มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส / คลองอรชร (จะไม่) หายไป

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

คลองอรชร (จะไม่) หายไป

 

ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นภาพคนพายเรือคายัคในคลองโอ่งอ่าง ภาพคลองคูเมืองเดิมยามราตรีที่สวยสว่าง และภาพคลองลาดพร้าวที่สะอาดเป็นระเบียบ

อีกไม่นาน ก็ยังจะเห็น ภูมิทัศน์ใหม่ของคลองช่องนนทรี ที่อยู่ใกล้บ้าน

คงจะเป็นนิวนอร์มอลของคลองในกรุงเทพฯ คลองที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครสนใจ ดูแลใส่ใจมาช้านาน

เลยคิดถึงอีกหลายคลองที่ถูกถมกลบทิ้งไป ในช่วงห้าหกสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะคลองหนึ่งที่อยู่ใกล้ที่ทำงานของผู้เขียน

 

คลองอรชร เป็นคลองขุดในสมัยรัชกาลที่ห้า เชื่อมระหว่างคลองแสนแสบทางทิศเหนือและคลองตรง (ถนนพระรามสี่) ทางทิศใต้

คลองอรชร มาจากพระราโชบายที่จะตัดทางเชื่อมระหว่างทางริมคลองตรง กับทางเดิมที่ต่อจากถนนรองเมือง ไปถึงปทุมวัน ผ่านวังใหม่ วังสระปทุม และวังเพชรบูรณ์

ทางสายใหม่นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ อยากให้คนไทยรู้จักการวัดระยะแบบสากล เพิ่มขึ้นจากศอก วา เส้น แบบดั้งเดิม จึงกำหนดตำแหน่งที่จะทำให้ระยะทางยาวหนึ่งไมล์พอดี

จึงเป็นที่มาของการเรียกขานทางสายนี้ว่า ถนนนิวแมนสไมล์ Newman’s mile ตามชื่อของเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยในเวลานั้น

ครั้นเมื่อฝรั่งขอเช่าที่หลวง สำหรับเลี้ยงม้า แข่งม้า และขี่ม้าเล่นโปโล รวมทั้งสนามม้า ผู้คนจึงเปลี่ยนมาเรียกขานว่า ถนนสนามม้า แทน และเป็นที่มาของราชกรีฑาสโมสร กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

 

เนื่องจากการทำถนน จำเป็นต้องใช้ดินถมให้ได้ระดับ และอัดให้แน่นเพื่อรองรับน้ำหนักยานพาหนะต่างๆ จึงใช้วิธีขุดคลองคู่ขนานกับทาง และด้วยเทคนิคการส่องกล้องแบบตะวันตก ทำให้แนวถนนและคลองตรง ต่างไปจากคลองรุ่นก่อน จึงเป็นที่มาของชื่ออรชร ที่มาจากคำสันสกฤต ฤชุ หรือ อุชุ ที่แปลว่า ตรง

ต่อมา เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ก่อตั้งสภากาชาดสากล นายอังรี ดูนังต์ ชาวฝรั่งเศส อีกทั้งสภากาชาดไทย มีสำนักงานอยู่บนถนนสายนี้ จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนอังรีดูนังต์

หลายสิบปีก่อน ปัญหาการจราจรบนถนนอังรีดูนังต์เพิ่มมากขึ้น มีปัญหาการจอดรถริมถนน ในสมัยที่ยังมีการแข่งม้า และเวลาเช้า-เย็นที่ผู้ปกครองยังขับรถมาส่งลูก-หลานที่เรียนโรงเรียนสาธิตปทุมวันและเตรียมอุดม

ทำให้เทศบาลนครกรุงเทพ ถมคลองอรชร เพื่อขยายผิวจราจรให้กว้างขึ้นและเพิ่มพื้นที่จอดรถ

 

ถึงเวลานี้ ราชกรีฑาสโมสร เลิกการแข่งม้าประจำสัปดาห์ นักเรียนทั้งสองโรงเรียนเลือกเดินทางมาเรียนด้วยรถไฟฟ้า ทำให้ปริมาณการจราจรและรถยนต์ลดลง จึงเหลือเพียงรถข้าวขาหมู รถก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ และรถเซเว่น ไม่กี่คันจอดแช่รอลูกค้า รถแท็กซี่ รถคนทำงานในย่านนั้น และรถตู้ จำนวนหนึ่งจอดรอคิว

ผู้เขียนจึงอยากเสนอให้รื้อฟื้นคลองอรชรขึ้นมาใหม่ อาจไม่จำเป็นต้องขุดเป็นคลองลึกแบบเดิม เพราะมีท่อระบายน้ำขนาดใหญ่อยู่แล้ว หากทำทางน้ำยาวตลอดแนว ตั้งแต่สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงสยามสแควร์ รื้อผิวจราจรปรับเป็นพื้นที่สีเขียว ตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงาม ด้วยไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม

ส่วนผิวจราจร ด้านกรมตำรวจ ราชกรีฑาสโมสร และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แค่ปรับเป็นทางจักรยาน ทางเดินเท้า ปลูกต้นไม้ ให้ร่มรื่น

นอกจากคลองอรชรจะฟื้นคืนกลับมา คนกรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น ยังเป็นการเชื่อมต่อย่านการค้าสยามกับสุรวงศ์และสีลม ด้วยทางสีเขียว

คลองอรชร (ใหม่) ที่สวยงาม ยังจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่นเดียวกับคลองชองกเยชอน กลางกรุงโซล เกาหลี ที่คนไทยนิยมเดินทางไปเซลฟี่