บัญญัติ เปิดศักราช 2564 ผ่าดวงการเมือง-ประยุทธ์ ปีแห่งรัฐธรรมนูญ เศรษฐกิจ-โควิดระลอกสอง

การเมืองไทยปี 2564 ผูกดวงไว้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 5-6 เรื่อง

1. การชุมนุมของนักเรียน นิสิต-นักศึกษาและประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร”

2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ความปรองดองสมานฉันท์

3. การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

4. การเลือกตั้งท้องถิ่นเฟสสอง

5. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

และ 6. การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “ระลอกสอง”

“บัญญัติ บรรทัดฐาน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ – ผู้อาวุโสแห่งพรรคเก่าแก่ ผ่าดวงการเมือง-รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เขายกให้ปี 2564 เป็นปีแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“บัญญัติ” มองภาพรวมการเมืองในปี 2564 ว่า “ยุ่งเหยิงไม่ต่างจากปี 2563 หรือร้อนแรงกว่า” โดยมีปัจจัยที่ทำให้การเมืองในสภา-นอกสภาร้อนแรง

ปัจจัยแรก การชุมนุมของ “ม็อบราษฎร” ถึงแม้ผู้ชุมนุมประกาศ “ยุติชั่วคราว” แต่เพื่อ “รอจังหวะ” ส่วนการชุมนุมจะร้อนแรงขนาดไหน ประกอบด้วย 3 ตัวแปร

ตัวแปรที่ 1 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองจะลากยาวไปนานแค่ไหน

ตัวแปรที่ 2 เจ้าของอำนาจรัฐ หรือท่วงทำนองการจัดการความขัดแย้งของรัฐบาล

ตัวแปรที่ 3 คือ อารมณ์ร่วมของสังคมทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและกลุ่มเห็นต่าง

ปัจจัยที่สอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “บัญญัติ” ยกให้การเมืองปี 2564 เป็น “ปีแห่งรัฐธรรมนูญ” เพราะถ้าไม่ผ่านขัดแย้งรุนแรง แต่ถ้าผ่านจะนำไปสู่เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

“ผมอยากเรียกปี 2564 ทั้งปีว่าเป็นปีแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะจะมีความขัดแย้ง มีการโต้แย้งประเด็นเหล่านี้กันทั้งปี สังคมอย่าไปรำคาญ เพราะในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีการถกเถียงและแสดงความเห็นต่างเพื่อไปสู่ข้อยุติที่ดีกว่า”

“บัญญัติ” ยกตัวอย่าง เช่น ถกเถียงกันว่า เนื้อหารัฐธรรมนูญควรจะเป็นอย่างไรถึงจะเป็นหลักประกันการรับรองสิทธิ ถึงจะเป็นการรับรองประโยชน์ของประชาชนได้ดีกว่า ถึงจะเป็นการตรวจสอบ-ถ่วงดุลอำนาจ

“ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านวาระที่สามและไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร.และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. แรงกดดันไม่ได้มีต่อรัฐบาล ไม่ได้มีต่อรัฐสภา แต่จะไปมีต่อ ส.ส.ร.”

ประเด็นหลักของความขัดแย้งอยู่ตรงวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยชัดเจน เนื่องจากรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบได้ต่อเมื่อได้รับเสียงของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง

“ผมคิดว่าเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไทย เพราะที่แล้วมาใช้เสียงข้างมากรวมกันหมดทั้งสองสภา 2 ใน 3 หรือเกินครึ่ง ตามหลักใช้เสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน แต่ครั้งนี้สำคัญคุณต้องได้เสียงข้างน้อยด้วย”

วันนี้ไม่มีใครบอกได้ว่า ในเวลารัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาในวาระสาม จะผ่านหรือไม่ผ่าน ส.ว.เห็นชอบด้วยถึง 82 เสียงหรือไม่ วันนี้ยังมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่อีกด้วย

“บัญญัติ” ฟันธงว่า “ถ้าไม่ผ่าน” ความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วจะรุนแรงขึ้นแน่นอน เพราะไม่เพียงแต่เสียงเรียกร้องของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนฝ่ายข้างมากเท่านั้น แต่จำนวนเสียงเรียกร้องของผู้ชุมนุมข้างนอกก็มีด้วย

ทว่าเขา “ไม่ฟันธง” ว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างไร แต่ให้รัฐบาลคำนึงว่า รัฐธรรมนูญมีความสำคัญส่งผลถึงความเป็น-ความตายของรัฐบาล 4 ประการ

ประการแรก เป็นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ ความเป็นประชาธิปไตยกับไม่ใช่ประชาธิปไตย ทั้งในเรื่องที่มา กระบวนการจัดทำ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้

ประการที่สอง มีการพูดจาในเรื่องการสืบทอดอำนาจ โดยหยิบเอาเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกระบวนการจัดทำมาพูดจากัน

ประการที่สาม การเห็นตรงกันหรือไม่ตรงกันในประเด็นความขัดแย้งของรัฐธรรมนูญจะมีไปยาว (ลากเสียงยาว) เพราะฉะนั้น การให้ความสำคัญกับการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรจะละเลย

ประการที่สี่ เป็นการพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลเอง เพราะกำหนดไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน 1 ใน 12 ข้อ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ออกมาแสดงความสนับสนุนอย่างจริงจังจะถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้นเอง

“การแสดงออกถึงความจริงจังของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นคุณกับรัฐบาลเอง เพราะนอกจากเป็นการลดความขัดแย้งที่มีอยู่ให้ลดน้อยถอยลงแล้ว ยังทำให้รัฐบาลมีเวลาที่จะแก้ปัญหาอื่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน อย่างน้อยก็อีก 1-2 ปี”

“ส่วนความจริงจังของพรรคการเมืองมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงมากว่า พรรคร่วมรัฐบาลจริงใจหรือเปล่า เอ๊ะ ทำท่าจะแก้รัฐธรรมนูญกันแล้ว แต่ทำไมไปลงชื่อตีความกันอีกล่ะ มันไม่เป็นมงคลกับรัฐบาล”

เพราะฉะนั้น อะไรที่กระทบกับความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง อะไรที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งกับบ้านเมืองมากขึ้น เป็นรัฐบาลต้องชอบที่จะระมัดระวัง

“บางทีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ว่าจะไม่มีการปรองดองในชาติบ้านเมืองนี้ แต่อย่างน้อยลดความขัดแย้งลงได้ อาจเรียกว่าเป็นการเริ่มต้นการมีส่วนร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญ ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของการปรองดอง”

ปัจจัยที่สาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประเด็นนี้ไม่อยากมองให้เป็นความขัดแย้งทางการเมือง แต่ต้องมองว่า เป็นการทำหน้าที่ของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล รัฐบาลต้องชี้แจงไป

“ที่เป็นประเด็นร้อนแน่นอนคือ การหยิบประเด็นของความไม่ชอบมาพากล การทุจริต ความบกพร่องของรัฐบาล มาพูดจา มาเปิดโปงในรัฐสภา ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้านตามระบอบประชาธิปไตย”

“รุนแรงแน่ เพราะช่วงหลังๆ ต้องยอมรับความจริงว่า ใครหยิบประเด็นไหนขึ้นมาก็กลายเป็นเรื่องน่าสนใจทั้งนั้น ยิ่งเราใช้ทฤษฎีการตลาดนำการเมืองกันมากขึ้นอย่างทุกวันนี้กันด้วยแล้ว ทุกอย่างก็เป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วดุเดือดเลือดพล่าน”

ปัจจัยที่สี่ การเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากเพิ่งผ่านการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) และสมาชิก อบจ. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นเที่ยวนี้ค่อนข้างจะหนักหน่วงรุนแรง

ประการแรก การเลือกตั้งท้องถิ่นเว้นว่างมานาน 6-7 ปี

และประการที่สอง มีผู้รับสมัครเลือกตั้ง-คนหน้าใหม่ คนหน้าเก่าเองมีการแยกเหล่า แยกพวกกันออกไป การต่อสู้จึงรุนแรงมากขึ้น

“มีการแข่งขัน มีการช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบ มีการขัดแย้งกัน มีการแตกแยกกันบ้าง เป็นเรื่องปกติ แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมามีการใช้วิธีการได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งทั้งนอกแบบ ทั้งในแบบ 108 พันประการ”

เที่ยวหน้า หลังจากนี้ต่อไปจะมีการเลือกตั้งในท้องถิ่นอีก ซึ่งจะมีทั้งนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศมนตรี สภาเทศบาล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สมาชิก อบต. ผู้ว่าฯ กทม. เมืองพัทยา

“คงจะมีการสรุปบทเรียนกันพอสมควร อาจได้รับสูตรสำเร็จ สูตรนี้ดี สูตรนี้ได้ผล สูตรนี้มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ถูกที่ชอบ ทั้งที่ไม่ถูกไม่ชอบ ประเพณีการแข่งขันถ้ารัฐไม่แข็งแรงจริง เจ้าหน้าที่รัฐไม่สอดส่องดูแลจริง หรือมีส่วนเข้าร่วมช่วยเหลือด้วยจะมีการนำรูปแบบนี้มาใช้ ส่งผลให้การเมืองร้อนขึ้นเหมือนกัน ส่งผลถึงการเมืองระดับชาติแน่นอน”

ปัจจัยที่ห้า-ปัจจัยที่หก การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสอง ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพการณ์ทางด้านเศรษฐกิจหรือทางด้านสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเมืองร้อนหรือไม่ร้อนเพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวการณ์ทางด้านเศรษฐกิจเป็นภาวการณ์ที่จะเป็นปัจจัยหลัก พอหันกลับมาดูภาวะเศรษฐกิจเวลานี้ ต้องยอมรับความจริงว่า ขณะนี้เราเห็นภาวการณ์ว่างงานเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เพราะมีการปิดงาน-งดจ้าง-ลดคนงาน

“ถ้ารัฐบาลไม่สามารถประคับประคองสภาวการณ์เช่นนี้ให้อยู่ในสภาพที่ดีได้ ปล่อยให้การว่างงานเพิ่มมากขึ้น ผมคิดว่าต่อไปการชุมนุมเรียกร้องที่มีอยู่ข้างนอก อาจจะไม่เป็นเพียงการชุมนุมเรียกร้องในประเด็นทางการเมืองเท่านั้น แต่จะมีประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ เรื่องความเดือดร้อนของผู้ประกอบอาชีพต่างๆ มาร่วมชุมนุมเรียกร้องด้วย”

ส่วนความแรงของสภาวการณ์เศรษฐกิจที่บีบคั้นทำให้การเมืองร้อนขึ้นจะส่งผลต่ออายุขัยของรัฐบาล-ถึงขั้นเปลี่ยนตัวนายกฯ – เปลี่ยนรัฐบาลหรือไม่? เขาชี้ว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการ

หนึ่ง จะจำกัดความขัดแย้งทางการเมืองไม่ให้มากกว่านี้ได้อย่างไร “เลิกคิดว่าอำนาจจะจัดการได้ทุกอย่าง”

สอง จะประคับประคองสภาวการณ์เศรษฐกิจในวันนี้ไม่ให้เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่อย่างไร จะทำให้ความหวังเศรษฐกิจของเราจะฟื้นตัวได้อย่างน้อยครึ่งหลังของปี 2564 ได้หรือไม่

“อย่างน้อยรัฐบาลต้องประคองเศรษฐกิจและการเมืองให้ผ่านช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพื่อให้ครึ่งปีหลังคลี่คลายให้เป็นไปตามแผนเดิมที่ได้ให้ความมั่นใจกับสังคมไว้ว่าปลายปีจะฟื้นตัว”

“ปี 2564 ทั้งปี นอกจากจะเป็นปีแห่งความร้อนแรงทางการเมืองแล้ว ยังจะเป็นปีของการท้าทายความสามารถของรัฐบาลทั้งสองทางในเวลาเดียวกัน” บัญญัติทิ้งท้ายไว้เป็นบรรทัดฐาน