ย้อนดูจีนช่วงการสร้างกระแสประชาชน ที่มี ‘ซุนยัตเซน’ เป็นหัวหอกสำคัญ

สุทธิชัย หยุ่น

ก่อนเจียงไคเช็กและเหมาเจ๋อตุง ก็มี “ซุนยัตเซน”

การจะเข้าใจที่มาที่ไปของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐในเวลาต่อมาต้องย้อนมาดูจีนในช่วงการสร้างกระแสประชาชนเพื่อโค่นราชวงศ์ชิงที่มีซุนยัตเซนเป็นหัวหอกสำคัญ

ซุนยัตเซนคือผู้นำคนแรกของพรรคก๊กหมินตั่ง (ก่อนเจียงไคเช็ก) และ “รักษาการประธานาธิบดี” คนแรกของ “สาธารณรัฐจีน” หลังการโค่นราชวงศ์ชิงเมื่อปี 1912

ความสัมพันธ์ของสหรัฐกับจีนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการสู้รบระหว่างทหารของเจียงไคเช็กกับเหมาเจ๋อตุงที่ดึงเอาสหรัฐเข้ามาพัวพันจนวอชิงตันตัดสินใจเลือกที่จะยืนอยู่ตรงกันข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ซุนยัตเซนมาเยือนประเทศไทย (สยาม) 3 ครั้ง คือในปี 1903, 1905 และ 1908

แต่เขามีความคุ้นเคยกับอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม

พี่ชายของเขา “ซุนเมย” อพยพจากจีนไปเกาะฮาวายและกลายเป็นนักธุรกิจที่มีฐานะ

ซุนยัตเซนในวัยทีนไปอยู่กับพี่ชายที่ฮาวาย เรียนหนังสือโรงเรียนคริสเตียน และต่อมาก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์

เป็นช่วงเวลาที่เขาต้องการจะฉีกตัวเองออกจากระบบจีนแบบคร่ำครึของราชวงศ์ชิง

เมื่อเขากลับไปเมืองจีน ซุนยัตเซนเห็นภาพประเทศของตัวเองอยู่ในสภาพย่ำแย่ทุกด้าน เป็นวิกฤตทั้งด้านสงคราม, เศรษฐกิจและถูกต่างชาติยึดครองต่อเนื่อง

ในปี 1894 เขาร่วมก่อตั้งองค์กรฟื้นฟูชาติที่เรียกว่า Revive China หรือ “ฟื้นฟูกู้จีน”

และร่วมในการเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลของราชวงศ์ชิงอย่างจริงจัง

แผนลับของกลุ่มนี้คือการแอบส่งนักปฏิวัติติดอาวุธเข้าจีนจากฮ่องกงเพื่อก่อการเปลี่ยนแปลง

แต่รัฐบาลรู้ตัวเสียก่อน จึงส่งทหารปราบปรามอย่างหนัก

ซุนยัตเซนหนีออกจากจีนได้ ลี้ภัยอยู่หลายประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกา

ขณะใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา ซุนยัตเซนได้ทั้งแรงบันดาลใจเรื่องประชาธิปไตย แต่ก็มีประสบการณ์ทางลบเพราะเห็นชนกลุ่มน้อยถูกรังแกและรังเกียจอย่างเปิดเผย

แต่ก็เป็นช่วงจังหวะที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศจีนนั่นแหละที่เขาเขียนแผนการ “3 หลักการ” ว่าด้วยชาตินิยม, ประชาธิปไตยและสวัสดิการประชาชน” เพื่อเป็นพื้นฐานของการปฏิวัติในประเทศจีน

ปี 1911 เขาเยือนสหรัฐ เพื่อระดมทุนให้กับพรรคการเมืองที่ก่อตั้งใหม่

ยังไม่ทันจะเสร็จภารกิจการระดมทุนที่อเมริกา ซุนยัตเซนก็ได้ข่าวการโค่นราชวงศ์ชิงเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 1911

เขาและคณะไปถึงเมืองเดนเวอร์ของสหรัฐวันที่ 12 ตุลาคม จึงตัดสินใจรีบกลับจีนผ่านยุโรปและถึงเซี่ยงไฮ้วันคริสต์มาส (25 ธันวาคม) พอดี

วันที่ 1 มกราคม 1912 ซุนยัตเซนได้รับการแต่งตั้งเป็น “รักษาการประธานาธิบดี” ของสาธารณรัฐจีนที่เพิ่งสถาปนาขึ้นมาใหม่

ปลายปีนั้น สหรัฐมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดย Woodrow Wilson แห่งพรรคเดโมแครตได้ชัยชนะ

แต่นโยบายของสหรัฐต่อจีนช่วงนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะลังเล ถกแถลงกันอย่างหนักหน่วง

ด้านหนึ่งก็ไม่อยากยุ่งเรื่องเอเชีย อีกด้านหนึ่งก็ต้องการจะเผยแพร่หลักคิด “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” ผ่านหมอสอนศาสนาที่ส่งมาทำงานในจีนอย่างต่อเนื่อง

แต่ความเคลื่อนไหวของเขาในเอเชียน่าสนใจเพราะโยงไปถึงอนาคตของจีนในช่วงนั้นในหลายมิติ

ผมเคยอ่าน “การเมืองจีนสยาม” ที่เขียนโดยเออิจิ มูราชิมา แปลโดยอาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ที่มีรายละเอียดที่น่าสนใจว่า

เดือนมิถุนายนของปี 1903 ซุนยัตเซนมาเยือนสยามเป็นครั้งแรก เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างราชวงศ์ชิง

เพราะความอ่อนไหวทางการเมืองขณะนั้น เขาเข้าสยามภายใต้ชื่อปลอมว่า “ตู้เจียนั่ว” และเข้ามาในฐานะเป็นชาวคริสต์

ระหว่างอยู่กรุงเทพฯ เขาพักอยู่ที่ห้องเบอร์ 4 โฮเทล เดอ ลาเปซ์ (Hotel de la Paix) ที่บางรัก ซึ่งมีเจ้าของเป็นฝรั่งเศส

ลงทะเบียนเข้าพักในชื่อ Takano ซึ่งเป็นชื่อของนายแพทย์ Takano Choci ชาวญี่ปุ่นในยุคปฏิรูปเมจิที่เขาเลื่อมใสศรัทธา

เขานัดพบกับแกนนำชาวจีนโพ้นทะเลหลายคนเพื่อขอแรงสนับสนุนก่อการปฏิวัติในเมืองจีน

วันที่ 20 พฤศจิกายน 1908 ซุนยัตเซนเข้าสยามครั้งที่สาม คราวนี้ถึงกับก่อตั้งสมาคมชื่อ “ตั้งเม่งหวย” สาขาสยาม

ไปแสดงปาฐกถาที่ตรอกแห่งหนึ่งที่มีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

ต่อมาตรอกนี้ได้ชื่อว่า “ถนนปาฐกถา”

ปีเดียวกันเขาก่อตั้งหนังสือพิมพ์ “หวาเซียนซินเป้า” โดยมีจุดมุ่งหมายคือการเผยแพร่และชักชวนผู้คนในไทยร่วมในการโค่นราชวงศ์แมนจูเพื่อสถาปนาระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ

บันทึกประวัติศาสตร์อีกแหล่งหนึ่งเล่าว่าคนจีนโพ้นทะเลให้การต้อนรับเขาอย่างอบอุ่น คนเข้าร่วมฟังปาฐกถาหลายร้อยคน ต่างมีอารมณ์ร่วมในการปฏิวัติในจีนอย่างร้อนแรง

ในหนังสือ “เกร็ดชีวประวัติ ดร.ซุนยัตเซน” จัดพิมพ์โดยสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ตอนหนึ่งได้กล่าวว่า

“ดร.ซุนยัตเซนเคยมาเยือนประเทศไทย (สยาม) สามครั้ง ครั้งที่สามคือเมื่อวันที่20 พฤศจิกายน ค.ศ.1908

โดยเดินทางจากสิงคโปร์เข้าร่วมงานต้อนรับของชาวจีนผู้รักชาติที่ชมรม “จงหัวฮุ่ยสั่วกรุงเทพฯ”

มีชาวจีนโพ้นทะเลเข้าร่วมงานหลายร้อยคน

วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์จีนในไทยหลายฉบับลงข่าวนี้ รัฐบาลชิงของจีนและกลุ่มพิทักษ์ฮ่องเต้ประท้วงต่อทางการตำรวจไทย ขอให้เนรเทศ ดร.ซุนยัตเซน

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐยื่นมือช่วยไกล่เกลี่ย ทางการตำรวจจึงอนุญาตให้พำนักต่อในกรุงเทพฯ อีกหลายวัน

ตลอดสิบวันในประเทศไทย ดร.ซุนยัตเซนพำนักในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ และออกบรรยายในย่านชุมชนจีน โจมตีความเหลวแหลกของรัฐบาลแมนจู เรียกร้องให้ช่วยกันสนับสนุนการปฏิวัติ

วันหนึ่ง ดร.ซุนยัตเซนขึ้นปาฐกถาที่โรงงิ้วถนนมังกร ซึ่งมีความกว้างเพียงห้าเมตร ยาวห้าสิบเมตรย่านเยาวราช โดยยืนบนลังไม้อันหนึ่ง ป่าวร้องต่อชาวจีนที่ทำงานในละแวกนั้นให้ช่วยกันต่อต้านรัฐบาลแมนจูฟื้นฟูประเทศจีน เพื่อให้มีการเฉลี่ยกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างเป็นธรรม

ขณะเดียวกันก็ยกตัวอย่างว่าหลายปีนี้ชาวจีนโพ้นทะเลในเอเชียอาคเนย์จำนวนมากสนับสนุนทั้งแรงกายและกำลังทรัพย์ เป็นค่าใช้จ่ายของกองกำลังการปฏิวัติ

จึงเป็นที่มาของคำว่า “จีนโพ้นทะเลเป็นมารดาแห่งการปฏิวัติ” ซึ่งอยู่ในคำปาฐกถาครั้งนี้

กลุ่มคนที่รับฟังอยู่บางคนรู้ว่าท่านคือซุนยัตเซนที่เป็นผู้นำการปฏิวัติและวิ่งเต้นหาการสนับสนุนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข่าวแพร่ออกไปปากต่อปาก ทำให้คนในย่านไชน่าทาวน์เยาวราชได้รับรู้ถึงแนวคิดการปฏิวัติของ ดร.ซุนยัตเซน

มีผลต่อการปลุกระดมของ ดร.ซุนยัตเซนบ้างในเวลาต่อมา”

“วันที่ 10 ตุลาคม 1911 เสียงปืนการปฏิวัติซินไฮ่นัดแรกดังขึ้นที่เมืองอู่ชาง ได้รับการสนับสนุนจากทหารและประชาชนทั่วประเทศ

และแล้วข่าวการล้มรัฐบาลแมนจูก็แพร่มาถึงประเทศไทย

ชาวจีนโพ้นทะเลในกรุงเทพฯ ดีอกดีใจมาก และเพื่อเป็นการรำลึกการโฆษณาชักชวนการปฏิวัติของ ดร.ซุนยัตเซนในกรุงเทพฯ จึงได้ขนานนามตรอกมังกรเป็น “ซอยปาฐกถา” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา…”

ข่าวอีกกระแสหนึ่งในช่วงนั้นบอกว่าขณะที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วงนั้น ซุนยัตเซนเข้าไปพบอัครราชทูตสหรัฐชื่อ “ฮามิลตัน คิง” (Minister Hamilton King) เพื่อจะขอวีซ่าเดินทางไปสหรัฐ

แต่สหรัฐปฏิเสธ

อีกสามปีต่อมาจึงได้เข้าสหรัฐ แต่ก็เกิดการล่มสลายของราชวงศ์ชิงเสียก่อน