วิธีการของ “คณะก้าวหน้า” คือ จุดอ่อนหรือจุดแข็ง?

จุดอ่อนหรือจุดแข็ง?

แต่เดิมสนใจการเลือกตั้งท้องถิ่นเพราะมีข่าวจากปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ตั้งแต่อดีตจนสิ้นปีงบประมาณ 2559 สำนักปลัดได้รับรายงานว่ามีเรื่องเงินขาดบัญชีและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ 2,838 เรื่อง รวมเป็นเงินที่เสียหาย 11,383 ล้านบาท จำแนกเป็นราชการส่วนกลาง 234 เรื่อง ราชการส่วนภูมิภาค 640 เรื่อง ราชการส่วนท้องถิ่น 1,496 เรื่อง รัฐวิสาหกิจและองค์กรมหาชน 468 เรื่อง

หน่วยงานที่มีการทุจริตมาก 3 อันดับแรกคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,496 เรื่อง กระทรวงมหาดไทย 219 เรื่อง และกระทรวงศึกษาธิการ 218 เรื่อง

ซึ่งก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแหล่งทำมาหากินที่ทุจริตมากที่สุดนั่นเอง และที่ทำให้สนใจก็เพราะนักปฏิรูปตำรวจส่วนหนึ่ง ต้องการให้ตำรวจขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อลดสถานะและบทบาท

ในสถานการณ์ที่คอร์รัปชั่นไทยเข้าขั้นวิกฤต ทุจริต 3 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นเงินงบประมาณกว่า 2.38 แสนล้านบาท

ทำให้เราอยากรู้ว่า ผู้นำท้องถิ่นควรเป็นคนพรรคไหนหรือพันธุ์ไหน

ติดตามการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 20 ธันวาคม อย่างค่อนข้างใกล้ชิด เมื่อ “พรรคก้าวไกล” บวกกับ “คณะก้าวหน้า” ที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศตัวว่าเป็นเจ้าของคอก ส่งหรือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.หลายเขตและหลายจังหวัด

ไม่ทราบว่าใครอาศัย “กระแส” ของใคร ระหว่าง “คณะราษฎร” ของคนชู 3 นิ้ว กับ “คณะก้าวหน้า” แต่ก็ทำให้คนรักสถาบันพากันวิตกไปถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่จะไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่บนยอดของสามเหลี่ยมพีระมิด หรือสถาบันลงมาอยู่ในระนาบเดียวกับนายพลทั้งหลาย

โดยมีประธานาธิบดีเป็นยอดสามเหลี่ยมอยู่ข้างบน เฉกเช่น “สาธารณรัฐ” ทั่วไป

คนรักสถาบันพากันวิตก เพราะ “คณะราษฎร” ประกาศชัยชนะทุกครั้งหลังยุติการชุมนุมปิดกั้นถนนเพื่อประท้วงเรียกร้องเสรีภาพด้วยการใช้วาจาจาบจ้วงและพ่นสีบนถนนหรือกำแพง หรือเขียนป้ายด้วยถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคลในราชวงศ์อย่างหยาบคาย รวมทั้งแสดงเป็นคอสเพลย์อย่างสนุกสนาน ทั้งนี้ โดยสะดวกโยธินและโดยไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นไม่ว่าจากฝ่ายใด

จนเมื่อได้รับการแจ้งข้อหาในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ก็ได้รับการท้วงติงจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการใช้มาตรา 112 และข้อกล่าวหาอาญาร้ายแรงอื่นๆ ต่อผู้ประท้วง และเรียกร้องให้ไทยแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศด้วย

ครั้นเมื่อถึงเวลาหาเสียงเลือกตั้ง อบจ. คณะก้าวหน้าโดยนายธนาธรประกาศว่า คนของคณะก้าวหน้าจะชนะเลือกตั้ง อบจ.ถล่มทลายแบบแลนด์สไลด์ แม้จะมีฝ่ายแสดงตัวปกป้องสถาบันออกมาต่อต้านโดยเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” เสียงดังเป็นการรบกวนและต่อต้าน หรือแสดงท่าทีไม่ต้อนรับ ธนาธรก็ไม่หวั่น

ผลปรากฏว่า ส่งผู้สมัครนายก อบจ.ไป 42 จังหวัด แพ้หมด ส่วนสมาชิก อบจ. ส่งไป 18 จังหวัด ได้มา 55 คน ถือว่าน้อยมาก ส่วนใหญ่จังหวัดละคน นอกจากที่ฉะเชิงเทราและอุดรธานี จังหวัดละ 10 คน

เมื่อครั้งที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นำ “พรรคอนาคตใหม่” สู้การเลือกตั้งระดับชาติหนแรกเมื่อต้นปี 2562 แม้กฎ ระเบียบ กติกาของ กกต.จะซิกแซ็กพลิกแพลงอย่างไรก็ตาม พรรคอนาคตใหม่ (อายุ 1 ขวบ) ก็ยังมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนนเสียง 6,295,950 โดยพรรคประชาธิปัตย์ (อายุ 73 ปี) ตามมาเป็นอันดับ 4 ด้วยคะแนน 3,947,726

นับเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ในวงการเมือง ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยน “ยุค” เข้าสู่ยุคของคนรุ่นใหม่ทีเดียว เพราะผู้สมัครเป็น ส.ส.ทั้งแบบเขตและแบบรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ ต่างไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างของสังคมการเมือง และต่างก็ไม่มีผลงานดีเด่นแก่ประเทศชาติหรือสังคมส่วนรวมมาก่อนเลย

โดยส่วนตัว ผมเองก็เพิ่งได้ยินชื่อและมานึกนิยมยกย่องธนาธรหัวหน้าพรรคเอาเมื่อเขามีวิพากษ์วิจารณ์ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช.” สอดคล้องกับความคิดเห็นของผม

แอบนึกหวัง “ฝากไข้” ไว้กับพรรคอนาคตใหม่สำหรับกรณีแก้ไข “รัฐธรรมนูญ 2560” อันบิดเบี้ยว เมื่อได้เห็นธนาธรจับมือกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หน.พรรคประชาธิปัตย์ บนเวทีดีเบตหมู่ครั้งหนึ่ง เสมือนให้สัตยาบันแก่กันและกันว่าจะร่วมมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เสียดายแทนประเทศไทยและนายธนาธร ที่รัฐธรรมนูญให้ 250 วุฒิสมาชิก ซึ่งแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี จนเป็นเหตุให้นายธนาธรพ่ายแพ้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแบบน่าเกลียดหรือแบบอัปลักษณ์ในสากลโลกอย่างสุดสุด

ไม่เช่นนั้นเราอาจจะมีนายกรัฐมนตรีพลเรือนที่ชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้วก็ได้

ถ้าจะมีคำถามว่า เหตุใดผลการเลือกตั้งทั่วไปกับผลการเลือกตั้งท้องถิ่นของพรรคหรือคณะของนายธนาธรแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว?

ตอบได้อย่างตรงไปตรงมาว่า ครั้งเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2562 นั้น คำว่า “สถาบัน” เป็นจุดอ่อนของพรรคอนาคตใหม่จึงยังไม่มีการแสดงออก แต่การเลือกตั้ง อบจ.เมื่อปลายปี 2563 ธนาธรมั่นใจว่า “สถาบัน” เป็นจุดแข็งของพรรคก้าวไกลหรือคณะก้าวหน้า

จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า หลังเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 มีฝ่ายตรงข้ามกับพรรคได้ขุดคุ้ยการสอนของอาจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มธ. ไปในทางว่าเจตนาล้มสถาบัน โดยมีคำสอนหรือตำราหรือหนังสือเป็นหลักฐาน

ปิยบุตรในฐานะเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ได้ชี้แจงพัลวันจนตัวเองปลอดจากการถูกกล่าวหาว่า “ล้มเจ้า” แต่จะเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งแก่ทุกคนหรือทุกฝ่ายนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พร้อมกันนั้น ฝ่ายตรงข้ามยังเปิดเผยพฤติกรรมของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ที่ดูแล้วมองได้ว่าเยาะเย้ยดูแคลนรัชกาลที่ 9 และราชวงศ์ โดยมีข้อความที่เขียนหรือโพสต์กับภาพถ่ายเป็นหลักฐาน ทางฝ่าย น.ส.พรรณิการ์จะตอบโต้หรือแก้ตัวอย่างไรผมก็ลืมเสียแล้ว จำได้แต่ว่าไม่มีการกล่าวหาเช่นเดียวกัน

แม้ไม่มีการกล่าวหาและดำเนินคดีในมาตรา 112 แต่ทุกฝ่ายรวมทั้งสมาชิกพรรคเองต่างก็ตระหนักดีว่า “สถาบัน” เป็นจุดอ่อนของตน

พรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563 กรรมการบริหารพรรค 16 คนถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี สมาชิกพรรคที่เหลือรวมตัวกันตั้งพรรคใหม่ชื่อ “พรรคก้าวไกล”

ส่วนธนาธร ปิยบุตร และพรรณิการ์ ที่ถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง ร่วมกันตั้ง “คณะก้าวหน้า” ดำเนินการทางการเมืองทำนองเดียวกับพรรคการเมือง แล้วคณะก้าวหน้าก็เริ่มต้นด้วยการชุมนุมแสดงพลังด้วย “แฟลชม็อบ” ซึ่งสื่อโซเชียลถือว่าประสบความสำร็จอย่างสูงด้วยการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบสมัยใหม่ รวมทั้งการเลือกสถานที่ที่จะช่วยให้ภาพผู้ชุมนุมมากมายมหาศาล

จนมาถึงยุคของม็อบ “คณะราษฎร” ที่ใช้สัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว เรียกร้องการ “ปฏิรูปสถาบัน” ด้วยวาจาจาบจ้วงและถ้อยคำหยาบคาย รวมทั้งแสดงอาการคุกคามสถาบัน จนถูกกล่าวหาด้วยข้อหาความผิดต่างๆ รวมทั้งมาตรา 112

การถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 เมื่อมองด้วยสายตาของคนที่ “ไม่ต้องการเจ้า” ตรงนี้คือความสำเร็จและเป็น “จุดแข็ง”

คณะก้าวหน้าหวังจะใช้จุดแข็งนี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ได้รับการตอบรับรวม 2,670,798 เสียง แม้ว่าจะพลาดไม่ได้เก้าอี้นายก อบจ.แม้แต่จังหวัดเดียว แต่ธนาธรก็ถือว่าไม่ทำให้สูญเสียความมั่นใจ จะเดินหน้าทำงานทางการเมืองระดับท้องถิ่นต่อไป

แต่มองด้วยสายตาของคนที่ปกป้องสถาบันถือเป็นความล้มเหลว เพราะมันหมายถึงประชาชนส่วนใหญ่ในท้องถิ่นไม่ยอมรับ