบหมายผู้ดูแลพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศของพรรค ซึ่งเป็นการจัดโซนให้ระดับ “ผู้ใหญ่” ในพรรค อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองหัวหน้าพรรค นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต ส.ส.กทม. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ นายวิทยา บุรณศิริ อดีต ส.ส.อยุธยา นายเกรียง กัลป์ตินันท์ นางพวงเพชร ชุนละเอียด นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล คณะกรรมการการเมืองพรรคเพื่อไทย ฯลฯ
แยกกำลัง แบ่งพื้นที่ลงไปดูแล ส.ส.ให้ทั่วถึงทุกภาค โดยแบ่งเป็น 21 โซน ประกอบด้วย โซนภาคเหนือ 2 โซน, โซนภาคอีสาน 4 โซน, โซนภาคกลาง 5 โซน, โซนภาค กทม. 6 โซน และโซนภาคใต้ 4 โซน พร้อมมอบภารกิจที่แต่ละโซนต้องดำเนินการหลักๆ คือ ทำหน้าที่ “แมวมอง” ค้นหาคนการเมืองใหม่ๆ หรือสมาชิกใหม่ๆ มาเสริมทัพให้พรรค และรับฟังเสียงประชาชน เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้นำมาสู่กระบวนการจัดสร้างนโยบายที่ตรงกับปัญหาของประชาชน
โดยการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยลั่นวาจาไว้แล้วว่าจะส่งผู้สมัครทั้ง 350 เขต และจะไม่มีการใช้สูตรแตกแบงก์พันใดๆ ทั้งสิ้น จะสู้โดยมีทัพใหญ่เพื่อไทยเพียงพรรคเดียวเท่านั้น
ตั้งแต่ช่วงหลังปีใหม่มานี้จะเห็น “ผู้ใหญ่” หลายคนทั้งที่เคยหยุดทำการเมืองและหายหน้าหายตาไปจากพรรคเพื่อไทย เดินกลับเข้าพรรคมาให้ได้ทักทายอยู่ไม่ขาด
บางคนบอกมาเป็น “เบื้องหลัง” บางคนบอก “มาเป็นคนช่วยงาน” บางคนบอก “มาช่วยคิด”
ไม่ว่าจะกลับมาด้วยภารกิจไหน ก็ถือเป็นสัญญาณหนึ่งของ “เพื่อไทย” ว่าเรือใหญ่ยังไม่หมดแรงพาย