หลังเลนส์ในดงลึก/”ชีวิตใหม่”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ชีวิตใหม่”

ครั้งหนึ่ง หลังจากไต่หน้าผาชันเกือบ 90 องศา ตามบังอิด ชายผู้มีอาชีพเก็บรังนกนางแอ่น แห่งหมู่เกาะพีพี เพื่อขึ้นไปถ่ายรูปนกโจรสลัด

เสร็จงาน เราเกาะแง่งหินลงจากหน้าผา

ท้องฟ้ามืด กระแสลมแรง ขณะเกาะติดอยู่กับหน้าผา เหงื่อชุ่มฝ่ามือ ขาสั่นระริก นอกจากความกลัว ผมสัมผัสได้กับความ ” อ่อนด้อย” ของตัวเอง

ความรู้สึกที่ว่า ได้ผ่านประสบการณ์ต่างๆ มาพอสมควร พร้อมรับมือกับทุกสภาวะ หายไป

เหลือเพียงการยอมรับอย่างไม่มีข้อแม้ว่า ผมไม่ได้รู้ หรือ “แกร่ง” พอที่จะเผชิญอะไรเลย

เช่นเดียวกับตอนที่เดินตามน้าพุด ชายผู้มีอาชีพเก็บหาของป่าในบริเวณป่าพรุโต๊ะแดง ในภารกิจตามหานกเงือกดำ

น้าพุดเดินนำหน้าอย่างคล่องแคล่วไปตามรากไม้

ส่วนผมไปได้อย่างเชื่องช้า เงอะงะ ก้าวพลาดจมลงใต้น้ำบ่อยๆ

เมื่ออยู่ในสถานการณ์อันไม่คุ้นเคย

การยอมรับว่าตัวเองยังอ่อนด้อย

อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปได้

ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ซึ่งต้อง “ผจญภัย” เท่านั้นหรอก

แม้แต่เหตุการณ์ที่ควรเป็นเรื่องน่ายินดี

ผมก็เงอะงะ ทำอะไรไม่ถูก ช่วยเหลืออะไรใครไม่ได้

ไม่กล้าแม้จะหันหน้ามอง

ผมใช้เวลาอยู่ในป่าทางตอนใต้ของลำน้ำขาแข้งร่วม 4 ปี เพื่อเฝ้าดูความเป็นไปของเหล่าสัตว์ป่าที่ใช้ชีวิตไปตามฤดูกาล อยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่า ผมก็คล้ายเป็นคนงานในหน่วยคนหนึ่ง ร่วมทำงาน กิน นอน และผจญภัยไปกับพวกเขา

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ผมพบกับเค ชายหนุ่มที่สมัยนั้นเป็นหนึ่งในคนงานหน่วยพิทักษ์ป่า ผมกับเขาคุ้นเคยกันดี

เคร่วมมากับทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

พวกเขามาวางกล้องดักถ่ายภาพในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

ผมร่วมงานกับพวกเขาอีกครั้ง

ผมกับเคพูดคุยกันถึงเรื่องเก่าๆ

“จำตอนที่ลูกไอ้แป๊ะเกิดได้ไหมครับ” เคถาม

“จำได้สิ” ผมพยักหน้า นอกจากผมจะเคยเขียนงานชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า “ชีวิตใหม่” อันเป็นเรื่องราวเหตุการณ์นั้น

คืนนั้น เป็นคืนที่ผมรู้ตัวว่า แม้แต่เรื่องน่ายินดี ผมยังไม่กล้าแม้จะหันหน้ามอง

ราวๆ ตีหนึ่ง

ท้องฟ้าคืนแรม 12 ค่ำ มืดสนิท หน่วยพิทักษ์ป่าถูกห่มคลุมด้วยความมืด

แป๊ะ คนงานหน่วย เดินถือไฟฉายแสงริบหรี่จากเรือนแถวอันเป็นที่พัก มาบ้านหัวหน้าหน่วย เขาหยุดเชิงบันใด พลางตะโกนเรียก

ปลายฤดูฝน ฝูงกระทิงมีสมาชิกเพิ่ม : (ภาพโดย ชัยพร สังคโลก)

“ลูกพี่ๆ ตื่นๆ” ไม่มีเสียงตอบจากในบ้าน

เหล้า 35 ดีกรี แกล้มเห็ดโคนเผาทำให้สมพงษ์หัวหน้าหน่วยหลับสนิท

“พี่พงษ์ตื่นยัง” เสียงแป๊ะร้อนรน และดังขึ้น

“ลูกพี่โว้ย” เขาตะโกน มีเสียงกุกกักในบ้าน

“ใครวะ”

“ผมเอง แป๊ะ”

“ทำไม มีคนจะตายหรือไง” หัวหน้าหงุดหงิดที่ถูกปลุก

“ไม่มีใครจะตายหรอก มีแต่จะเกิด เมียผมปวดท้องจะออกลูก พี่ช่วยเอารถออกไปส่งบ้านไร่หน่อย”

สมพงษ์พรวดพราดออกจากห้อง

“ไอ้หอก แล้วไม่บอกตั้งแต่แรก” เขาบ่นลูกน้อง

นวล เมียแป๊ะ ใกล้ถึงกำหนดคลอด เธอรู้สึกปวดท้องตั้งแต่หัวค่ำ

“เอาผ้าปูกระบะ แล้วเอ็งนั่งประคอง” สมพงษ์พูดพลางติดเครื่องรถกระบะสีขาวมอๆ

ระยะทางราว 60 กิโลเมตร จากนี่ถึงอำเภอ ไม่ไกล ถ้าเป็นเส้นทางลาดยาง

แต่นี่คือเส้นทางป่า แม้ว่าจะไม่เละ แต่มีร่องลึกๆ ที่เกิดจากน้ำฝนเซาะอยู่ไม่น้อย เราต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 ถึง 5 ชั่วโมง

ทุกคนในหน่วยตื่น เคกระโดดขึ้นรถ กั๊ก เมียเค กระโดดตาม พร้อมกับผม สมพงษ์ออกรถอย่างเร็ว โครมคราม กระเด้งกระดอนไปตามทางขรุขระ

“จะทันไหมวะ” แป๊ะประคองเมียไว้ในอ้อมแขน รถแล่นมาราวครึ่งชั่วโมง นวลแสดงอาการว่าพร้อมคลอด

“พี่หยุดรถเถอะ ทำคลอดตรงนี้แหละ” แป๊ะตะโกน นี่ไม่ใช่ลูกคนแรก เขามีประสบการณ์มาแล้ว

รถไม่หยุด สมพงษ์คงไม่ได้ยิน เขาตะบึงรถไปโดยไม่ชะลอ ขึ้นเนินชัน และต้องเลี้ยวไปทางซ้าย ช่วงนี้ต้องบังคับรถให้ชิดด้านขวา เพราะซ้ายมือเป็นหุบค่อนข้างลึก ผิวทางมีหินก้อนโตๆ สมพงษ์เร่งเครื่อง ล้อหน้าขวากระแทกโครมเข้ากับก้อนหิน ยางระเบิด รถจอดนิ่ง

เขาเปิดประตู รื้อหาแม่แรงใต้เบาะ

ด้านหลังชุลมุน นวลคลอดอย่างง่ายดาย

“ไม่ต้องรีบแล้วพี่ เด็กออกมาแล้ว” แป๊ะบอกลูกพี่

“พี่ก็หันมาได้แล้วครับ” เขาบอกผม

กั๊กทำหน้าที่เป็นหมอตำแย เควิ่งไปตัดไม้ไผ่ข้างทางมาเหลาบางๆ เพื่อตัดสายสะดือ และรีบมาช่วยหัวหน้าเปลี่ยนยาง

แป๊ะใช้ผ้าขาวม้าห่อลูกอุ้มแนบอก

“เลือดเนื้อของเรา” เขาพูด

“ยอมตายแทนได้เลยครับ” ผมมองใบหน้าเปื้อนยิ้มของเขา

เราไปต่อถึงโรงพยาบาล

หน่วยพิทักษ์ป่า มีสมาชิกเพิ่ม เป็นชีวิตใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับความอุดมสมบูรณ์แห่งช่วงฤดูฝน

ปลายเดือนตุลาคม สายลมหนาวเดินทางมาถึง

ฤดูฝนเตรียมจากไป แต่ก่อนไป ฝนก็ตกตลอดสามวันโดยไม่หยุด ระดับน้ำในห้วยสูงขึ้น ขุ่นแดง ไหลแรงส่งเสียงอื้ออึง

ฝนหยุด อากาศเริ่มเย็น ใบไม้แม้จะเขียวสดชื่น แต่บางต้นเริ่มมีสีสัน

อากาศเย็นอยู่ 3-4 วัน จากนั้นกระแสลมจะพัดแรง อากาศแห้งมากขึ้น

ฝูงสัตว์ป่า โดยเฉพาะกระทิง ลงจากภูเขา

ตอนนี้ ถึงเวลาวนเวียนตามโป่ง เพื่อกินแร่ธาตุเสริม

กระทิง วัวแดง ทยอยเข้าโป่ง ตัวเมียอาวุโสนำมา ตัวผู้ติดตามมาห่างๆ

ด่านที่กระทิงใช้เดินเชื่อมระหว่างโป่ง มักตัดตรง ไม่ค่อยแวะเวียน

ในฝูงกระทิง ช่วงนี้เป็นเวลาของการต้อนรับสมาชิกใหม่

ลูกกระทิงแรกเกิดตัวสีน้ำตาลอ่อนเดินตามแม่ต้อยๆ

ในฝูงช่วยกันดูแล ระมัดระวัง เพราะมีผู้ล่าหมายตาอยู่

กระทิงมีนิสัยคล้ายกับควายป่า คือ ไม่กลัวผู้ล่า เมื่อถูกจู่โจม ในฝูงจะช่วยกันสู้

ควายป่าใช้วิธีตั้งแถวเป็นกำแพงกันเจ้าตัวเล็ก

ส่วนกระทิงโตๆ ใช้ตีนหน้าอันทรงพลัง โจมตีนักล่า อย่างพวกหมาไน

ลูกกระทิงตัวเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อน มุดหัวกินนมแม่ ท่าทางน่าเอ็นดู

คือภาพอันพบเห็นได้เสมอ

ปลายฤดูฝน ต่อฤดูหนาว ในสายตาของคน นี่คือช่วงเวลาที่ป่าสวยงาม ทุกแห่งสดชื่น นกยูง เริ่มทดลองส่งเสียง และเตรียมหาทำเลเหมาะๆ ไว้รำแพน อวดความสวยงาม แข็งแรง

กระทิงตัวผู้เช่นกัน มันจะส่งเสียงกู่ร้องดังก้องป่าตั้งแต่บ่ายๆ จนถึงพลบค่ำ

ชีวิตใหม่ในฝูง ใช้เวลาไม่นานจะเติบโต พอที่จะพึ่งตัวเองได้

ความอุดมสมบูรณ์อยู่ไม่นาน ฤดูแล้งเข้าครอบคลุม

ไม่ผิดนัก หากจะพูดว่า การเป็นชีวิตในป่า มีหนทางให้เลือกไม่มาก

ดำรงชีพให้ผ่านพ้นความแห้งแล้ง

ฤดูฝนอันอุดมสมบูรณ์จะกลับมา

สำหรับสัตว์ป่า พวกมันไม่เคยสิ้นหวัง

ระยะเวลาในป่า ทำให้ผม “รู้” ในหลายสิ่งที่ไม่เคยรู้

ระยะเวลาเช่นกัน ทำให้ “รู้” ว่ายังไม่รู้อะไรเลย

“ชีวิตใหม่” ในป่า แสดงให้เห็นว่า การเรียนรู้และรับถ่ายทอดประสบการณ์ การดำเนินไปตามวิถีจำเป็น

และเมื่ออยู่ท่ามกลางความแห้งแล้ง

ต้องเชื่อมั่นว่า ความสมบูรณ์แห่งฤดูฝน ย่อมกลับมา