คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความซับซ้อน ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมมักใช้คำว่า พราหมณ์และฮินดูในความหมายเดียวกันนะครับ ใช้สลับไปมาตามแต่ใจผมเอง ท่านผู้อ่านทราบแล้วจะได้ไม่สับสน

ที่จริงนักวิชาการท่านมักแบ่งพราหมณ์-ฮินดูออกจากกัน ในแง่ของยุคสมัยและแกนของคำสอน ซึ่งจากพราหมณ์ค่อยๆ ปรับตัวมาเป็นฮินดูในช่วงระยะหลังพุทธกาลเล็กน้อย

แต่กระนั้นในบ้านเมืองเราใช้คำว่าพราหมณ์กันจนชินแล้ว

ครั้นศาสนาพราหมณ์ฮินดูแบบอินเดียเข้ามา เลยเรียกรวมกันว่า ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ในไทยนอกจากจะใช้เป็นชื่อศาสนา (เดิมใช้ไสยศาสน์) ยังหมายถึงกลุ่มคนผู้ทำหน้าที่ผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของราชสำนัก

ส่วนคนฮินดูอินเดียนั้น ไม่เรียกศาสนาของตนเองว่าฮินดูนะครับ เขามีคำเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สนาตนธรรม” แปลว่า ศาสนา (ธรรม) อันเก่าแก่ดั้งเดิม (สนาตนะ)

ชาวฮินดูเชื่อว่าศาสนาฮินดูนั้นมีความเก่าแก่มากย้อนไปถึงพระฤษียุคโบราณ ผู้จดจำพระเวทมาจากการเผยแสดงของเทพเจ้า แต่ถ้าเชื่อตามตำนานก็ย้อนไปถึงพระวิษณุเป็นประทานลงมาเองสืบสายมาเรื่อยๆ

จึงเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด

 

ส่วนคำ “ฮินดู” นั้นเป็นการเขียนตามการออกเสียง (Hindu) จะเขียนตามตัวอักษรก็ “หินทู” (ห ออกเสียงคล้าย ฮ, ส่วน ท ออกเสียงเป็น ด)

หินทู กลายมาจากคำ “สินธู” เป็นชื่อแม่น้ำสำคัญในอารยธรรมอินเดีย คือ แม่น้ำสินธุในแคว้นสินธ์ ในภาษาเปอร์เซียโบราณที่ใกล้ชิดกับสันสกฤตนั้น ส จะเลือนเป็น ห ได้ เช่น อสูร – อหูร จึงทำให้ สินธูกลายเป็นหินทู

เดิมคำว่าหินทูใช้เรียกกลุ่มคนที่อาศัยในลุ่มน้ำสินธุมากกว่าจะเรียกชื่อความเชื่อหรือศาสนา แล้วค่อยๆ กลายเป็นชื่อศาสนาอย่างไม่เป็นทางการในภายหลัง

คนฮินดู (ขอใช้แบบนี้เนื่องจากใช้กันจนเป็นที่ยอมรับแล้ว) ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องนิกายของศาสนาแต่อย่างใด นับถือในลักษณะประเพณีของครอบครัวหรือท้องถิ่นมากกว่า ทำสืบมาอย่างไรก็ทำแบบนั้น

ถ้าถามเขาว่านับถือนิกายอะไร เขามักตอบว่า ไม่มีหรอก ฉันก็เป็นฮินดูนี่แหละ

 

การแยกนิกายของศาสนาฮินดูมีหลายสาเหตุ ส่วนมากเกิดจากการตีความคำสอนที่แตกต่างกันซึ่งเป็นงานของปราชญ์และนักบวชชั้นสูงมากกว่าชาวบ้าน หรือไม่ก็เมื่อมีครูอาจารย์ซึ่งมีผู้เคารพนับถือมากก็แยกตัวออกไปเป็นนิกายของตนเอง ไม่ก็เกิดจากขบวนการปฏิรูปทางศาสนา

ผมเข้าใจว่า ก็เหมือนกับศาสนาอื่นๆ ศาสนาฮินดูเริ่มพัฒนาคำสอนทางปรัชญาที่ลึกซึ้งในช่วงพุทธกาลลงมา และเกิดแนวคิด “มหาเทพ” คือยกย่องเทพใดเทพหนึ่งเป็นสำคัญ การแบ่งนิกายจึงค่อยๆ เกิดขึ้น

แต่การแบ่งนิกายของฮินดูไม่เหมือนกับในยุโรป คือไม่ได้โฟกัสที่เรื่อง “ความเชื่อ” เป็นสำคัญ เพราะในศาสนาฮินดูเอง มีทั้งพวกที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวอย่างเอกเทวนิยม พวกที่นับถือเทพหลายองค์ (ซึ่งเรามักเข้าใจว่าฮินดูเป็นเช่นนี้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) พวกที่คิดว่าพระเจ้าแผ่ซ่านไปทั่วก็มี (สรรพเทวนิยม) เชื่อในสัจธรรมแบบนามธรรมก็มี

แม้แต่เป็น “อเทวนิยม” คือไม่นับถือพระเจ้าก็มี เช่น พวก “สางขยะ” พวกนี้คิดว่าเนื้อแท้ของสรรพสิ่ง เรียกว่าปุรุษะ มีจำนวนมากมายมหาศาล คล้ายๆ วิญญาณของสรรพสิ่ง พวกนี้ถือว่า โลกและจักรวาลเกิดจากวิวัฒนาการระหว่างปุรุษะ และ “ประกฤติ” (ธรรมชาติ) ไม่มีพระเจ้าเป็นผู้บงการหรือสร้าง

ฟังแล้วก็ประหลาดหน่อยนะครับว่าในความแตกต่างเหล่านี้ ต่างยอมรับกันและกันว่าเป็นฮินดูทั้งสิ้น ไม่ถึงกับด่านิกายอื่นว่านอกรีตนอกรอย

 

บางท่านจึงนิยามว่า ฮินดูเป็นวัฒนธรรมมากกว่าจะเป็นศาสนาในความหมายอย่างฝรั่ง บางท่านถึงกับนิยามศาสนาฮินดูว่า “ใครเผาศพก็น่าจะเรียกว่าฮินดู”

คือหากนับดูว่าศาสนาใดในโลกที่จัดการศพด้วยการเผา ล้วนแต่เป็นศาสนาที่มีกำเนิดในอินเดีย เช่น ฮินดู พุทธ ไชนะ สิกข์ ทั้งนี้ การจัดการศพด้วยการเผาสะท้อนแก่นแกนความคิดที่ทั้งสามศาสนานี้มีร่วมกัน เช่นความคิดเรื่องสังสารวัฏ ความไม่จีรังของสังขาร ความคิดเรื่องร่างกายดุจของที่พึงทิ้งไป ฯลฯ ซึ่งต่างจากศาสนากลุ่มอับราฮัม คือเชื่อเรื่องการคืนชีพจึงต้องรักษาศพไว้

แต่ในแง่นี้ก็อาจเป็นการเหมารวมไปสักหน่อย ว่าศาสนาต่างๆ ในอินเดียอยู่ในร่มฮินดูทั้งหมด นักคิดฝ่ายฮินดูมักเป็นเช่นนี้คือมองฮินดูในแง่วัฒนธรรมที่กว้างขวางของอินเดีย จึงพาไปเหมาศาสนาอื่นๆ ในอินเดียว่าเป็นฮินดูไปด้วย

แม้จะจะผิด แต่ก็มีส่วนถูกเล็กๆ อยู่บ้างนะครับ คือฮินดูนั้นคล้ายจะเป็นวัฒนธรรมมากกว่าศาสนาจริงๆ

 

บางท่านก็ว่า สิ่งที่ทำให้ศาสนาฮินดูแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ในอินเดียคือการยอมรับคัมภีร์ “พระเวท” ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ฝ่ายฮินดูนั้น มีคำเรียกหลักคำสอนหรือแนวปฏิบัติออกเป็นสองแบบ แบบแรกคือเรียกว่า “อาสติกะ” หมายถึง กลุ่มความคิดที่เชื่อในพระเวทซึ่งก็คือสำนักฮินดูฝ่ายต่างๆ กับ “นาสติกะ” ซึ่งคือผู้ที่ไม่ได้นับถือพระเวท เช่น พุทธศาสนา ศาสนาไชนะ ฯลฯ

แต่ในวรรณกรรมสันสกฤตโดยทั่วไปนั้น พวกนาสติกะหมายถึงพวกที่ไม่เชื่อบุญบาป ไม่เชื่อเรื่องกรรมอะไรทำนองนี้มากกว่าจะหมายถึงศาสนาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ฮินดู อาสติกะจึงมีความหมายกว้างๆ ทำนองพวกที่นับถือศาสนา มีศีลธรรมทางศาสนาอะไรทำนองนี้

จึงเป็นความยากลำบากพอสมควรสำหรับคนที่สนใจศาสนาฮินดู เมื่อถูกถามว่าศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประเภทใด เพราะมันซับซ้อนหลากหลาย ฟันธงไม่ได้ ผมเองก็มีปัญหาในทำนองนี้เมื่อต้องอธิบายให้ผู้อื่นฟัง

เนื่องจากฮินดูมีความสัมพันธ์กับศาสนาก่อนประวัติศาสตร์มาก จึงรับเอามรดกจากศาสนาก่อนประวัติศาสตร์ไว้ เช่น การบูชายัญ สัญลักษณ์ทางเพศ และพิธีกรรมหลากหลาย

แต่ในขณะเดียวกันก็มีพัฒนาการทางความคิดไปเยอะ มีสำนักทางปรัชญา ซึ่งที่จริงคือสำนักทางศาสนาไปด้วยในเวลาเดียวกัน

ถึงกับนักปรัชญาฝรั่งอย่างไฮเดกเกอร์ชื่นชมว่าปรัญาอินเดีย โดยเฉพาะที่ปรากฏในคัมภีร์อุปนิษัทนั้น เป็นจุดสูงสุดของความคิดมนุษย์

 

ความคิดทางปรัชญาชั้นสูงกับพิธีกรรมโบราณบางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง เช่น ถกเถียงกันมานานมากว่ายังจะต้องใช้ชีวิตสัตว์ในการบูชายัญอยู่ไหม

บางฝ่ายที่เห็นว่าควรรักษาพิธีกรรมก็เห็นว่ายังต้องใช้ ฝ่ายปฏิรูปและพัฒนาแนวคิดทางจริยธรรมเช่นเมตตาธรรมก็ว่าควรยกเลิกไป บางฝ่ายก็ประนีประนอม คือยังทำพิธีบูชายัญจำลอง แต่เปลี่ยนจากสัตว์มาเป็นฟักแฟงแทนก็มี

ถ้าท่านไปวัดแขกสีลมในช่วงนวราตรี ท่านก็จะได้เห็นพราหมณ์ท่านใช้มีดบูชายัญลูกฟัก สับออกเป็นสองท่อนแล้วเอาผงกุงกุมสีแดงทา ดุจมีเลือดออกมาจากสัตว์ เป็นการประนีประนอม

ความขัดแย้งเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา บรรดานิกายต่างๆ ของฮินดูในสมัยโบราณก็มีการทะเลาะกันบ้าง แต่โดยมากอยู่ในระดับการโต้วาทีวิวาทะ มีตั้งแต่ระดับส่วนตัวจนถึงเป็นงานใหญ่ที่จัดโดยรัฐ คือพระราชาเป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์การจัดงาน

เรียกว่านิยมโต้เถียงกันในเชิงหลักการ เหตุผล สามวันสามคืนก็ยังไหว กลายเป็นขนบธรรมเนียมในอินเดียว่าปราชญ์จะต้องแม่นยำและสามารถไปโต้เถียงกับคนอื่นเขาได้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรกับความขัดแย้งเชิงหลักการ

 

ที่สำคัญฮินดูไม่มีองค์กรปกครองส่วนกลาง ไม่มีแนวความเชื่อที่บังคับให้ต้องเชื่อเป็นแนวเดียว ครูใครครูมันตีความกันเองในแต่ละสำนัก

นอกจากนี้ ยังมีนิกายใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งแบบที่เป็นประเพณีนิยม เช่น นิกายสวามีนารายัณ ที่เพิ่งจะสถาปนาประมุขคนใหม่เป็นองค์ที่ 7 สืบต่อมาเท่านั้นเอง หรือนิกายที่ออกแนว “นิวเอจ” ก็มีอีกมาก

จะนับถือเทพองค์ไหน หรือไม่นับถือ จะนับครูท่านใด จะประพฤติอย่างไรก็นับว่าเป็นฮินดูได้ทั้งนั้น

ในหนังสือ All about Hinduism ของท่านสวามีศิวานันทะ ท่านบันทึกไว้ว่า การนิยามความหมายฮินดูนั้นมีหลากหลายเพียงใด มีหนึ่งนิยามที่อาจฟังดูแปลกแต่ตรงไปตรงมาที่สุด

“ใครเรียกตนเองว่าฮินดู คนนั้นคือฮินดู”

ผมอ่านแล้วก็ไม่รู้จะไปยังไงต่อ ลองพิจารณากันดูครับ