‘คนละโลก’ : ‘โลกของเด็ก’ ในสายตาผู้นำและผู้ใหญ่ (สลิ่ม) และ ‘โลกของผู้ใหญ่’ (สลิ่ม) ในสายตาเด็ก | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

คอลัมน์ My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

‘คนละโลก’ : ‘โลกของเด็ก’ ในสายตาผู้นำและผู้ใหญ่ (สลิ่ม)
และ ‘โลกของผู้ใหญ่’ (สลิ่ม) ในสายตาเด็ก

คําขวัญวันเด็กเป็นภาพสะท้อนโลกทัศน์ของผู้มีอำนาจไทย

คำขวัญเหล่านั้นถูกริเริ่มจากผู้นำทางการเมืองไทยตั้งแต่สมัยเผด็จการทหาร เผด็จการพลเรือน และประชาธิปไตย ผ่านหลายต่อหลายยุคสมัยที่ไทยวนเวียนกับระบอบเผด็จการและความเป็นอนุรักษนิยม

จนทำให้เราพอที่จะเข้าใจได้ว่า ทำไมเด็กส่วนใหญ่ในวันนั้นกลายเป็นสลิ่มในวันนี้

“จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” คือคำขวัญวันเด็กครั้งแรกของไทยเมื่อ 2499

มันเป็นความคาดหวังของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรผู้ร่วมปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่มาจากคณะราษฎร ซึ่งมีต่อเยาวชนไทยในครั้งนั้น

หากตัดภาพกลับมาปัจจุบัน ผู้นำและเหล่าผู้ใหญ่ที่เป็นสลิ่มต่างวิจารณ์เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่คิดแตกต่างไปจากความคาดหวังของพวกตนว่า เป็นพวก “ชังชาติ”

แต่หากลองพิจารณาดู ภูมิหลังของคนเหล่านี้แล้ว พวกเขาล้วนเติบโตขึ้นมาภายใต้ยุคเผด็จการทหาร

พวกเขาล้วนต้องท่องจำคำขวัญวันเด็ก ในสมัยจอมพลผ้าขาวม้าแดง สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น เขากำหนดคุณสมบัติของเด็กหรือสร้าง “โลกของเด็ก” ที่พึงปรารถนายิ่งภายใต้เผด็จการทหารของเขาว่า ขอให้เด็กปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า (2502) ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด (2503) ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย (2504 ) ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด (2505) ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด (2506)

ด้วยเหตุที่ไทยตกอยู่ใต้การปกครองของเผด็จการมาอย่างยาวนาน คำขวัญจากผู้ใหญ่ทางการเมืองจึงมีวัตถุประสงค์มุ่งสร้างกรอบสร้างโลกให้เด็กและเยาวชนเดินตาม ไม่ว่าจะเป็น การให้เด็กยอมรับหลักอาวุโส การเดินตามผู้ใหญ่เป็นสิ่งพึงประสงค์ อย่าแหวกกรอบประเพณี ให้เด็กทำตัวให้สงบเสงี่ยมเจียมตน และมีความขยันขันแข็ง

อันเห็นจากชุดคำขวัญสมัยเผด็จการทหาร เช่น เด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี (2508)

เด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี (2509)

อนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดี มีความประพฤติเรียบร้อย (2510)

ความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง (2511)

รู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ (2512)

เด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส (2513)

ยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ (2514)

เยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ (2515)

เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ (2516)

ลองคิดดูว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่เติบโตภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารภายใต้คำขวัญเช่นนี้จะมีแนวโน้มของสำนึก พฤติกรรมและมีความอดกลั้นต่อความแตกต่างในสมัยต่อมาอย่างไร

แม้นว่าการแสดงพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เติบโตช่วงเวลานั้นพร้อมกันหลายแสนคนบนถนนราชดำเนินสะท้อนถึงความไม่ยอมศิโรราบต่อระบอบเผด็จการทหาร ต่อมารัฐบาลเผด็จการทหารถูกโค่นล้มลงอย่างฉับพลันด้วยความร่วมมือของส่วนต่างๆ ในสังคม

ความสำเร็จเหตุการณ์นี้สะท้อนให้จากคำขวัญหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีว่า สามัคคีคือพลัง (2517)

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของโลกใบเก่าหาได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสาระสำคัญไม่ เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ที่ความตื่นตัวทางการเมืองของนิสิต-นักศึกษาและนักเรียนที่เป็นปากเสียงให้ผู้ยากไร้อย่างแข็งขันสร้างความหวาดวิตกแก่ผู้นำของไทยอย่างมากจนทำให้พวกเรียกร้อง “โลกของเด็ก” ที่ผู้ใหญ่ประสงค์ผ่านคำขวัญในปีถัดมาว่า เด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรืองจะต้องทำตัวมีวินัยเสียแต่บัดนี้ (2518)

ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อ “ขวาพิฆาตซ้าย” ลงไปแล้ว ปรากฏคำขวัญจากรัฐบาลเผด็จการพลเรือนและกึ่งเผด็จการทหารสมัยต่อๆ มาต่างเรียกร้องให้เด็กไทยกลับสู่ “โลกของเด็ก” ตามค่านิยมหลักของรัฐ ตามจารีต ตามขนบธรรมเนียมที่ผู้นำและผู้ใหญ่ปรารถนา

เช่น รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย (2520)

เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม (2524)

ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย (2525)

รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา (2527)

นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม (2531) เป็นต้น

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป สงครามเย็นจบสิ้นลง ไทยเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการสร้างประชาธิปไตยขึ้นใหม่พร้อมแรงพุ่งทะยานทางเศรษฐกิจอันสะท้อนออกมาเป็นคำขวัญที่ผู้ใหญ่วางแนว “โลกของเด็ก” ไว้ว่า

เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส (2545)

เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี (2546)

เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด (2548)

อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด (2549)

ดังนั้น เด็กและเยาวชนที่เติบโตทันในช่วงเวลาดังกล่าวจึงรับรู้และมีโลกทัศน์ที่เปิดกว้าง มีความหวังและความฝันในการก้าวไปข้างหน้า พวกเขาค่อยๆ เติบโตขึ้นพร้อมคำถามตัวโตในช่วงเวลาของไทยต่อไป

พลันที่เกิดรัฐประหาร 2549 โดย คมช.และกลุ่มที่เข้าใจว่าตนเองเป็น “คนดี” ไม่นานจากนั้นการปราบปราม “คนเสื้อแดง” อย่างโหดเหี้ยมนั้น ในช่วงเวลานั้นคุณลักษณะของเด็กและเยาวชนที่ผู้ใหญ่กลุ่มนี้ต้องการปรากฏประพิมพ์ประพายขึ้น ด้วยการใช้ความเชื่อทางศาสนา ความไม่แตกแยก ความศรัทธาอย่างแน่วแน่ การยึดความมั่นคงของรัฐ การทำหน้าที่ของราษฎรไทยอย่างมั่นคงเป็นกรอบสำคัญในการตรึงเยาวชนไทย

ดังเห็นจากคำขวัญที่ผ่านมา เช่น

มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข (2550)

สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม (2551)

ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี (2552)

คิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม (2553)

รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ (2554) เป็นต้น

ส่วนคำขวัญในยุคเผด็จการทหารของ คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทบไม่แตกต่างไปจากช่วงก่อนหน้า

เช่น ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต (2558)
เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้สู่อนาคต (2559)
เด็กไทย ใส่ใจการศึกษา พาชาติมั่นคง (2560)
รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี (2561)
เด็ก เยาวชน จิตอาสา ร่วมพัฒนาชาติ (2562)
เด็กไทยยุคใหม่ รู้รักสามัคคี รู้หน้าที่พลเมือง (2563)
เด็กไทยวิถีใหม่ รวมไทยสร้างชาติ ด้วยภักดีมีคุณธรรม (2564)

อาจกล่าวได้ว่า “โลกของเด็ก” ที่สะท้อนจากคำขวัญที่ผู้ใหญ่กำหนดให้ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงค่อนข้างอยู่ในกรอบแบบจารีตนิยม

ไม่มีใครแน่ใจว่า “โลกของเด็ก” ที่ผู้ใหญ่ข้างต้นสร้างขึ้นเหล่านี้มีอิทธิพลทางความคิดต่อเด็กและเยาวชนรุ่นหลังมากน้อยเพียงใด

แต่ผู้ใหญ่ที่เติบโตขึ้นมาในยุคเผด็จการทหารบางส่วนกล่าวโจมตีเด็กและเยาวชนที่ไม่ยอมอยู่ใน “โลก” ที่ผู้ใหญ่ ผู้หวังดีสร้างไว้ให้

หากเราสังเกตปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนในรอบปี 2563 นั้น เราจะเห็นว่า “ยิ่งกด แรงต่อต้านยิ่งบังเกิด”

และหากไม่มีการปรับตัวทางโครงสร้างแล้ว ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ในอนาคตต่อไปว่าจะเป็นเช่นไร อันเห็นได้จากคำถามจำนวนมากของเด็กและเยาวชนพุ่งตรงไปยัง “โลกใบเก่า”

ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ทั้งผู้นำและผู้ใหญ่ (สลิ่ม) เหล่านั้นเติบโตและมีโลกทัศน์ที่ถูกตีกรอบครอบมาแต่ยุคสงครามเย็นและยุคเผด็จการทหาร คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีช่วงอายุราว 70 ปีลงมา

พวกเขาคือกลุ่มบุคคลที่ยึดกุมอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทยเอาไว้อย่างเหนียวแน่น และได้ประโยชน์จากสังคมแบบเดิม

พวกเขาจึงพยายามสืบทอดทายาททางสังคมให้รักษาไว้ซึ่งโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแบบนั้นให้ดำเนินต่อไป

พร้อมชี้นิ้วประณามไปยังเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ไม่คล้อยตาม “โลก” ที่ผู้นำและผู้ใหญ่ยัดเยียดให้ ว่าเป็น “พวกชังชาติ”

ในขณะที่กลุ่มเยาวชนหลากหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบปีที่ผ่านมา พวกเขามีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่น และวัยหนุ่ม-สาวราว 17-25 ปี

นั่นหมายความว่า พวกเขาเกิดและเติบโตขึ้นในช่วงทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา

ด้วยเหตุที่พวกเขาไม่ได้เติบโตในยุคสงครามเย็นที่ความคิดและโลกทัศน์ถูกตีกรอบให้มีความคิดแบบอนุรักษนิยมดังคนรุ่นก่อน

พวกเขาจึงอึดอัดต่อ “โลกของเด็ก” ที่ผู้ใหญ่ตรึงพวกเขาเอาไว้

ดังที่ “กลุ่มนักเรียนเลว” ล้อเลียน และท้าทาย “โลกของผู้ใหญ่” ในสายตาของเด็กดังบทเพลงที่พวกเขาแปลงเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดี ที่ผู้ใหญ่ใช้ตรึงโลกทรรศน์ของพวกเขา ให้เป็นเพลง ผู้ใหญ่เอ๋ยผู้ใหญ่ดีแทน

พวกเขาเสนอให้ผู้ใหญ่ที่ดีต้องมีจิตใจเปิดกว้างศาสนา รู้ค่าคนด้วยกัน มีวิจารณญาณ ใช้วาจานั้นไม่แดกดันเหยียดหยาม มีความคิดทำด้วยเหตุผล ให้เคารพคนมองต่าง วางจิตใจให้เป็นกลางฟังผู้น้อยดูบ้าง อย่าเพิ่งรีบไปค้าน มีอัตตาจงขจัด ผู้ใหญ่อย่าจำกัดประสบการณ์ เรียนรู้โลกใหม่ไพศาลให้เท่าทันการณ์นานาชาติพัฒนา และทำตนให้เป็นแบบอย่าง รู้จักขอโทษบ้างและไม่สร้างแต่ปัญหา

ผู้ใหญ่สมัยชาติพัฒนาร่วมจับมือเด็กพาชาติไทยเจริญ

ดังนั้น ความพยายามของผู้นำและผู้ใหญ่ (สลิ่ม) ที่พยายามตรึงเด็กและเยาวชนไทยเอาไว้ใน “โลกของเด็ก” ผ่านคำขวัญวันเด็กนั้นอาจไม่มีความหมายหรือผลในการเปลี่ยนโลกทัศน์ของพวกเขาเลย มันเป็นเพียงภาพสะท้อนของความล้มเหลวของการยัดเยียด “โลก” ของผู้ใหญ่ลงในเด็ก

มันเป็นเพียงสิ่งตกค้างของโลกทัศน์ของผู้ใหญ่ที่เติบโตในยุคสงครามเย็นและยุคเผด็จการทหาร ผู้หวาดกลัวต่อความเปลี่ยนแปลง ผู้มีโลกทรรศน์แบบอนุรักษนิยมที่ไม่สอดคล้องต่อโลกในปัจจุบันและการกดบังคับเหล่านั้นไม่อาจหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงได้

เด็กและเยาวชนเหล่านี้จึงเปรียบเสมือน “กาลิเลโอ” ผู้ตาสว่างและพวกเขาค้นพบ “โลกใบใหม่” ที่แตกต่างไปจากโลกใบเดิม

กล่าวอีกอย่างคือ พวกเขามี “พาราไดม์” ในการมองโลกที่แตกหักกับ “โลกใบเก่า” ไปแล้ว

ดังที่พวกเขาได้หยิบยกเอาคำขวัญของ พล.อ.ประยุทธ์มาล้อเลียนความไม่เท่าทันโลกและแปลงเป็นคำขวัญใหม่ว่า “เด็กไทยวิถีใหม่ รวมใจสร้างชาติ กำจัดอำนาจนิยม ทวงคืนประชาธิปไตย”

พร้อมกันนี้ พวกเขาประกาศถึง “โลกใบใหม่” ในทำนองว่า เด็กทั้งหลายจงรู้เถิดว่า ประเทศนี้ก็เป็นของเด็กด้วย มิใช่เป็นแต่ของผู้ใหญ่ (สลิ่ม) ตามที่เขาหลอกลวง

ดังนั้น ศักราชใหม่และคนรุ่นใหม่ของไทยนับแต่นี้ คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป