วางบิล/สนามนักข่าว

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สนามนักข่าว

การเป็นนักข่าว หรือผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ประชาชาติยุคที่ชื่อว่า “รวมประชาชาติ” ของผมขณะนั้น มีผู้อธิบายความเป็นไปให้เห็นชัดเจนจากการให้สัมภาษณ์ของ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ในหนังสือ “ครูนักข่าว” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย “วันนักข่าว 2551”

ชัชรินทร์บอกว่า การเข้ามาทำงานข่าว เกิดจากการสร้างงานเขียนทั้งในรูปแบบกลอน เรื่องสั้น และบทความ ส่งลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ นิตยสาร และหนังสือต่างๆ

กระทั่งมีคนเห็นแววจึงชักชวนมาทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ โดยการก่อตั้งของ ขรรค์ชัย บุนปาน

“ช่วงของการเป็นนักข่าวจริงๆ ของเราเริ่มจากการเป็นนักข่าวบันเทิง… ต่อมาเมื่อทำข่าวบันเทิงได้สักพัก ผู้ใหญ่ในกองบรรณาธิการประชาชาติคิดบุกเบิกทำข่าวสายตำรวจที่ออกไปในแนวทางด้านการเมือง… ตอนนั้น หนังสือพิมพ์ประชาชาติอยากทำข่าวกรมตำรวจ สันติบาล ที่เกี่ยวกับการเมือง เขาจึงหยิบเราจากโต๊ะข่าวบันเทิงไปอยู่ที่กรมตำรวจเป็นคนแรก…”

หลังปิดข่าว (ราวตี 1 หรือตี 2) เรามักไปกินข้าวต้มกันต่อ หรือไม่ก็ดื่มเหล้ากัน ระหว่างดื่มเหล้าก็พูดคุยเรื่องข่าวสาร ทำให้พวกเราที่อยู่กรมตำรวจรู้ว่า พวกที่อยู่ทำเนียบรัฐบาลคิดอะไรกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน…บางทีบรรณาธิการรุ่นใหญ่ๆ เขาก็มีเพื่อนที่เป็นนักวิชาการ เป็นด๊อกเตอร์ มาพูดคุยด้วย เช่น อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เราก็มีโอกาสรับฟังเรื่องราวแปลกๆ ใหม่ๆ…”

“คนที่ทำข่าวยุคก่อนไม่มีสิทธิเลือกสายข่าวหรือโต๊ะข่าว ซึ่งอาจจะต่างจากนักข่าวในปัจจุบัน แต่ยุคก่อนการทำข่าวไม่มีสิทธิเลือก งานเป็นคำสั่ง เหมือนกับทหาร แล้วเรารู้สึกดีด้วยซ้ำ เพราะแท้จริงแล้วงานข่าวเป็นงานที่ต้องใช้วินัยมากกว่าจะใช้ประชาธิปไตย ซึ่งมันค่อนข้างจะมีการรวมศูนย์อยู่ในตัว และเรารู้สึกว่า มันเป็นผลดีที่ทำให้เราเติบโต ทำให้เรานำเอาวิธีนั้นมาใช้ในงานข่าว”

ชัชรินทร์บอกว่า ในยุคนั้นต้องทำได้ทุกอย่าง สมมุติว่าอยู่ที่กรมตำรวจ แต่ถ้าเขาขาดนักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เราก็ต้องไปทำข่าวที่ทำเนียบ ถ้าขาดคนที่กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องไปที่กระทรวงศึกษาธิการ

ส่วนการติดตามประเด็นข่าวในยุคก่อน ที่สำนักพิมพ์เขาจะเล่าพื้นฐานนิดเดียว เราก็ไปต่อได้ เป็นเพราะเราได้รับการฝึกฝน เพราะวิธีการอ่านของนักข่าวดีกว่าการอ่านของนักอ่านทั่วไป อย่างวิธีการสั่งงานทำข่าวของ ไพบูลย์ วงษ์เทศ เขาแค่โยนแฟ้มให้เรา 1 แฟ้ม แล้วไปหาเองในช่วงเวลาก่อนการสัมภาษณ์ไม่กี่ชั่วโมง ด้วยวิธีการนี้ทำให้เกิดการฝึกที่จะอ่านได้เร็ว และหยิบประเด็นได้เร็ว มันก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อย จากแฟ้มหนาๆ นั้น เราก็สามารถรวบและหยิบประเด็นออกมาได้

“ยุคที่เราทำงานที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติช่วงเริ่มต้น มีนักข่าวทั้งหมดประมาณ 10 คน ขณะที่ไทยรัฐอาจจะมีคนมากกว่าประมาณ 5 เท่า แต่หนังสือพิมพ์ประชาชาติยุคนั้น ถือว่ามีอิทธิพลสำหรับคนรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อย และทำงานค่อนข้างหนัก” ชัชรินทร์ว่าอย่างนั้น

“คนรุ่นเก่าๆ อย่างเช่น พี่ป๋อง (พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร) ใช้ได้ทีเดียวในการสร้างระบบ น่าจะเรียกได้ว่า ทันสมัยที่สุดในกลุ่มหนังสือพิมพ์ทั่วไป มีคนอย่าง ไพบูลย์ วงษ์เทศ ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของหัวหน้าข่าวที่เราเคยเจอมาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการคิดประเด็นข่าว การคิดแง่มุมต่างๆ รวมทั้งความขยัน ความเอาจริงเอาจังในการทำงานข่าว เราก็โดนฝึกมา เช่น แต่ละวันได้นอนกันวันละไม่กี่ชั่วโมง อย่างนี้เป็นต้น”

ระหว่างนั้น ผมยังนั่งประจำโต๊ะ ซับ เอดิเตอร์” มีอีกคนหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมเป็นคนข่าวหนังสือพิมพ์ เมื่อหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวันสังกัด เดอะ เนชั่นเริ่มออกเมื่อปี 2517 จึงย้ายมาประจำการที่โต๊ะ ซับ เอดิเตอร์ ที่มีพิทักษ์ ธวัชชัยนันทน์ เป็นหัวหน้า ทำซับหน้า 1

พิทักษ์มักจะเข้างานหลังเที่ยง ทั้งยังพักใกล้กับสำนักงานหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ถึงเวลาทำงาน จะเดินเร็วมาบนห้องกองบรรณาธิการ ในมือมีน้ำอัดลม 1 ขวด พร้อมอาหารส่วนใหญ่เป็นขนมปัง

อีกคนที่ว่าคือ ไพโรจน์ ปรีชา หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าไปเป็นนักข่าวที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ แล้วมาทำหน้าที่ ซับ เอดิเตอร์ที่ประชาชาติต่อเนื่องจนโยกย้ายเป็นหนังสือพิมพ์มติชน เคยไปคุมงานผลิตที่ซินเสียนเยอะเป้า

เมื่อผมเข้าสู่สนามข่าว ต้องโยกย้ายไปทำข่าวที่นั่นที่นี่ ดังที่ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ บอกไว้ ทำให้รู้จักกับนักข่าวรุ่นพี่ แม้จะมีอายุไล่เลี่ยกัน

นับแต่แรกเจอช่างภาพหญิงแห่งเดลินิวส์ ศุภลักษณ์ ตัณฑาภิชาติ ปฏิบัติงานหน้าพระบรมรูปสมเด็จพระจุลจอมเกล้เจ้าอยู่หัว พระบรมรูปทรงม้า ปีนขึ้นปีนลงบันไดสนาม ถ่ายภาพการชุมนุมประท้วงเรื่องอะไรสักเรื่อง ที่ผมไปทำข่าวอยู่ตรงนั้น ยังชื่นชมว่าช่างภาพหญิงคนนี้ทำหน้าที่ราวกับช่างภาพผู้ชายก็ไม่ปาน

เข้าไปทำข่าวในทำเนียบรัฐบาลได้พบกับบรรดาเจ๊ๆ และยังไม่ใช่เจ๊วันนั้น แต่มาเป็นเจ๊ภายหลังหลายคน ตั้งแต่ “เจ๊หยัด” บัญญัติ ทัศนียเวช “เจ๊วิภา” วิภา สุขกิจ ยุวดี ธัญศิริ พร้อมนักข่าวชายรุ่นพี่กับรุ่นเดียวกันอีกหลายคน

นักข่าวทำเนียบรัฐบาลกับนักข่าวรัฐสภาเป็นนักข่าวสายการเมือง ที่อาจหมุนเวียนไปทำข่าวทั้งสองแห่ง แต่บางคนประจำแห่งใดแห่งหนึ่งเพียงแห่งเดียว บางคนมีงานข่าวสายอื่น เช่น สายกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ วันอังคารที่การประชุมคณะรัฐมนตรีก็มาร่วมทำข่าวรัฐมนตรีกระทรวงนั้น ช่วงบ่ายยังกลับไปหาข่าวเพิ่มเติมที่กระทรวงต่อ

ที่ทำเนียบรัฐบาลมักมีข้าราชการผู้ใหญ่มาร่วมประชุมด้วย อาทิ ปลัดกระทรวง อธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด นักข่าวสายการเมืองอาจได้รับมอบหมายให้สัมภาษณ์ข้าราชการผู้ใหญ่

มิฉะนั้น นักข่าวประจำกระทรวงสายนั้นจะมาทำหน้าที่เสียเอง

ส่วนนักข่าวประชาชาติ ที่ต้องไปกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ และอาจต้องมาที่ทำเนียบ อย่างที่ชัชรินทร์บอกไว้ จะได้รับคำสั่งจากหัวหน้าข่าวหน้า 1 ที่หลายครั้งบันทึกไว้ในสมุดสั่งข่าว ให้ตามประเด็นนั้นประเด็นนี้

ข่าวสำคัญในการประชุมคณะรัฐมนตรี หลายครั้งมีวาระจรแทรกเข้าไปเสมอ และทั้งที่มีการแถลงข่าวผลการประชุมหลังจากนั้น แต่หลายเรื่องไม่มีการแถลงผลการประชุม

ดังนั้น นักข่าวสายการเมืองต้อง “เจาะข่าว” จากรัฐมนตรี หรือข้าราชการผู้ใหญ่หลังเสร็จการประชุม ทำให้นักข่าวสายการเมืองได้เดี่ยวพิเศษ

รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นจึงมีประเด็นข่าวเดี่ยวสดใหม่กว่าใคร