สุจิตต์ วงษ์เทศ : หุงข้าวหลาม ทำขวัญข้าว ‘วันกำฟ้า’ มกราคม-กุมภาพันธ์

ชาวบ้านสู่ขวัญข้าว วันกำฟ้าของชาวไทยพวน ต.บ้านกลับ อ.หนองโดน จ.สระบุรี (ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=3h9v8L_zfXc)

หุงข้าวหลาม ทำขวัญข้าว
‘วันกำฟ้า’ มกราคม-กุมภาพันธ์

มกราคม-กุมภาพันธ์ อยู่ในช่วงเดือน 3 (ปฏิทินทางจันทรคติ) บางทีเรียก “เดือนไทย” (หรือ ไท-ไต) มีพิธีทำขวัญข้าวที่เก็บเกี่ยวเก็บไว้เป็นข้าวเปลือกตั้งแต่ 2 เดือนก่อน

[หมายถึงเกี่ยวข้าวเดือน 1 หรือเดือนอ้าย (ราวพฤศจิกายน-ธันวาคม) นวดข้าว เดือน 2 หรือเดือนยี่ (ราวธันวาคม-มกราคม)]

ทําขวัญข้าว

ทําขวัญข้าว เดือน 3 (ราวมกราคม-กุมภาพันธ์) ชาวนาทั้งชุมชนนัดหมายพร้อมกัน “วันฟ้าเปิด” (ลาวเรียกวันกําฟ้า) ร่วมกันส่งขวัญแม่ข้าวขึ้นฟ้า ด้วยการเอาข้าวเปลือกที่เพิ่งได้จากทํานาไปตําซ้อมเป็นข้าวสารชุดแรก แล้วหลามจนสุกในกระบอกไผ่สุมไฟ (เรียกว่า “บายศรี” คือข้าวขวัญ เรียกต่อมาสมัยหลังว่า “ข้าวหลาม”) เป็นเครื่องเซ่นสังเวยผีแถนโดยใส่ภาชนะทําจากใบไม้ มีร่องรอยความเชื่ออยู่ในคําบอกเล่าเก่าแก่เกี่ยวกับแถนสั่งความไว้ว่า “กินข้าวให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายให้บอกแด่แถน—-” (ตํานานขุนบรม, พงศาวดารล้านช้าง)

ก่อนทําขวัญข้าวเซ่นผีแถน ชาวนาไม่กินข้าวใหม่ที่เพิ่งนวดเสร็จเก็บไว้ แต่ต้องรอหลังทําขวัญข้าวจึงเอาข้าวใหม่ไปหุงกินได้

ทําขวัญข้าวมีความหมายสืบเนื่องกัน 2 ตอน คือ สู่ขวัญข้าวกับส่งขวัญข้าว

1. สู่ขวัญข้าว หมายถึง เรียกขวัญของแม่ข้าวที่ตื่นตระหนกจากเหตุการณ์ผ่านมา ได้แก่ เกี่ยวข้าวและนวดข้าว ให้คืนสู่ปกติแล้วอยู่ดีอย่างยั่งยืนในยุ้งฉางหรือเล้าข้าว

2. ส่งขวัญข้าว หมายถึง ส่งขวัญของแม่ข้าว (คือข้าวขวัญ) เซ่นสังเวยผีแถน (ข้าวขวัญของแม่ข้าวคือข้าวสุกที่ถูกทําให้สุกจากข้าวเปลือกชุดแรก แต่ก่อนเรียกบายสฺรี หรือบายสี ปัจจุบันเรียกบายศรี)

ทําขวัญ ต้นเหตุจากเชื่อว่าข้าวมีชีวิตเหมือนคน เมื่อถูกทําให้ตายส่วนขวัญไม่ตาย แต่ตระหนกตกใจออกจากร่างแล้วหาทางกลับคืนร่างไม่พบ จึงต้องมีพิธีเรียกขวัญคืนร่าง เมื่อไม่คืนร่างก็เป็นผีขวัญแม่ข้าวต้องส่งข้าวขวัญขึ้นไปเซ่นสังเวยผีแถนบนฟ้า

ความมั่นคงทางอาหาร

ทําขวัญข้าวเป็นพิธีกรรมเพื่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ซึ่งชาวนาดั้งเดิมถือเป็นพิธีกรรมครั้งใหญ่มีต่อแม่ข้าว

ข้าวที่ต้องทําขวัญรวมอยู่ในที่เก็บรักษา เช่น ยุ้ง, เล้า หรืออาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านเรือนที่จัดไว้โดยเฉพาะก็ได้ ข้าวเหล่านั้นมี 3 ส่วน จัดที่ทางไว้ไม่ปนกัน ได้แก่ แม่ข้าว, พันธุ์ข้าวปลูก, ข้าวกิน ดังนี้

(1.) แม่ข้าว คือ รวงข้าวตกที่เก็บรักษาไว้เซ่นวักตั้งแต่วันเกี่ยวข้าว แล้วถูกเชิญเป็นประธานในลานนวดข้าว

(2.) พันธุ์ข้าวปลูก หมายถึง เมล็ดข้าวเปลือกที่คัดส่วนดีที่สุดไว้จํานวนตามต้องการจากข้าวชุดแรกที่ลานนวดข้าว สําหรับเป็นพันธุ์ข้าวใช้ปลูกในปีต่อไป

(3.) ข้าวกิน คือ ข้าวเปลือกทั้งหมดได้จากนวดข้าวเก็บไว้กินตลอดปี

บายศรี ข้าวขวัญ

เมื่อเสร็จจากทําขวัญข้าว ต้องแบ่งข้าวชุดแรกที่ผ่านพิธีทําขวัญไปตําซ้อมเป็นข้าวกล้องแล้วหุงด้วยวิธีดั้งเดิมเริ่มแรกเพื่อเซ่นผีฟ้าผีแถน เรียก “บายศรี” หรือ “ข้าวขวัญ”

หุงด้วยวิธีดั้งเดิม หมายถึงหุงในกระบอกไผ่ให้สุกด้วยการสุมไฟข้างนอก ปัจจุบันเรียกข้าวหลาม บางทีเอาข้าวหลามไป “จี่” เผาไฟไหม้เกรียมมีกลิ่นหอมเรียกข้าวจี่

[หลังรับพุทธศาสนาจากอินเดีย พิธีทําขวัญวันกําฟ้าแล้วเผาข้าวหลามทําข้าวจี่ ก็ถูกปรับเปลี่ยนเข้ากับประเพณีทําบุญของชาวพุทธ เรียกบุญข้าวหลาม, บุญข้าวจี่]

วันกำฟ้า

ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 (ราวมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี) เป็นวันนัดหมายสําคัญของชาวนาดั้งเดิมดึกดำบรรพ์นับพันๆ ปีมาแล้วสืบเนื่องถึงปัจจุบัน ว่าเป็นวันทําขวัญข้าว ส่วนชาวนาอีกกลุ่มหนึ่งเรียก “วันกําฟ้า” (โดยเฉพาะชาวนาลุ่มน้ำโขงและพื้นที่ต่อเนื่องทั่วอีสาน)

วันกําฟ้า หมายถึง วันฟ้าเปิดประตูให้น้ำฝนตกลงดินท้องไร่ท้องนา (ชาวอีสานเรียก “ฟ้าไขประตูฝน”) เพื่อคนทั้งหลายทํามาหากินอุดมสมบูรณ์ (ชื่อกําฟ้าน่าจะกลายจาก “ก่ำฟ้า” หมายถึงขมุกขมัวครึ้มฟ้าครึ้มฝนใกล้ฝนตก) ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เมื่อหลายพันปีมาแล้วเป็นเรื่องอธิบายไม่ได้จึงยกเป็นการกระทําของอํานาจเหนือธรรมชาติ (คือผี) ซึ่งน่ากลัวขนหัวพองสยองเกล้า กระตุ้นให้ชาวนาทั้งชุมชนที่พึ่งพาธรรมชาติต้องร่วมกันกําหนดพิธีกรรมวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์

ในทางภูมิอากาศเรื่องระบบลมมรสุม (ระหว่างเดือน 3) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปเป็น “ช่วงเปลี่ยนฤดู” จากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เกิดความแปรปรวนของลมมรสุมซึ่งพัดในทิศทางไม่แน่นอน มักมีฝนฟ้าคะนองเป็นฝนหลงฤดูเพราะไม่ใช่ฤดูฝน [มีเรียกหลายชื่อต่างๆ กัน ได้แก่ ฝนชะลาน (หมายถึงน้ำฝนชะล้างลานนวดข้าวที่เพิ่งเสร็จจากนวดข้าว), ฝนชะช่อมะม่วง (หมายถึง น้ำฝนราดรดต้นมะม่วงที่กําลังออกช่อ ทําให้บางช่อหลุดไป บางช่อเหลืออยู่)] [จากหนังสือ อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2545 หน้า 140]

คําทํานายจากทิศทางเสียงฟ้าร้อง ฟ้าเปิดประตูฝนหรือฟ้าไขประตูฝนในวันกำฟ้า คือปรากฏการณ์ธรรมชาติช่วงหลังฤดูหนาว มีฟ้าร้องเสียงคะนองเป็นสัญญาณจะมีฝน ดังนั้น คนแต่ก่อนเป็นที่รู้กันว่าต้องคอยฟังทั้ง 8 ทิศว่าเสียงฟ้าร้องมาจากทิศทางไหน? จะมีคําทํานายความอุดมสมบูรณ์ของน้ำท่าข้าวปลาอาหารของปีต่อไป (คําทํานายมีในเอกสารเก่าและพิมพ์ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 7 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542 หน้า 2460-2461)

คนแต่ก่อนพยายามอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติตามความเชื่อที่สั่งสมมานาน บางทีลากเข้าหาความทรงจำเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองสมัยหลัง ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างเจ้าเมืองพวน (เชียงขวาง) กับเจ้าเมืองลาว (เวียงจัน) ซึ่งต่างเป็นรัฐเอกราช ดังมีผู้เล่าว่าต่อมารัฐเมืองพวนถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเมืองลาว เจ้าเมืองลาวจับเจ้าเมืองพวนประหารชีวิต ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ขณะจะลงมือฆ่าก็เกิดฟ้ามืดฟ้าร้อง แล้วเพชฌฆาตถูกฟ้าผ่าตาย ส่วนเจ้าเมืองพวนปลอดภัย นับแต่นั้นชาวพวนยึดถือ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสำคัญมีทำขวัญฟ้าเพื่อขอบคุณฟ้า

ท้องถิ่นอื่นอาจมีความทรงจำต่างจากนี้ก็ได้ ทำให้คำอธิบาย “วันกำฟ้า” ต่างกัน

ทำขวัญข้าว “วันกำฟ้า” พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีมานุษยวิทยาว่า ถูกยกเป็นพิธีสถาปนาแม่ข้าวเป็น “แม่โพสพ” ในราชสำนักสมัยก่อนอยุธยา (จะเล่าคราวหน้า)