เกมชีวิตสรัยกำนัลและนางรำแห่งวังหลวง

ความตอนท้ายหมวดเล่าเรื่องว่าด้วยสรัยกำนัลอันเกี่ยวข้องการเมืองและการมุ้งที่ยุ่งเหยิงและชีวิตภัยพิบัติของพวกเธอ

พอมาถึงยุคเขมร 4G ในสังคมวิถีที่เปิดกว้างกว่าเดิมและทันสมัย ในปัจจุบัน ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีฉากชีวิตก้าวหน้ากว่าดารานางรำและนักแสดงยุคทศวรรษแรกของ ฮุน เซน ที่อำนาจบองทมดูจะมีอิทธิพลอย่างกว้างขวาง

วิถีสังคมสมัยใหม่นั่นเอง ที่เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในแสดงออกอย่างอิสระ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อสาธารณชน เช่น อาชีพเน็ตไอดอล ซึ่งน่าสนใจว่า เด็กสาวบางคนมีอายุเพียง 20 ต้นๆ เช่นเน็ตไอดอลขวัญใจคอการเมืองพรรคฝ่ายค้านอย่าง ธี โสวันธา ซึ่งมีชื่อเสียงเพียงข้ามคืนจาก 3 ปีก่อนซึ่งเธอป่าวประกาศให้ สมเด็จฮุน เซน ลงเสียจากตำแหน่ง

ธี โสวันธา ได้รับความชื่นชมอย่างท่วมท้นจากผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล จนเกือบจะกล่าวเธอเป็นยิ่งกว่าตัวแทนของพรรคสงเคราะห์ชาติ หากแต่เมื่อ ธี โสวันธา เลือกที่จะฟ้องร้องเอาผิดต่อ กึม สกขา กรณีที่เขามีสรัยกำนัลกับนางสาวคุ้ม จันดาราตี หรือ สรัย มอม และมีเธอถูกลากไปเกี่ยวข้องนั้น

สองสตรีได้กลายเป็นสรัยแพศยาไปในทันทีกับสิ่งที่พวกเธอเลือกจะเรียกร้องสิทธิของตน จากนักการเมืองบางคนที่ตกอยู่ในนิยมสังคมเก่านั่นคือ มีเมียเก็บสรัยกำนัล

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสังคมและถูกตรวจสอบหาความจริง ในที่สุด สรัย มอม ซึ่งมีอาชีพเสริมสวย ก็หายตัวตนไปจากโซเชียลและสาธารณชนอย่างฉับพลัน

ดูเหมือนพวกเธอจะถูกกล่าวหาว่าเป็นนางตกจากโลกโซเชียล และการขุดคุ้ยต่างๆ ก็พรั่งพรูจากจุดนี้

ขณะที่ ธี โสวันธา กลายเป็น “นังคนราคาถูก” จากโลกออนไลน์ จากเน็ตไอดอลที่เคยมียอดวิวกว่าครึ่งล้าน เด็กสาววัย 20 ปีคนงามถูกคนเขมรมากมายทั่วมุมโลกเข้ามาถล่มชนิดที่บองทมคนไหนก็ปกป้องเธอไม่ได้

เมื่อเธอได้กลายเป็นนางสปายสายลับของ สมเด็จฮุน เซน ไปแล้ว

ชีวิตที่น่าพิศวงงงงันแบบนั้นเอง ที่เกิดขึ้นกับเด็กสาวกัมปูเจียคนนี้ แบบที่เชื่อว่า มีผลประโยชน์ มีบองทมหนุนหลังให้ก่อการ (ทำ) ร้ายพรรคสงเคราะห์ชาติ ซึ่งเธอฝังตัวเข้าเป็นหนอนบ่อนไส้มาร่วม 3 ปี

ต่อภารกิจ “ล้วง (กิน) ตับ (หัวหน้า) พรรคฝ่ายค้าน” โดยมีองค์กรของบองทมหนึ่งคอยหนุนหลังในเกมที่มีชื่อว่า “Let Girls Learn” ที่พวกเธอเต็มใจเล่น

หากโชคดี ในที่นี้ บางนางในที่นี้ ไม่ว่าสรัยกำนัล สปายหรือสายลับ พวกเธอจะ…ได้ไปต่อ

แต่หากเกมจบลงก่อนกลางครัน

ก็แล้วแต่บองทมจะบงการ!

เรื่องพิสดารทำนองปล่อยเด็กผู้หญิงไปเรียนรู้ : Let Girls Learn นี้ ช่างดูจะคล้ายกับชีวิตนางรำแห่งวังหลวง

ย้อนไปอ่านนวนิยายเรื่องแรกของกัมพูชาที่เขียนโดย โรลองด์ ธีโอดอร์ อีมิล เมเยร์ (1889-ไม่ปรากฏ) ซึ่งเกิดและศึกษาในมอสโก และกลับมาทำงานในเบื้องต้นในปารีส ก่อนจะสมัครรับราชการยังโพ้นทะเลที่อินโดจีน

สนใจภาษาและวิถีท้องถิ่นกัมพูชา จนสามารถแต่งตำราภาษาเขมร จนถึงกับตั้งชื่อตนเองเป็นภาษาเขมรว่า “พ่อหนุ่ม” หรือนาย/กมเลาะ

โรลองด์ เมเยร์ นำเรื่องสัมพันธ์ลับๆ ในหมู่สนมนางรำ/ระบำในรั้ววังมาแต่งเป็นนวนิยายในชื่อ “สารามณี : นาฏการกัมพูชา” ตีพิมพ์ที่เมืองไซ่ง่อน (2462)

เกือบ 100 ปีแล้วที่บทประพันธ์เรื่องนี้อยู่ในโลกวรรณกรรม แต่สำหรับกัมพูชาแล้ว ผลงานชิ้นนี้กลับไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาร่วมครึ่งศตวรรษ อีกนั้น สมัยที่เจ้าของบทประพันธ์ยังมีชีวิต เขายังถูกจำพรากจากกัมพูชา โดยคำสั่งย้ายของทางการให้ไปทำงานในมณฑลลาว

“ที่เป็นเช่นนั้น อาจมาจากเหตุผลด้านสวัสดิภาพของเขา หรือมาจากที่ผู้ประพันธ์เองเกิดไปมีความสัมพันธ์กับนางรำคนหนึ่งเสียเอง”

ไม่มีใครทราบว่าเรื่องจริงนั้นเป็นอย่างไร แต่ประวัติศาสตร์วิทูเขมรบางท่านกล่าวว่า เมื่อโยงกับเหตุการณ์บางตอนของประวัติศาสตร์แล้ว น่าจะมีเรื่องจริงมากกว่าเรื่องแต่ง (นวน สกบาน#https://youtu.be/z1gbtt2L5Hs)

ส่วนฉันนั้น วิเคราะห์ว่า ที่กมเลาะเมเยร์ ไม่อาจเผชิญหน้าใครในเขมรได้นั้น ไม่ใช่แต่เรื่องรักๆ ในวังหลวงเท่านั้นที่เขาเอาไปแฉ

แต่ยังมีเทศาภิบาลบางรังบางคน ที่ซุกซ่อนสรัยกำนัลหรือภรรยาลับ ซึ่งมีทั้งหญิงอันนัม และบางสรัยกำนัลนั้น เธอคือนางต้องห้ามของวังหลวง ดังที่กรณีปัญหาพระองค์เจ้ายุคนธอร์ (2403-2477) กับอัครเทศาภิบาลฝรั่งเศส ก็มีสาเหตุจากเรื่องนี้

และโดยในการทำผิดประเพณีที่เคร่งครัดเช่นนี้เอง ที่ทำให้มีนางระบำบางคนต้องถูกโบยอย่างทารุณที่เกิดจากความผิดจริง และบ้างก็ถูกใส่ร้ายด้วยความริษยา และบ้าง ที่การโบยตีโหดร้ายเยี่ยงนี้มีที่มาจากข้อกล่าวหาที่ว่า

เนียงเธอมีชู้รักกับชายอื่น

ชีวิตลับนางรำ “สารามณี” คือเรื่องเล่าของเด็กสาวบ้านนอกที่ถูกนำตัวฝึกหัดป็นนางรำ ตั้งแต่อายุสิบสี่ เธอมีชื่อว่านังแยม ซึ่งตั้งขึ้นมาในวันที่เข้าวังนั่นเอง ก่อนที่เรื่องราวนางระบำละครวังหลวงคนนี้จะถูกนำมาเปิดเผยให้รับรู้ ซึ่งตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทนโรดม (2377-2447) บุคคลที่แยมเรียกว่า “หลวง”

และบุคคลซึ่งตอนแรกแยมเรียกพระองค์ว่า “อุปราช” แต่ต่อมาเรียกว่า “หลวง” เจ้าองค์ใหม่ ซึ่งหมายถึงพระบาทสีโสวัต (2383-2470) เธอจึงมีศักดิ์เป็นนางรำแห่งพระราชตร็อบ (พระราชทรัพย์) อันหมายถึงวังหลวง

แต่เหตุที่นำ “สารามณี” มาเล่าวันนี้ ก็เพราะอาจมีความสัมพันธ์อันเกาะเกี่ยวต่อประวัติละครเขมรและสยามร่วมกัน

ดังหลักฐานตอนหนึ่งที่แยม-เด็กหญิงนางรำบ้านนอกผู้มีพรสวรรค์ผู้นี้ มีครูระบำละครอย่างน้อย 3 คนที่เป็นเซียม ดังที่แยมเรียกครูของตนว่า “คุณๆ” ผู้ที่เคี่ยวกรำเธออย่างเข้มงวด ไม่เพียงเท่านั้น ในผู้ดูแลละครคณะหนึ่งของวังหลวง ดูจะเป็นชนชาติเซียมเสียทั้งคณะ

อีกเป็นที่ทราบกันว่า “หลวง” เจ้าเหนือหัว (ซึ่งคาดว่าคือพระบาทนโรดม) นั้น ทรงโปรดนัก ที่จะตรัสกับนางระบำละครด้วยภาษาเซียม/ไทย อีกแยมนั้น ไม่สามารถจะพูดภาษาไทยได้แม้แต่คำเดียว เธอจึงทั้งกลัวทั้งภัยเกรงว่าจะถูกเกณฑ์ไปเข้าเฝ้า ถึงกับรำพันว่า “ฉันพูดเซียมไม่ได้”

คลายความฉงนให้ฉันลงไปไม่น้อย เนื่องจากที่ผ่านมา ความพยายามถอดรหัสบทมโหรีขะแมร์ซึ่งมีเนื้อร้องและทำนองพ้องกับเพลงไทยเดิม เช่น “เต่ากินผักบุ้ง” (อันเดกซีตากวน) เพลงเจ้าดอก, ชมโฉม ซึ่งไพเราะเพราะพริ้งแต่ก็ฟังยาก (พิเราะนะ แต่พิบากยล) กล่าวคือ มีทำนองเสียงสูงแบบเขมรแต่ก็ปะปนด้วยคำไทยอยู่มาก

พอได้ฟังบทสัมภาษณ์ไท นรสัทยา นายโฆษกกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปะของกัมพูชา ถึงกรณีเมื่อเร็วๆ นี้ กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยจะยื่นขึ้นทะเบียนละครโขนต่อยูเนสโกว่า “เป็นเรื่องศิลปะที่ไม่ได้มีแต่กัมพูชาเท่านั้น แต่ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งประเทศในภูมิภาคนี้ ต่างก็แลกเปลี่ยนศาสตร์ศิลปะอันมีอิทธิพลต่อกัน” (http:// km.rfi.fr/cambodia/daily-guest-tha-narak-satya-05-06-2016)

กึ่งๆ จะยอมรับกลายๆ ในอิทธิพลของสยามประมาณหนึ่ง

แต่ฉบับละครพระราชตร็อบกัมปูเจียนั้นยังมีเรื่องพิสดารอื่นๆ ซึ่งที่น่าสนใจพอๆ กัน นั่นก็คือ กรณีหม่อมเจ้าฉวีวาดผู้เป็นท่านหญิงป้าของคุณชาย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และเป็นตัวละครหลักในหนังสือชื่อ “โครงกระดูกในตู้” ของคุณชายนั้น ช่วงชีวิตตอนหนึ่งของท่านเคยหนี (ราช) ภัยจากเมืองไทยไปเขมร และไปพึ่งบารมีอดีตพระยุพราชซึ่งบัดนี้เป็นเจ้าแผ่นดินที่นั่น

คือพระบาทนโรดมผู้ซึ่งเมื่อทรงพระเยาว์ เคยประทับในพระราชฐาน และสันนิษฐานว่า น่าจะเคยรู้จักกับหม่อมเจ้าฉวีวาดมาบ้าง และจากเรื่องเล่า “โครงกระดูก” ของคุณชายคึกฤทธิ์ นั้นทำให้ทราบว่า ท่านหญิงป้าของคุณชายมีความเกี่ยวข้อง เป็นถึงเนียะมะเนียง/คุณสนมวังเขมรินทร์ ด้วยว่า

“ข้อความดังกล่าวฉายภาพหม่อมเจ้าฉวีวาดตัวจริงที่ต่างจากเรื่อง “โครงกระดูกในตู้” ที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์กล่าวว่ามีสมเด็จพระนโรดมเป็นลุงเขย…” (หม่อมเจ้าฉวีวาด : ข้อเท็จจริงจากการชันสูตร, ประวัติศาสตร์มีชีวิต, หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน : สกุลไทย, ฉ.3215, น.49)

แม้ข้อพิสูจน์การดองญาติกับเจ้านายทางเขมรฝั่งเขมรจะเป็นเรื่องเหมือนจะโอละพ่อ ตามหลักฐานจดหมายจากพระองค์เจ้าหญิงมาลิกา พระธิดาในพระบาทนโรดม ทรงมีมาถวายเจ้านายฝ่ายไทยคือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็พอทำให้ทราบว่า นอกจากพระบาทนโรดมแล้ว พระธิดาในพระองค์ก็ทรงเชี่ยวชาญภาษาไทยนัก

และน่าจะตรงกับเนื้อหาในสารามณีที่นางเอกนางแยมมีครูรำไทยสอนรำถึง 3 คน

กระนั้นก็ไม่พบว่า หนังสือของพระองค์เจ้ามาลิกา จะเอ่ยถึงคณะละครชาววังที่ไปกับท่านหญิงฉวีวาดคราวลงเรือหนีไปเขมร ดังที่โครงกระดูกในตู้อ้างไว้แต่อย่างใด (สกุลไทย, อ้างแล้ว)

เสียดายแต่หลักฐานบันทึกชีวิตในวังของทางกัมพูชาเองก็ดูจะมิได้เปิดเผย เรื่องพิสดารของนางสารมณี (ที่อาจเกี่ยวข้องกับชาวนางวังแห่งบางกอกด้านคณะละคร) จึงดูจะจบลงแต่ตรงเป็นเพียงเรื่องเล่าประโลมโลกย์ ที่ฉายภาพอิทธิพลของพวกสยามในพระราชวังเขมรและสรัยกำนัลของวังหลวงเขมร ประมาณหนึ่ง

อย่างไรก็ต้องชื่อชมพ่อกมเลาะโรลองด์ มาเยร์ และชีวิตพิสดารของท่านหญิงฉวีวาด

อภิญญา ตะวันออก