สุจิตต์ วงษ์เทศ : ‘เจ้าพ่อ’ กับ ‘ลูกน้อง’ การปกครองสมัยเริ่มแรก

คนหลากหลายเผ่าพันธุ์ "ร้อยพ่อพันแม่" ราว 1,500 ปีมาแล้ว หรือหลัง พ.ศ.1000 (ซ้าย) ชิ้นส่วนประติมากรรมปูนปั้นรูปบุคคลมีหน้าตาต่างๆ กัน พบที่โบราณสถานในวัดพระประโทณเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม (จากหนังสือ ทวารวดี ต้นประวัติศาสตร์ไทย โดย ดร.ธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545 หน้า 45) (ขวา) คนพื้นเมืองดั้งเดิมชาติพันธุ์ต่างๆ แถบลุ่มน้ำโขง (ภาพจากหนังสือ A Pictorial Journey on the old Mekong, Cambodia, Laos and Yunnan by Louis Delaporte and Francis Garnier)

‘เจ้าพ่อ’ กับ ‘ลูกน้อง’
การปกครองสมัยเริ่มแรก

หัวหน้าเผ่าพันธุ์พื้นเมืองในอุษาคเนย์ (ซึ่งมีไทยอยู่ด้วย) ภายหลังเลือกรับวัฒนธรรมอินเดียจึงได้รับยกย่องเป็น “ราชา” หรือ “กษัตริย์” ตามประเพณีพิธีกรรมในวัฒนธรรมอินเดีย

การปกครองของหัวหน้าเผ่าพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม มีลักษณะความสัมพันธ์แบบที่เรียกสมัยหลังๆ ว่า “เจ้าพ่อ” กับ “ลูกน้อง” หากมีการแข็งข้อต้องกำราบปราบปรามจนถึงขั้นกวาดล้างเทครัวไปเป็นข้าไพร่ ครั้งหลังรับวัฒนธรรมอินเดียได้รับยกย่องเป็น “ราชา” หรือ “กษัตริย์” ลักษณะความสัมพันธ์แบบ “เจ้าพ่อ” กับ “ลูกน้อง” ยังสืบเนื่องต่อมาอีกนาน มีตัวอย่างประวัติศาสตร์รัฐจารีตของอินโดนีเซีย ดังนี้

“กษัตริย์มีลักษณะแบบเจ้าพ่อที่ให้การอุปถัมภ์ลูกน้องนักเลงหรือบรรดาเจ้าเมืองตามหัวเมือง ที่ตราบใดยังคงค้อมหัวเก็บส่วยส่งหัวคิวให้ เจ้าพ่อที่ศูนย์กลางก็จะยังให้การอุปถัมภ์อยู่ต่อไป ในทางกลับกัน บรรดาเจ้าพ่อตามหัวเมืองก็จะยอมรับส่งส่วยให้ศูนย์อยู่ตราบใดที่เจ้าพ่อที่ศูนย์กลางยังให้การยอมรับ เกียรติยศ และคุ้มกะลาหัวจากการรังแกของเจ้าพ่อจากรัฐใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม หากเมื่อใดเกิดคิดแข็งข้อตั้งตนเป็นใหญ่ไม่ส่งส่วยอีกแล้ว หรือคิดจะไปยอมรับเจ้าพ่อที่อยู่ในศูนย์อำนาจอีกแห่งหนึ่ง เจ้าพ่อหรือรัฐส่วนกลางก็จะหาทางกำจัดกวาดล้างไป หรือถ้ากวาดล้างก็ไม่ได้ แย่งเอามาก็ไม่ได้ อีกฝ่ายก็แย่งไปอย่างเด็ดขาดไม่ได้ ก็จะเกิดลักษณะความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งที่บรรดาเจ้าพ่อหรือนักเลงเล็กๆ ตามหัวเมืองต้องอยู่ในภาวะยอมสยบให้กับเจ้าพ่อที่ส่วนกลางมากกว่าหนึ่งศูนย์อำนาจขึ้นไป หรือเรียกกันว่าเมืองสองฝ่ายฟ้า หรือเมืองสามฝ่ายฟ้า”

[จากหนังสือ ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียฯ โดย ทวีศักดิ์ เผือกสม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2555 หน้า 19]

บ้านพี่เมืองน้อง

“เจ้าพ่อ” กับ “ลูกน้อง” เป็นต้นตอระบบความสัมพันธ์แบบบ้านพี่เมืองน้อง (หรือเครือญาติอุปถัมภ์) รัฐหนึ่งเมื่อชนะสงครามก็เทครัวกวาดต้อนผู้คนและเลือกสรรสิ่งของมีค่าอื่นๆ จากรัฐแพ้สงครามกลับไปรัฐของตน โดยเหลือไว้บ้างให้รัฐแพ้สงครามปกครองดูแลกันเองต่อไป แล้วอยู่ในอํานาจอุปถัมภ์ตามเงื่อนไขของรัฐชนะสงคราม นับเป็นบ้านพี่เมืองน้อง (โดยไม่ส่งคนไว้ใจเป็นเจ้านายปกครองดูแลเมืองขึ้นตามที่บอกไว้ในประวัติศาสตร์แบบอาณานิคม)

[คําว่า พี่น้อง หมายถึง เครือญาติ อย่างไม่เจาะจงจะให้คนหนึ่งเป็นพี่ อีกคนหนึ่งเป็นน้อง ดังนั้น บ้านพี่เมืองน้องจึงมีความหมายกว้างๆ ว่าบ้านเมืองเครือญาติอย่างไม่เจาะจงว่าบ้านเมืองไหนเป็นพี่หรือเป็นน้อง เว้นเสียแต่จะเป็นที่ยอมรับยกย่องนับถือกันเอง ดังมีภาษาปากในสมัยหลังเรียกผู้เป็นใหญ่ว่า “เจ้าพ่อ” หรือ “ลูกพี่” แล้วเรียกบริวารว่า “ลูกน้อง”]

แนวคิดประวัติศาสตร์อย่างนี้มาจากลักษณะสังคมที่มีผู้คนน้อย แต่พื้นที่มาก จึงต้องการผู้คนเพิ่มเติม โดยการทําสงครามเทครัวเชลยจากรัฐอื่น

รูปแบบรัฐของบ้านพี่เมืองน้องไม่มีกําหนดกฎเกณฑ์ตายตัว (ต่างจากประวัติศาสตร์เมืองขึ้นแบบอาณานิคม) ดังนี้

(1.) พลเมืองเป็นชนหลากหลายชาติพันธุ์ซึ่งเกิดจากการเทครัวกวาดต้อน และอื่นๆ (2.) ภาษามีหลากหลาย อักษรมีเฉพาะคนชั้นสูง (3.) ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต เพราะขอบเขตของรัฐไม่แน่นอน ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับอาณาบารมีของผู้นําแต่ละคนและเป็นครั้งคราว

เปรียบเทียบแบบอาณานิคมเป็นประวัติศาสตร์เมืองขึ้น (อย่างเดียวกับประวัติศาสตร์ยุโรป) กล่าวคือ รัฐหนึ่งเมื่อชนะสงคราม ก็ต้องส่งคนที่ไว้ใจไปเป็นเจ้านายปกครองดินแดนและผู้คนอีกรัฐหนึ่งที่แพ้สงคราม แล้วต้องตกเป็นเมืองขึ้น มีผู้รู้อธิบายว่ามาจากลักษณะสังคมที่มีผู้คนมาก แต่พื้นที่น้อย จึงต้องการขยายพื้นที่โดยทําสงครามยึดดินแดนรัฐอื่นๆ โดยกําหนดลักษณะแต่ละรัฐอย่างกว้างๆ พอสังเขปไว้ดังนี้

(1.) พลเมือง มีชนเชื้อชาติเดียวกัน (2.) ภาษาและอักษร มีอย่างเดียวกัน (3.) เส้นกั้นอาณาเขต มีกําหนดขอบเขตตายตัว

เทครัวกวาดต้อน “ร้อยพ่อพันแม่”

อุษาคเนย์โบราณมีพื้นที่กว้างขวาง แต่มีคนไม่มาก พบการตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานเป็นชุมชนบ้านเมืองกระจัดกระจายห่างๆ จนถึงห่างไกลกันมาก จึงมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าจํานวนมาก

ด้วยเหตุนี้เอง ความขัดแย้งสมัยหลังๆ จนเป็นสงคราม ทําให้ฝ่ายชนะกวาดต้อนเทครัวฝ่ายแพ้เป็นแรงงาน เรียกเชลย, ข้า, ไพร่, ทาส

นอกจากฝ่ายชนะได้แรงงานมากขึ้นไปบุกเบิกหักร้างถางพงพื้นที่ว่างเปล่าเป็นชุมชนและไร่นาแล้ว ยังเกิดการประสมประสานของคนหลากหลายเผ่าพันธุ์ร้อยพ่อพันแม่ ดังนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนพูดได้มากกว่า 1 ภาษา หรือหลายภาษา ภาษาพูดจึงปนกันจนแยกชัดเจนไม่ได้ เช่น ภาษาพูดของไทย มีคําจากหลายตระกูลอยู่ปนกัน แล้วรวมเรียกภาษาไทย

ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขต

อุษาคเนย์โบราณไม่มีใครให้ความสําคัญเรื่องดินแดน เพราะคนน้อย พื้นที่มาก จะเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปตั้งหลักแหล่งตรงไหน? เมื่อไร? ก็ได้ จึงไม่มีชายแดน ไม่มีพรมแดนของใครของมัน ไม่มีเส้นกั้นอาณาเขตเหมือนปัจจุบัน

จะมีก็แต่ชุมชนรอบในหนาแน่น กับรอบนอกไม่หนาแน่นจนถึงเบาบางห่างๆ กัน ยิ่งออกไปไกลๆ ก็ยิ่งเบาบางจนหายไปเลย

เมื่อเติบโตเป็นบ้านเมืองและรัฐในสมัยหลังๆ แล้ว ก็ไม่มีชายแดน เพราะไม่มีเขตแดนแน่นอน ชายแดนเริ่มมีเมื่อเป็น “รัฐชาติ” (รับจากตะวันตก) ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง