โควิด-19 ระลอก 2 กับแรงงานข้ามชาติในไทย “โรคระบาด-อคติ-ความเอื้ออาทร”

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เข้าขั้นวิกฤตในไทยเวลานี้ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อทะยานสูงจนกลายเป็นสถิติสูงสุดใหม่ของประเทศที่ 844 คนภายในเวลาเพียงวันเดียว ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นในทุกๆ ด้าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 คลัสเตอร์ใหญ่อย่างมหาชัย คลัสเตอร์ กับระยอง คลัสเตอร์ เกี่ยวพันถึงแรงงานอพยพจาก 2 ประเทศที่เป็นแหล่งแรงงานหลักในไทยในเวลานี้

ไม่เฉพาะคนไทยเราเท่านั้นที่ลำบาก แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ก็ตกอยู่ในภาวะยุ่งยากตามไปด้วย อาจบางทีต้องทุกข์ยากทรมานกว่าคนไทยไม่น้อย

ไทยเราใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาไม่น้อยกว่า 5-6 แสนคน ส่วนแรงงานจากเมียนมานั้นไม่ต้องพูดถึง มีจำนวนหลายล้านคนที่ปักหลักทำงานอยู่ในประเทศไทย ในแทบจะทุกๆ กิจการธุรกิจ ตั้งแต่แรงงานก่อสร้างไปจนถึงร้านรวงทั้งหลาย

กลุ่มก้อนใหญ่ที่สุดอยู่ที่มหาชัย แล้วก็กลายเป็นกลุ่มที่ลำบากลำบนมากที่สุดในยามนี้

 

ในรายงานของวิทยุเอเชียเสรี เมื่อ 5 มกราคมที่ผ่านมา สะท้อนสภาพของแรงงานชาวกัมพูชา ที่หลายคนตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนไปแล้ว แต่มีอีกมากมายที่ลงเอยตกอยู่ในสภาพ “ติดกับโควิด” อยู่ในเมืองไทยเรา

วิทยุเอเชียเสรีอ้างข้อมูลในรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) เมื่อปี 2019 ระบุว่า มีแรงงานชาวกัมพูชาในไทยอยู่ราว 650,000 คนในปีดังกล่าว แต่ละรายส่งเงินกลับบ้านโดยเฉลี่ยแล้วปีละ 39,312 บาท ซึ่งในบางกรณี คือรายได้ก้อนเดียวในการจุนเจือครอบครัวทั้งครอบครัวที่หลงเหลืออยู่ในกัมพูชา

เมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดระลอกสองขึ้นในเมืองไทย แรงงานกัมพูชาราว 6,000 คนตัดสินใจเดินทางกลับบ้านไประหว่างช่วงปลายเดือนธันวาคม เรื่อยมาจนถึงวันที่ 5 มกราคม บางคนยังคงอยู่ในแหล่งกักตัวเพื่อดูอาการที่ทางการกัมพูชาจัดให้มีขึ้นที่จังหวัดพระตะบองอยู่ในเวลานี้

แต่มีอีกหลายคน รวมทั้ง รัก ดาลิน ที่ทำงานอยู่กับนายจ้างที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แล้วกิจการของนายจ้างได้รับผลกระทบจากโควิด ต้องปิดกิจการมาแล้ว 4 วัน เธอบอกว่า ครอบครัวที่หอบหิ้วมาด้วยกัน 4 คนอยากเดินทางกลับประเทศเต็มแก่ เพราะเงินจะจับจ่ายใช้สอยก็ไม่หลงเหลือแล้ว ที่จะจ่ายค่าเช่าที่พักไม่ต้องพูดถึง แถมยังต้องมานั่งอกสั่นขวัญแขวนว่าจะติดเชื้อจากเมืองไทยด้วยอีกต่างหาก

แต่กลับไม่ได้เพราะไม่มีเงิน ไม่มีทุนรอนเดินทางกลับแล้ว เรี่ยไรจากเพื่อนๆ มาได้ 500 บาท ก็ใช้สำหรับซื้อหาข้าวสาร ส่วนกับข้าวก็ขึ้นอยู่กับว่าจะจับอะไรได้ในนาข้าว เพราะไม่มีทางเลือกอื่นอีก

 

ปัญหาของแรงงานชาวเมียนมาที่สมุทรสาคร ลำบากสาหัสยิ่งกว่า เนื่องจากตกอยู่ภายใต้คำสั่งบังคับให้อยู่กับที่พัก งานก็ไม่มีให้ทำ ถ้ารับจ้างธุรกิจขนาดใหญ่ก็ดีหน่อย เพราะนายจ้างยังคอยดูแล แต่คนอื่นๆ ที่รับจ้างรายเล็กรายน้อย ได้อาศัยเพียงแค่ถุงยังชีพขององค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานเป็นครั้งคราวเท่านั้นเอง

ในรายงานของวิทยุเอเชียเสรีระบุว่า แรงงานเมียนมากลุ่มหนึ่งลุกฮือขึ้นมาประท้วงเมื่อเร็ววันนี้ โดยอ้างว่าทางการไทยนำแรงงานที่ติดเชื้อ 20 รายกลับไปให้รวมกลุ่มอยู่กับพวกตน

ผมเข้าใจเอาว่า ปัญหาเกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนและไม่ได้อธิบายความกันมากกว่าอย่างอื่น เพราะไม่มีเหตุผลแต่อย่างใดที่ทางการไทยจะนำเอาผู้ที่ติดเชื้อกลับไปรวมกลุ่มให้เกิดคลัสเตอร์ขึ้นมาใหม่ไม่จบสิ้นอย่างนั้น

การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ สร้างความยุ่งยากให้กับแรงงานจากเมียนมาไม่น้อย ตั้งแต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการนำเชื้อเข้ามาแพร่ เกิดเสียงโจมตีผ่านสื่อโซเชียลกันมากมายก่อนหน้านี้

จนสำนักข่าวชายขอบรายงานเอาไว้เมื่อ 30 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า 60 องค์กรภาคประชาสังคมเมียนมา ออกแถลงการณ์ร่วมกันในเรื่องนี้ว่า

“การแพร่ระบาดของโควิดในจังหวัดสมุทรสาครเมื่อไม่นานมานี้ ได้ทำให้แรงงานชาวเมียนมาถูกตำหนิติเตียนและถูกแบ่งแยกทางสังคม ปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อพวกเราเป็นอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ดี พวกเราต้องขอกล่าวคำขอบคุณไปยังบรรดาบุคคล กลุ่ม องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยที่ให้ความช่วยเหลือและดูแลแรงงานชาวเมียนมา ซึ่งทำให้พวกเรามีกำลังใจ อย่างไรก็ตาม การดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น ในช่วงเวลาเกิดโรคระบาดเช่นนี้ ความเมตตาและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานหลักมนุษยธรรม จะช่วยให้ผู้คนในทุกภาคส่วนของสังคมผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน”

ก่อนปิดท้ายไว้ว่า

“ขอความกรุณาให้ประชาชนไทยรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์และความช่วยเหลือกันระหว่างสองประเทศที่เคยมีต่อกันมาอย่างยาวนาน ดั่งน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เพื่อสานต่อความสัมพันธ์ฉันกัลยาณมิตร เพื่อแสดงให้เห็นว่า สังคมของเราเป็นสังคมแห่งมนุษยธรรมและสติปัญญา ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้

“ด้วยความรักและเคารพ พวกเราขอให้รัฐบาลไทยและประชาชนไทยได้ให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นแก่แรงงานข้ามชาติทุกชาติทุกคนด้วยเมตตาและมนุษยธรรม”

ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ความรักให้กันและกันนะครับ