คุยกับทูต เฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา ไทย-สวิส สัมพันธ์ใกล้ชิด เป็นมิตรครบรอบ 90 ปี (1) / ชนัดดา ชินะโยธิน (ฉบับประจำวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ฉบับที่ 2109)

รายงานพิเศษ
ชนัดดา ชินะโยธิน
[email protected]

คุยกับทูต เฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา

ไทย-สวิส สัมพันธ์ใกล้ชิด เป็นมิตรครบรอบ 90 ปี (1)

ในหลวง-พระราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ท่านทูตสวิตเซอร์แลนด์ ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง   

 

เพลินจิตนั้นถือว่าเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญมากแห่งหนึ่ง
นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตของประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย

หนึ่งในจำนวนนี้คือ สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์

นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา (H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda) เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย เปิดทำเนียบอันร่มรื่นบริเวณซึ่งอยู่ในที่เดียวกับสถานเอกอัครราชทูต ณ ถนนวิทยุเหนือ เพื่อสนทนาถึงความเป็นมาและบทบาทหน้าที่กับเรา

“การเข้ามาสู่แวดวงระหว่างประเทศของดิฉันนั้นถือว่าเป็นความบังเอิญ เนื่องจากไม่ได้มีการวางแผนมาก่อนว่าจะมาทำงานให้กับหน่วยงานของรัฐ เพราะเติบโตในเมืองซูริก (Zürich) ซึ่งถือว่าเป็นเมืองธุรกิจในในหลวง-พระราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ทูตสวิส ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง หากแต่ดิฉันใฝ่ฝันที่จะมีอาชีพเกี่ยวกับงานระหว่างประเทศเป็นหลัก เพราะความรักในการท่องเที่ยว สนใจในภาษาต่างประเทศ และต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชาวสวิสหลายๆ คน”

“ขณะกำลังฝึกงานอยู่ที่เจนีวา วันหนึ่ง ได้ไปเห็นโฆษณาของกระทรวงต่างประเทศ และงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า คุณอยากไปทำงานที่ต่างประเทศไหม ก็คิดในใจว่า นั่นคือสิ่งที่ดิฉันต้องการ จึงไปสมัคร และได้รับการตอบรับในตำแหน่งจูเนียร์”

นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทิเอดา

“อย่างไรก็ตาม ดิฉันคิดแต่เพียงว่าจะลองทำงานนี้ดูก่อนสักสองสามปีเพื่อจะได้มีโอกาสเดินทางไปในที่ต่างๆ เพราะตอนนั้นไม่ได้มีความรู้ในรายละเอียด ว่างานเกี่ยวกับการต่างประเทศคืออะไรกันแน่ รู้แต่ว่าเป็นกระทรวงต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ดิฉันบอกว่า นี่เป็นเรื่องของความบังเอิญมากกว่า และอีกอย่างคือ ดิฉันเรียนจบปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ ซึ่งปกติแล้วจะนำไปสู่การทำงานกับภาคเอกชนเสียมากกว่างานด้านการทูต”

“มาวันนี้ ดิฉันเป็นเอกอัครราชทูตหญิงคนที่สองของสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ดิฉันก็ได้เป็นเอกอัครราชทูตหญิงคนแรกของสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศแอฟริกาใต้เป็นเวลาสี่ปี และขณะเดียวกันก็เป็นผู้แทนของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในบอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มอริเชียส และนามิเบีย รวมทั้งดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษของสวิตเซอร์แลนด์ ของกลุ่มประชาคมเพื่อการพัฒนาแห่งภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ (SADC) ด้วย”

“ดิฉันเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ปี ค.ศ.2019 โดยเริ่มต้นภารกิจในขณะที่บ้านเมืองยังอยู่ในสภาวะปกติ จนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม ของปีที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มแปรเปลี่ยน และสถานทูตของเราก็ได้ปรับเข้าสู่การบริหารจัดการในสภาวะวิกฤตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงถือว่าเป็นการเริ่มภารกิจทางการทูตที่ไม่ค่อยปกติเท่าไรนัก” ว่าแล้วท่านทูตก็หัวเราะ

“จริงๆ แล้ว ครอบครัวของดิฉันทุกคนล้วนเป็นชาวสวิส ที่อาศัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนดิฉันนั้นเปรียบเสมือนนกที่แปลกประหลาดกว่าเพื่อน เพราะแม้ว่าครอบครัวจะชอบเดินทางเพื่อพักผ่อนและอื่นๆ แต่ทุกคนก็ยังอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์”

ทิวทรรศน์ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

“ในปี 1997 ดิฉันได้แต่งงานกับสามีซึ่งเกิดที่เปรู เติบโตที่เมืองลิมา จึงพูดได้ว่าครึ่งหนึ่งของครอบครัวดิฉันอยู่ที่ประเทศเปรู”

“ในเรื่องของภาษา เราพูดภาษาสเปนกันที่บ้าน ภาษาแม่ของดิฉันคือ สวิส-เยอรมัน ดิฉันสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษได้คล่อง และยังสามารถใช้ภาษาอิตาเลียน ซึ่งเป็นหนึ่งในภาษาราชการของสวิตเซอร์แลนด์ได้ดีอีกด้วย ถึงแม้ว่าดิฉันจะเข้าใจหลายภาษา แต่เวลาพูด ดิฉันมักจะเผลอนำภาษาสเปนไปปนกับภาษาอื่นด้วย”

“ดิฉันเกิดที่เมืองซูริก เติบโตที่นั่น แต่ตอนนี้อาศัยอยู่ในรัฐลูเซิร์น (Canton of Lucerne) อยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ ใกล้ทะเลสาบซึ่งห่างจากตัวเมืองลูเซิร์นประมาณ 15 นาที ที่สวิตเซอร์แลนด์สถานที่ตั้งรกรากของครอบครัวนั้นมีความสำคัญพอๆ กับสถานที่เกิด บรรพบุรุษของดิฉันมาจากรัฐลูเซิร์น ดังนั้น ตอนที่เราย้ายมาอยู่ที่ลูเซิร์น มันทำให้รู้สึกเหมือนได้กลับมาอยู่ใกล้ชิดกับแหล่งกำเนิด”

รัฐลูเซิร์นเป็นรัฐในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับสมญานามว่า หลังคาแห่งทวีปยุโรป (The Roof of Europe) เพราะนอกจากจะมีเทือกเขาสูงเสียดฟ้าอย่างเทือกเขาแอลป์แล้ว ยังมีภูเขาใหญ่น้อยสลับกับป่าไม้ที่แทรกตัวอยู่ตามเนินเขา และไหล่เขา สลับแซมด้วยดงดอกไม้ป่าและทุ่งหญ้าอันเขียวชอุ่ม

รัฐนี้มีเมืองศูนย์กลางอยู่ที่นครลูเซิร์นซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของรัฐโดยอยู่ติดกับทะเลสาบลูเซิร์น ทางใต้ของรัฐลูเซิร์นยังเป็นที่ตั้งของเขตสงวนชีวมณฑลเอนต์เลอบูค (Entlebuch Biosphere) แห่งที่สองขององค์การยูเนสโกในสวิตเซอร์แลนด์รองจากอุทยานแห่งชาติสวิส เมื่อเดือนกันยายน 2001

“สวิตเซอร์แลนด์และไทยมีความสัมพันธ์ที่ยืนยาว และเป็นความสัมพันธ์ที่ฝังรากลึก โดยเริ่มจากเมื่อตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพำนักอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ จากนั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราก็พัฒนาเรื่อยมา และในปีนี้ 2021 เรากำลังจะฉลองครบรอบ 90 ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราทั้งสอง”

“แน่นอนว่า สวิตเซอร์แลนด์มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เพราะพระองค์ทรงใช้เวลาหลายปีที่สวิตเซอร์แลนด์ เช่นเดียวกันกับสมาชิกราชวงศ์อีกหลายพระองค์”
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสวิตเซอร์แลนด์เริ่มต้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป โดยได้เสด็จประพาสสวิตเซอร์แลนด์ทั้งสองครั้งในปี 1897 (พ.ศ.2440) และปี 1907 (พ.ศ.2450)

ต่อมาทั้งสองประเทศได้ลงนามย่อ ในสนธิสัญญาไมตรีและการค้าระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 1931 (พ.ศ.2474) ณ กรุงโตเกียว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองประเทศจึงได้ถือให้วันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน
ทั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิสในเดือนธันวาคม 1931 (พ.ศ.2474)

ภาพธงไทยบนยอดเขา Matterhorn

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีพัฒนาการที่ราบรื่นและใกล้ชิดเป็นพิเศษมาตลอด สืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาและเจริญพระชนม์ที่สมาพันธรัฐสวิส อีกทั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยประทับที่สมาพันธรัฐสวิสเป็นเวลานาน

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ เยือนสมาพันธรัฐสวิสอย่างเป็นทางการในปี 1960 (พ.ศ.2503) อีกทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จฯ เยือนสมาพันธรัฐสวิสในหลายโอกาส

“กิจกรรมสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปีนี้คือ การเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 90 ปี เราได้เตรียมงานล่วงหน้าไว้ในระดับหนึ่งแล้ว และจะแจ้งถึงรายละเอียดกิจกรรมของงานได้ในอีกไม่นานนี้”
“สำหรับสวิตเซอร์แลนด์ เราให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับการทำงานร่วมกัน ดังนั้น สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์จึงไม่ได้เป็นเจ้าภาพแต่เพียงผู้เดียว”

“เรามีชุมชนสวิสในกรุงเทพฯ (Swiss Society Bangkok) ซึ่งกำลังจะฉลองครบรอบ 90 ปีของการก่อตั้ง และสมาคมนักเรียนเก่าสวิส (Swiss Students Alumni Association-Thailand) ซึ่งจะจัดทำกิจกรรมอย่างที่เคยทำมาทุกปี ดังนั้น เราก็จะมีกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปีเกิดขึ้นอย่างมากมายในปีนี้”

Swiss Society Bangkok ก่อตั้งขึ้นในปี 1931 (พ.ศ.2474) เป็นชุมชนที่ไม่หวังผลกำไรทางการเมืองของชาวสวิสและเพื่อนชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย วัตถุประสงค์คือ เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและสายสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาวสวิสและกับเพื่อนชาวไทยในสวิตเซอร์แลนด์ Swiss Society จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างชุมชนสวิสในท้องถิ่นและสถานทูตสวิส และ/หรือองค์กรในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของชาวสวิสที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนงานของโรงเรียนสวิส และช่วยในการจัดงานเฉลิมฉลองวันชาติ

สำหรับสมาคมนักเรียนเก่าสวิสในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ฉลอง 72 ปีของการก่อตั้งสมาคมเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

“วันที่สำคัญคือวันที่ 28 พฤษภาคม อันเป็นวันที่มีการลงนามข้อตกลงมิตรภาพและการค้า (Friendship and Trade Agreement) ผ่านกระบวนการให้สัตยาบันที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปีเดียวกัน ตัวแทนของทั้งสองประเทศก็ได้พบกันอีกครั้งที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนธันวาคม 1931 เพื่อแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารสนธิสัญญาระหว่างประเทศ นั่นคือเหตุผลที่เราจะมีการจัดงานฉลองครบรอบวันสำคัญๆ ตลอดทั้งปีนี้”

“แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ตระหนักถึงความจำเป็นในการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด เราจึงยังไม่เริ่มจัดงานใดๆ ในตอนนี้”

สเก็ตน้ำแข็งในเทศกาลคริสต์มาส

อนึ่ง เมื่อปี 1997 (พ.ศ.2540) ในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการเสด็จประพาสสมาพันธรัฐสวิสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น และกระทรวงต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิสได้ร่วมกันจัดทำบัตรโทรศัพท์และดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก

รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือ “ร้อยปีสยาม-สวิตเซอร์แลนด์” (Siam-Swiss Centenary : The Growth of a Friendship) เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว

ต่อมาปี 2006 (พ.ศ.2549) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ร่วมงานฉลองครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ซึ่งจัดโดยกระทรวงต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย

อีกทั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย และการไปรษณีย์สมาพันธรัฐสวิส ยังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์บัตรภาพตราไปรษณียากรด้วย

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ได้จัดสร้างศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ ณ สวนสาธารณะ  เดอน็องตู (Denantou) เมืองโลซานน์ เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และการครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทรงเป็นประธานพิธีเปิดและมอบศาลาไทยดังกล่าวให้แก่เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ปี 2009 (พ.ศ.2552)

“ดิฉันเคยมาเยือนประเทศไทยตอนที่มาปฏิบัติหน้าที่สั้นๆ หลายครั้งก่อนหน้านี้ ประสบการณ์ที่ได้ในฐานะคนมาเยือนระยะสั้นนั้นต่างจากตอนนี้มาก ในสมัยนั้นดิฉันจะพักที่โรงแรมสองหรือสามคืน ซึ่งจะได้เห็นภูมิทัศน์จากระเบียงดาดฟ้า หรือจากห้องประชุม มองเห็นการจราจรที่แออัด หรือแผงขายอาหารตามท้องถนน เป็นต้น”

“แต่มีครั้งหนึ่งที่ได้มีเวลาอยู่ที่นี่นานขึ้นอีกหน่อย จึงทำให้มีโอกาสได้เข้าไปชมพระบรมมหาราชวัง และพระนอนที่วัด แม้กระทั่งได้ไปเดินตามท้องตลาด”

“ตั้งแต่ที่ได้เริ่มมาปฏิบัติหน้าที่ระยะสั้นในตอนนั้น ดิฉันก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในด้านบวกมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ที่ถนนสุขุมวิท มีรถไฟฟ้าบีทีเอส เมื่อดิฉันมาที่นี่ครั้งแรกๆ รถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่งเปิดตัว และมีคนพูดกับดิฉันว่า จะไม่มีใครใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส เพราะมันแพงเกินไป”

“แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า ใครๆ ก็ใช้กัน”