E-DUANG :  มอง “คสช.” ผ่าน “ความหวาดกลัว” จนขนหัวลุก

สถานการณ์ทางการเมืองในห้วง 1 ทศวรรษได้ให้บทเรียนและยกระดับความรับรู้เป็นอย่างสูงให้กับสังคม

ลองฟัง “เสียง” ของ “นักการเมือง” จะเห็นชัด

ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นเสียง จากพรรคเพื่อไทย

ก็จะสัมผัสได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล โดยเฉพาะจาก นายชวลิต วิชยสุทธิ์

มองเห็นความสัมพันธ์ มองเห็นลักษณะยึดโยง

เท่ากับมิได้เป็นการมองอย่างแยกส่วน ตรงกันข้าม เป็นการมองอย่างที่ ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี สรุปว่า

มองอย่างเป็น “องค์รวม”

 

ยิ่งเมื่อมีข้อเสนอให้ผนึกกำลังระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์ กับ กปปส. และคสช.เพื่อต่อกรกับ “ระบอบทักษิณ”

ยิ่งประจักษ์ใน “ความเป็นจริง”

เท่ากับยืนยันว่า “ระบอบทักษิณ” ยังดำรงคงอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะที่เห็นผ่าน “พรรคเพื่อไทย”

แสดงว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ล้มเหลว

ขณะเดียวกัน เท่ากับยืนยันว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีความจำเป็น

จึงต้องฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ทิ้ง

จากนั้น จึงสถาปนา รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อมาเป็นอาวุธใหม่ในการกำจัดและขจัด

วันนี้ยังเป็นการต่อสู้อยู่กับ “ระบอบทักษิณ

 

อาการละล้าอันปรากฏผ่าน 4 คำถามจากรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

สะท้อนความรู้สึก “หวาดกลัว”

หวาดกลัวอย่างชนิดขนหัวลุก หวาดกลัวกระทั่ง กปปส.ต้องหวนคืนพรรคประชาธิปัตย์

หวาดกลัวกระทั่งยังมิอาจเข้าสู่ “โหมดเลือกตั้ง”

เพราะหากเลือกตั้งก็จะเกิดความพ่ายแพ้เหมือนเมื่อเดือนธัน วาคม 2550 เหมือนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 และอาจจำเป็นต้องรัฐประหารอีก

หากไม่มองผ่าน “องค์รวม” ก็จะไม่เข้าใจ