2564 ปีแห่งการเลือกตั้งท้องถิ่น | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งถือเป็นด่านแรกของการเลือกตั้งท้องถิ่นผ่านพ้นไปแล้ว

แม้จะมีเรื่องราวของการใช้เงินเพื่อซื้อเสียงที่เป็นธรรมชาติของการเลือกตั้งในประเทศไทยอยู่

แต่ผลของการเลือกตั้งที่ออกมาย่อมสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้มีอำนาจในส่วนกลางไม่น้อย และเพียงพอสำหรับความมั่นใจที่จะปล่อยให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับอื่นๆ ตามมาในปี พ.ศ.2564

ปี 2564 จึงเป็นปีแห่งการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้งตลอดทั้งปี

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เหลือ

นอกเหนือจาก อบจ. 76 แห่งที่เลือกไปแล้ว ยังมีเทศบาลอีก 2,472 แห่ง โดยแยกเป็น เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และเทศบาลตำบล 2,247 แห่ง องค์กรบริหารส่วนตำบลอีก 5,300 แห่ง และรูปแบบพิเศษอีก 2 แห่งคือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

การเลือกตั้งองค์ ปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ แม้จะเป็นการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น แต่ก็มีความหมายมากกว่าเรื่องการกระจายอำนาจ ถือเป็นการวัดกระแสความนิยมที่มีต่อรัฐบาลกลางและชี้อนาคตการเมืองในระดับชาติมิใช่น้อย

องค์กรเหล่านี้มีลักษณะพื้นฐานที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านจำนวนของประชากร ลักษณะของประชากร ทั้งในด้านรายได้ การศึกษา และการประกอบอาชีพ

ดังนั้น หากนำผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในอนาคตมาวิเคราะห์ในรายละเอียด ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดเกมการเมืองในระดับชาติของพรรคการเมืองต่างๆ ได้

เทศบาลนครตัวบ่งชี้ภาคธุรกิจเลือกใคร

เกณฑ์ของการเป็นเทศบาลนครคือ พื้นที่ที่มีประชากรอยู่หนาแน่นตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไปและมีรายได้เพียงพอต่อการให้บริการสาธารณะต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดโดยอาจเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดหรือไม่ก็ได้

ดังนั้น เทศบาลนครทั้งประเทศจึงมีแค่ 30 แห่ง โดยเทศบาลนครที่ใหญ่ที่สุดคือเทศบาลนครนนทบุรีที่มีประชากรราว 250,000 คน และที่เล็กสุดคือเทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก ที่มีประชากรราว 40,000 คน ที่ได้รับยกเว้นเกณฑ์เนื่องจากมีรายได้เพียงพอและมีประชากรต่างชาติแฝงอยู่เป็นจำนวนมาก

ความเป็นเทศบาลนคร นอกเหนือจากความหนาแน่นของประชากรแล้ว ยังเป็นแหล่งรวมความเจริญทางธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ ดังนั้น การเมืองในการเลือกตั้งผู้บริหารเทศบาลนคร จึงแยกไม่ออกกับการที่ต้องมีทุนใหญ่ทางธุรกิจในพื้นที่ให้การสนับสนุน โดยมีทั้งที่แสดงบทบาทลงไปเล่นเองและผ่านนักการเมืองท้องถิ่นที่ตนให้การสนับสนุน

ควบคู่ไปกับความเจริญทางธุรกิจ เทศบาลนครยังประกอบด้วยสถานศึกษาที่มีคุณภาพ โรงเรียนขนาดใหญ่ หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครขอนแก่น หรืออื่นๆ ล้วนมีมหาวิทยาลัยอยู่ในที่ตั้ง

ดังนั้น คุณภาพในด้านการศึกษาของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และการที่มีผู้มีสิทธิออกเสียงรุ่นใหม่ที่ไม่เคยใช้สิทธิมาก่อนในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา อาจมีผลต่อการเลือกตั้งได้ หากกลุ่มคนดังกล่าวทุ่มความนิยมชมชอบไปยังผู้สมัครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล

ความเจริญในระดับปานกลาง กับการเมืองท้องถิ่นที่เข้มข้น

องค์ประกอบของการเป็นเทศบาลเมืองคือ พื้นที่อันเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด หรืออำเภอเมือง ที่เป็นศูนย์ราชการแต่จำนวนประชากรและรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของท้องถิ่นที่มีประชากรอยู่ระหว่าง 10,000 คนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 50,000 คน

เทศบาลเมืองมีจำนวน 195 แห่ง เป็นตัวอำเภอเมืองเสีย 54 แห่ง ที่เหลือเป็นอำเภอรอบนอก หรือเป็นเทศบาลตำบลที่ยกฐานะขึ้นมาเป็นเทศบาลเมือง

ในขณะที่เทศบาลตำบลนั้นมีจำนวนมากถึง 2,247 แห่ง เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กที่มีประชากรไม่ถึง 10,000 คน โดยมีฐานะเป็นเทศบาลมาแต่แรก หรือยกฐานะมาจากสุขาภิบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล

เมื่อเทียบความเจริญทางเศรษฐกิจ เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบลจึงอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าเทศบาลนคร ประกอบกับสัดส่วนของประชากรที่น้อยกว่า ทำให้การแข่งขันในระดับการเมืองท้องถิ่นเข้มข้นยิ่งกว่า ข่าวคราวการแข่งขัน การใช้เงิน ใช้อำนาจบารมี เพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งจึงยิ่งรุนแรงกว่า เป็นไปตามกฎที่ใดประชากรน้อย การแข่งขันสูง

แต่ละคะแนนล้วนมีความหมายและเป็นราคาของการซื้อเสียงที่สูงขึ้นเป็นลำดับ

อบต. ด่านที่ใกล้ชิดประชาชน

องค์กรบริหารส่วนตำบลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด โดยจัดตั้งจากท้องถิ่นที่มีประชากรรวมกันตั้งแต่ 2,000 คนขึ้นไป และมีรายได้รวมตั้งแต่ 150,000 บาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมี อบต.ทั้งประเทศ 5,300 แห่ง และส่วนกลางมีแนวโน้มในการยกฐานะ อบต.ที่มีประชากรและรายได้ตามเกณฑ์ขึ้นเป็นเทศบาลตำบล หรือแนวโน้มการควบรวม อบต. 2 หรือ 3 แห่ง เพื่อให้มีประชากรและรายได้ถึงเกณฑ์เป็นเทศบาลตำบล แต่กระบวนการดังกล่าวยังต้องใช้เวลา

ดังนั้น หากยังไม่สามารถยกฐานะและกำหนดเขตการเลือกตั้งใหม่ได้ทัน การเลือกผู้บริหารและสมาชิก อบต. ในปี 2564 ยังจำเป็นต้องเลือกภายใต้โครงสร้างที่มีอยู่เดิม ซึ่งการแข่งขันในพื้นที่ดังกล่าวจะยิ่งทวีความเข้มข้น เพราะทุกเสียงล้วนมีความหมาย

กล่าวกันว่า การเลือกตั้ง อบต.มีค่าหัวในการซื้อเสียงสูงกว่าการเลือกตั้งประเภทอื่นๆ และถึงเป็นญาติพี่น้อง ถึงเป็นเพื่อนบ้านรั้วติดกันยังต้องใช้เงินจูงใจไม่มีข้อยกเว้น

การจัดการเลือกตั้ง อบต.ให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรมจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ กกต.ในปี 2564 อีกโจทย์หนึ่ง

เว้นแต่ กกต.จะละเลยคำว่า การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม

กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

สองแบบ สองลักษณะ

โจทย์ของเมืองพัทยา อาจจะอ่านง่ายกว่าโจทย์ของกรุงเทพมหานคร ด้วยพื้นที่เพียง 50 ตารางกิโลเมตรกับประชากรเพียงหนึ่งแสนเศษ และเป็นพื้นที่ผูกขาดทางการเมืองของกลุ่มตระกูลที่มีบทบาททางการเมืองอย่างต่อเนื่องยาวนานรวมถึงผลงานการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถประสานผลประโยชน์ได้อย่างลงตัว

ในขณะที่โจทย์ของกรุงเทพมหานคร ที่มีพื้นที่กว่า 1.5 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรกว่า 10 ล้านคน มีพรรคการเมืองที่ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะครองใจประชาชนที่แปรเปลี่ยนไปมาไม่ยึดติดกับพรรคการเมือง ดูจะเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายของกลุ่มการเมืองต่างๆ ยิ่งแนวโน้มที่การเลือกตั้งใน กทม. ที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมักจะได้เสียงสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่า ยิ่งแนวโน้มที่กระแสสื่อสังคมโซเซียลมีอิทธิพลต่อความคิดผู้คน การคาดการณ์ถึงผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครยิ่งยากจะคาดการณ์

แม้การเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีจำนวนมากในปี 2564 แต่สิ่งที่ทุกคนจับจ้องและสามารถสร้างผลสะเทือนทางการเมืองสูงสุด กลับเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร เพราะนั่นจะเป็นการตอบโจทย์ที่สำคัญว่า คนชั้นกลางที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและการศึกษาที่ดี คิดเห็นอย่างไรกับผลการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และคนเหล่านี้มีอารมณ์เบื่อสุดๆ จนถึงขั้นไม่เอากับรัฐบาลชุดนี้จนพร้อมออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลแล้วหรือไม่

ยกเว้นว่า รัฐบาลจะไปไม่ถึงวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.