ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (77) ปฏิสัมพันธ์ “สวน-ธรรมชาติ”

คอลัมน์สิ่งแวดล้อม
ทวีศักดิ์ บุตรตัน [email protected]

บทที่สี่ของรายงาน “พืชสวนภายใต้สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” ทีมงานของราชสมาคมพืชสวนแห่งอังกฤษ ไปสำรวจความเห็นของชาวสวน นักพืชสวน นักจัดสวนทั่วเกาะอังกฤษ 1,007 คน ส่วนใหญ่รู้สึกได้ว่า ณ ปัจจุบันนี้สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

การเปลี่ยนแปลงสภาวะดังกล่าวมีผลทั้งสิ่งแวดล้อมและคน

ชาวสวนทางตอนเหนือของอังกฤษสังเกตเห็นสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่น ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง หญ้าในสนามหน้าบ้านโตเร็วต้องตัดหญ้าบ่อยขึ้น

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังเห็นตรงกันว่า ห้วงเวลาดอกไม้บานเปลี่ยนไปด้วย อีกทั้งวิตกกังวลกับศัตรูพืชต่างถิ่นและเชื้อโรคบุกทำลายสวน ผลผลิต

แต่น่าแปลก มีเพียง 2% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่บอกว่าเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศไว้แล้ว

อีก 98% ที่เหลือยังงงๆ อยู่ว่าจะรับมืออย่างไร

 

ส่วนในบทที่ 5 กล่าวถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างสวนกับสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อม พืชพันธุ์ สรรพสัตว์ ดิน น้ำ ลม ล้วนปฏิสัมพันธ์กันทั้งสิ้น และคนเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวของสิ่งแวดล้อม

พื้นที่ใดมีสิ่งแวดล้อมดี น้ำสะอาด ดินอุดมไปด้วยแร่ธาตุ อากาศบริสุทธิ์ ต้นไม้เจริญเติบโตออกดอกออกผลเต็มต้น ไร่นาเขียวชอุ่ม คนที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ก็ได้อานิสงส์ มีอาหารสมบูรณ์ กินอยู่อิ่มหนำสุขภาพแข็งแรง

แต่ถ้าพื้นที่นั้นมีสิ่งแวดล้อมเปื้อนไปด้วยมลพิษ น้ำเน่าเสีย ควันดำเหม็นลอยปกคลุมทั้งวัน ดินแห้งแตกระแหง ปลูกพืชไร่ได้ผลไม่อุดมสมบูรณ์ ผู้คนก็อยู่กันอย่างแร้นแค้น อมทุกข์ อมโรค

รายงานบทนี้จึงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือสูงขึ้น ย่อมมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อากาศเปลี่ยนแปลงจะกระทบกับพืชพันธุ์ไม้ สัตว์และระบบนิเวศน์ เช่น ดิน น้ำ

พันธุ์ไม้ประจำถิ่นบางชนิดเจออากาศร้อนจัดๆ ไม่สามารถปรับตัวได้อาจถึงขั้นสูญพันธุ์

ขณะที่พันธุ์ไม้ต่างถิ่น เคยชินกับอุณหภูมิสูงๆ มาก่อน เมื่ออากาศเปลี่ยน กลับแข็งแรงแพร่พันธุ์ยึดครองพื้นที่อย่างรวดเร็ว

ในปัจจุบัน ธุรกิจการค้าต่างประเทศเป็นเรื่องโลกาภิวัตน์ ชาวสวนอังกฤษนำเข้าต้นไม้ต่างถิ่นพันธุ์ใหม่ๆ มาเพาะพันธุ์ปลูกกันมาก เมื่อสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยน พันธุ์ไม้ต่างถิ่นบางชนิด เช่น ปาล์มจีน (Trachycarpus fortunei) สามารถปรับตัวได้ดีเยี่ยมในช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิเพิ่มสูง

สวนในพื้นที่ทางตอนใต้อังกฤษ นิยมปลูกปาล์มจีนเพราะทรงสวยใบเหมือนกังหันลม ปรากฏว่า ปัจจุบันปาล์มจีนปรับตัวกับสภาพแวดล้อมจนเมล็ดเติบโตได้เอง (self-seeding) ไม่ต้องนำไปเพาะอีก

กรณีตัวอย่างของต้นปาล์มจีนทำให้นักพืชสวนหวั่นเกรงพันธุ์ไม้ต่างถิ่นจะบุกอาละวาดยึดครองพื้นที่สวนอังกฤษ มีผลต่อระบบนิเวศน์และอุตสาหกรรมพืชสวนโดยรวม

 

นอกจากนี้ นักพืชสวนยังกังวลกับศัตรูพืชและโรคระบาดที่มาพร้อมกับพันธุ์ไม้ต่างถิ่น

ศัตรูพืชและเชื้อโรคบางชนิด เติบโตขยายพันธุ์ได้รวดเร็วในพื้นที่ที่อุณหภูมิร้อนหรือแห้งแล้ง

ภูมิอากาศของอังกฤษเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนมานานหลายทศวรรษ ย่อมมีผลต่อการปรับตัวของศัตรูพืชและเชื้อโรค

อย่างเช่น โรคราแป้ง เกิดจากเชื้อรา oidium mangiferae berthet เกาะตามใต้ใบหรือช่อดอก ต้นที่ติดเชื้อชนิดนี้จะทำให้ผลผลิตเสียหายเพราะเชื้อทำลายได้ทั้งใบดอก ช่อดอกและใบอ่อน

เมื่อปีที่แล้วชาวสวนไม้ประดับทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ เพิ่งประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคราแป้ง เนื่องจากภาวะแห้งแล้ง ความชื้นในดินต่ำทำให้ต้นไม้เกิดความเครียดน้ำ (water stress)

หรือกรณีด้วงโรสแมรี่ (rosemary beetle) หลุดเข้ามาในระบบนิเวศน์ของอังกฤษ ประจวบกับสภาวะภูมิอากาศแปรเปลี่ยนทำให้เกิดแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว บุกทำลายสวนลอนดอนเป็นจุดแรก

ปัจจุบัน ด้วงโรสแมรี่โจมตีสวนอื่นๆ ทั้งในอังกฤษและแคว้นเวลส์ ทางการอังกฤษยังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดด้วงโรสแมรี่

 

ราชสมาคมพืชสวนแห่งอังกฤษสรุปในบทที่ 5 ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องจะมีผลกระทบต่อสวนอังกฤษอีกนาน เว้นแต่ว่า ทุกภาคส่วนร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซพิษ ควบคุมการปล่อยของเสียออกสู่พื้นที่สาธารณะ ป้องกันการนำเข้าพืชและสัตว์อย่างเข้มงวด รวมทั้งการตรวจสอบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรค

การบริหารจัดการสวนอย่างมืออาชีพเพื่อลดกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและศัตรูพืช อีกทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมให้สวยงามดูดีเป็นสิ่งจำเป็น

ปิดท้ายด้วยข่าวอุณหภูมิที่ขั้วโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นไม้ใบหญ้าโดยเฉพาะหญ้ามอสส์โตเร็วผิดปกติจนพื้นที่ที่เคยปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลน เปลี่ยนเป็นสีเขียว

ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อ 50ปี หญ้ามอสส์โตเร็วขึ้น 4-5 เท่า

นักวิจัยของอังกฤษที่บุกไปสำรวจขั้วโลกชี้ว่า ในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 อุณหภูมิที่แอนตาร์กติก เพนนินซูลา เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยร้อนขึ้นครึ่งองศาต่อหนึ่งทศวรรษ

ปกติแล้ว มีพืชเติบโตในขั้วโลกเพียงแค่ 0.3% หนึ่งในนั้นคือหญ้ามอสส์สามารถอยู่รอดได้แม้มีอากาศเย็นจัด

อีกข่าวเป็นการประเมินของนักวิจัยหลังศึกษาระดับน้ำทะเลว่า ในอนาคตเมืองชายฝั่งทั่วโลกจะเผชิญกับน้ำทะเลที่เอ่อสูงทำให้เกิดน้ำท่วมหนักและคลื่นซัดอย่างรุนแรง

ล่าสุดผลจากสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงประมาณ 4 มิลลิเมตรต่อปี แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายมากขึ้นและอากาศที่ร้อนขึ้นยังทำให้น้ำทะเลขยายตัวอีกด้วย