ต่างประเทศ : หนึ่งสัปดาห์ “โจมตีแมนเชสเตอร์” อีกหนึ่งปัญหาถาโถม “อังกฤษ”

นับตั้งแต่เสียงระเบิดดังขึ้น ที่แมนเชสเตอร์อารีนา ระหว่างการแสดงคอนเสิร์ตของ “อารีอานา แกรนเด” ป๊อปสตาร์ชื่อดังชาวอเมริกัน ในเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ผ่านมาจนถึงเวลานี้ก็ผ่านพ้น 1 สัปดาห์เต็มๆ ไปแล้ว

เสียงกัมปนาทของระเบิดกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่อังกฤษต้องเผชิญเพิ่มเติมจาก “เบร็กซิท” ที่อังกฤษเตรียมเริ่มเจรจาแยกตัวจากสหภาพยุโรป หลังการเลือกตั้งในวันที่ 8 มิถุนายนนี้

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงหาหลักฐาน และผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิด นอกเหนือไปจาก “ซัลมาน อเบดี” มือระเบิดชาวแมนเชสเตอร์เชื้อสายลิเบียวัย 22 ปีที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เพื่อไขปริศนาแรงจูงใจที่แท้จริง

เหตุสะเทือนใจ ซึ่งกลุ่ม “กองกำลังรัฐอิสลาม” หรือไอเอส อ้างว่าอยู่เบื้องหลัง ยังส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 116 ราย

ในจำนวนนี้ 19 รายได้รับบาดเจ็บสาหัส

 

ล่าสุดเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเอาไว้ได้แล้วอย่างน้อย 14 ราย และมีการเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดที่แสดงให้เห็นนาย “อเบดี” ขณะกำลังลากกระเป๋าเดินทางสีน้ำเงินในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุ พร้อมร้องขอให้ผู้พบเห็นกระเป๋าใบดังกล่าวระมัดระวัง รวมถึงแจ้งเบาะแสเพื่อตำรวจจะได้เก็บข้อมูลเพิ่มเติม

“เราไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ทำให้เชื่อได้ว่ากระเป๋าใบนั้นและสิ่งที่อยู่ข้างในเป็นอันตราย แต่เราก็ต้องขอให้ประชาชนระมัดระวัง” เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุในแถลงการณ์ พร้อมระบุว่ากระเป๋าเดินทางดังกล่าวแตกต่างจากกระเป๋าสะพายหลังที่อเบดีใช้ก่อเหตุ

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า อเบดีเพิ่งเดินทางกลับจาก “ประเทศลิเบีย” ไม่กี่วันก่อนหน้าวันเกิดเหตุ และมีรายงานด้วยว่า อเบดีเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี และที่เมืองดุสเซลดอล์ฟ ประเทศเยอรมนี

ผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดเป็นชายอย่างน้อย 14 คน ขณะที่ “รอมฎอน” พ่อ และ “ฮาเซม” พี่ชายของนายอเบดี ถูกจับกุมที่ประเทศลิเบีย โดยทางการลิเบียระบุว่า ทั้งสอง “เป็นสมาชิกของกลุ่มไอเอส”

 

ท่ามกลางการถอดรหัสการก่อเหตุ หน่วยสืบราชการลับ “เอ็มไอไฟฟ์” ของอังกฤษที่ต้องก้าวเข้ามาสอบสวนในคดีนี้ ก็ต้องเจอกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อมีรายงานว่า อเบดีเคยอยู่ในรายชื่อผู้ต้องสงสัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการวางแผนก่อการร้ายมาแล้วก่อนหน้านี้

ทว่า ในเวลาที่เกิดเหตุนั้น ชื่อของอเบดีกลับหายไปจากลิสต์เฝ้าระวัง

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า “หน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกา” เคยเตือนมายังเอ็มไอไฟฟ์ ถึงพฤติกรรมของอเบดี แต่หน่วยสืบราชการลับอังกฤษก็ไม่ได้ให้ความสนใจ

สื่อท้องถิ่นของอังกฤษรายงานช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีคนรู้จักนายอเบดี 2 คนที่โทร.แจ้งเข้ามายังสายด่วนต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับแนวคิดสุดโต่งของอเบดี

ด้าน “เดลีเมล์” รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่า สายลับของทางการสหรัฐได้ตามสืบนายอเบดี นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2016 และได้ส่งคำเตือนมายังเอ็มไอไฟฟ์แล้วก่อนหน้านี้

ขณะที่ “บีบีซี” รายงานด้วยว่า อเบดีมีส่วนในการจับอาวุธขึ้นลุกฮือต่อต้าน “โมอัมมา กัดดาฟี” ผู้นำเผด็จการลิเบีย สมัยที่โรงเรียนอยู่ในช่วงเวลาปิดเทอมด้วย รายงานข่าวเหล่านี้ล้วนสร้างข้อกังขาต่อชาวอังกฤษที่มีต่อประสิทธิภาพของหน่วยงานความมั่นคงของประเทศ

 

“นางเทเรซา เมย์” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศลดระดับเตือนภัยก่อการร้ายจากระดับสูงสุดที่ “วิกฤต” เป็นระดับ “ร้ายแรง” แล้วเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

พร้อมทั้งประกาศลดระดับการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาความปลอดภัยบนท้องถนนของประเทศลง

ขณะที่สถานีรถไฟ “แมนเชสเตอร์ วิกตอเรีย” สถานีรถไฟที่ใกล้จุดเกิดเหตุมากที่สุดก็กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

หลังเกิดเหตุระเบิด คะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่นำคู่แข่งจาก “พรรคแรงงาน” อย่างขาดลอยในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ กลับหดตัวลงในช่วงที่ผ่านมา

สาเหตุหนึ่ง เพราะความกังวลของประชาชนที่มีต่อนโยบาย “การลดจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ขณะ “เมย์” เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทย

นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ระหว่างปี 2009-2016 จำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจของอังกฤษลดลงราว 20,000 นาย หรือคิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจถูกเชื่อมโยงได้ว่าจะเป็นช่องโหว่ให้เกิดการก่อการร้ายขึ้นหรือไม่

ด้านนางเมย์ นักการเมืองหญิงจากพรรคอนุรักษนิยมชี้แจงว่าการลดจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจลงก็เพื่อนำงบฯ ไปลงทุนกับการเสริมสร้างความปลอดภัย รวมไปถึงหน่วยงานข่าวกรองของประเทศ

พร้อมทั้งยืนยันว่าตนเองพร้อมที่สุดที่จะเป็นตัวแทนประเทศอังกฤษเจรจา “เบร็กซิท” กับสหภาพยุโรป

 

นับตั้งแต่เหตุการณ์โจมตีชาร์ลี เอบโด เหตุโจมตีกรุงปารีส ฝรั่งเศส เหตุระเบิดที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เหตุก่อการร้ายที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เรื่อยไปจนถึงเหตุขับรถพุ่งชนที่สะพานเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ก่อนเกิดเหตุระเบิดครั้งล่าสุดที่แมนเชสเตอร์ เห็นได้ชัดว่าปัญหาการ “ก่อการร้าย” ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังในภูมิภาคยุโรปที่ยากจะแก้

แต่ความยากนั้นจะคลี่คลายไปได้หากทุกฝ่ายจับมือกันอย่างจริงจังและทิ้งผลประโยชน์ทางการเมืองไว้ข้างหลัง

“คุณพยายามทำลายเรา แต่คุณก็ทำให้เรากลับเป็นหนึ่งเดียวกันมากยิ่งขึ้น”

ข้อความหนึ่งบนพื้นที่ไว้อาลัยเหยื่อระเบิดแมนเชสเตอร์ระบุ