E-DUANG : กระแส “ไม่เลือกตั้ง” กลายเป็น “แนวโน้ม”

 

ทั้งๆที่ 4 คำถามอันมาจากรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนา อย่างยั่งยืน” เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม

แวดล้อมอยู่กับคำว่า “เลือกตั้ง”

แล้วเหตุใดความรู้สึกที่ “อวล” อยู่ภายในสังคมไทยจึง “ตระหลบ” ด้วยความเชื่อมั่นที่มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า

อาจจะต้อง “เลื่อน” โรดแมป

ความหมายก็หมายความว่า อาจไม่มี “การเลือกตั้ง” ในปี 2561 ตามที่พูดๆกัน

ทั้งมิได้หมายความว่าเป็นปี 2562 ด้วยซ้ำ

ความหมายยิ่งหมายความเด่นชัดยิ่งขึ้นว่า รัฐบาลชุดนี้จะเป็นรัฐบาลไปเรื่อยๆ

ความรู้สึก” อย่างนี้ “น่ากลัว”

 

ความน่ากลัวมิได้หมายความว่า มีแนวโน้มและความเป็นไปได้ที่จะเดินหน้าไปตามความรู้สึกและความเชื่อเช่นนั้น

หากแต่อยู่ที่ “ความคิด” 2 ความคิด

ความคิด 1 เป็นความคิดจากฝ่ายของ “กองเชียร์” คสช. ไม่ต้องการ “การเลือกตั้ง” และภาวนาให้คสช.ดำรงคงอยู่ในอำนาจต่อไปตามแผน

“ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อันกระหึ่มก่อน “รัฐประหาร”

ความคิด 1 เป็นความคิดที่บังเกิดอาการปลงตกและปล่อยวางทางการเมือง

นั่นก็คือ “ได้หมดถ้าสดชื่น”

คำว่า “สดชื่น” ในที่นี้ความหมายจึงหมายความถึงความสดชื่นของ “คสช.”

เท่ากับโยน “ความรับผิดชอบ” ให้คสช.เบ็ดเสร็จ

 

หากดูจาก “ท่าที” ของคสช.ก็โน้มเอียงไปกับเสียงเชียร์อันดังมาจากพวกเดียวกัน

เพียงแต่รอ “ผล” อันมาจาก “ศูนย์ดำรงธรรม” เท่านั้น

ผลที่ศูนย์ดำรงธรรมประมวลและรวบรวมนำเสนอนั่นแหละ คือ ฐานสนับสนุน

มิใช่มีแต่เพียง “พระจากบางวัด” มิใช่พวก “ไอ้ห้อยไอ้โหน”

กระนั้น ปมเงื่อน 1 ซึ่งอาจเป็นคุณหรืออาจจะหนักหนาสาหัสก็คือ ความรับผิดชอบเป็นของ “คสช.” เน็ต-เน็ต

หากดีก็พุ่งเป็นจรวด แต่หากไม่ดีก็ยากจะบรรยาย