ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : “อินทร์แขวน” ศาสนสถานผีที่ถูกทำให้เป็นพุทธ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

พระธาตุ “อินทร์แขวน” หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า “ไจก์ทีโย” (แปลว่าพระเจดีย์ฉัตร) เป็นพระธาตุที่มีรูปลักษณะแปลกตากว่าพระธาตุเจดีย์อื่นๆ เพราะว่าเป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นอย่างลุ่นๆ บนหินก้อนใหญ่

แถมยังเป็นหินก้อนใหญ่ที่ตั้งอยู่บนหน้าผา ลักษณะท่าทางละล้าละลัง จะตกแหล่มิตกแหล่อีกต่างหาก

นิทานพระธาตุอินทร์แขวน มีเรื่องเล่าค่อนข้างยืดยาว และซับซ้อน

แต่นักเดินทางแสนโรแมนติค และเพียบไปด้วยความรู้อย่างคุณธีรภาพ โลหิตกุล ได้สรุปแก่นของเรื่องไว้อย่างกระชับ และเล่าไว้ได้อย่างน่าประทับใจ ไว้ในหนังสือเรื่อง ท่องแดนเจดีย์ไพรในพุกามประเทศ

จึงขอนำเรื่องพระธาตุอินทร์แขวนฉบับที่คุณธีรภาพสรุป มาเรียบเรียงแล้วเล่าสู่กันฟังอีกทอด

 

เมื่อ 2,000 ปีมาแล้วมีวิทยาธร (พม่าเรียก ซอว์จี) ตนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ของฤๅษีอาคมกล้าที่อาศัยอยู่ในป่าลึก

วิทยาธรตนนี้พบรักกับนางนาคตนหนึ่ง จนมีลูกด้วยกันหนึ่งคน (น่าแปลกที่ทำไมไม่เป็นหนึ่งตน?)

ฤๅษีช่วยเลี้ยงลูกของคู่รักคู่นี้จนเติบใหญ่เป็นเจ้าผู้ครองเมืองชื่อ พระเจ้าติสสะ

อยู่มาวันหนึ่งฤๅษีรู้ตนว่าถึงแก่กาลละสังขาร จึงมอบพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าที่ประทานแก่ฤๅษีไว้ เมื่อคราวที่พระพุทธองค์โปรดสัตว์ในถ้ำพระฤๅษี

พระฤๅษีซ่อนพระเกศาธาตุไว้ในมุ่นมวยผมของตนเองเป็นเวลานาน แต่ฤๅษีมีข้อแม้ว่า พระเจ้าติสสะจะต้องหาก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายศีรษะของพระฤๅษี แล้วสร้างพระเจดีย์ครอบทับพระเกศาธาตุอยู่บนหินก้อนนั้น จึงจะยอมยกพระเกศาธาตุให้

นิทานย่อมมีหลายสำนวน บางสำนวนเล่าว่า พระอินทร์ บางสำนวนก็ว่า นัต (คือผีศักดิ์สิทธิ์ ตามศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมของพม่า ซึ่งจะถูกผนวกเข้าไว้ในศาสนาพุทธในเวลาต่อมา) ตามมาช่วยพระเจ้าติสสะหาก้อนหินมาจากพื้นมหาสมุทร มา “แขวน” ไว้บนหน้าผา

และในขณะที่กำลังก่อสร้างเจดีย์อยู่นั้น พระเจ้าติสสะได้พบรักกับธิดาสาวของหัวหน้าชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนั้น เธอชื่อ “ชเวนันจิน”

ต่อมาเธอตั้งครรภ์แล้วป่วยกระเสาะกระแสะ เชื่อกันว่าเธอป่วยเพราะไม่ได้ไหว้ผีบรรพบุรุษก่อนแต่งงาน พระเจ้าติสสะจึงตรัสอนุญาตให้เธอกลับไปประกอบพิธี โดยมีพ่อและพี่ชายเดินทางไปเป็นเพื่อน

ระหว่างทางกลางป่าเขา นัตตนหนึ่งแปลงเป็นเสือร้ายกระโดดเข้าขวางทาง พ่อและพี่ชายหนีเตลิดหายไปหมด เหลือแต่เธอที่ท้องแก่วิ่งหนีไม่ไหว ได้แต่นั่งทำสมาธิสวดมนต์ภาวนา ตาจ้องไปที่พระธาตุอินทร์แขวนที่พระสวามีสร้าง

สุดท้ายเสือร้ายจึงจากไปโดยไม่ทำร้ายเธอเลย

ชเวนันจินกระเสือกกระสนปีนไปจนถึงฐานของพระธาตุอินทร์แขวน ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้อยู่ใกล้พระธาตุตลอดไป จากนั้นเธอก็สิ้นลมลงอย่างสงบ

พระเจ้าติสสะเมื่อติดตามมาถึงร่างเธอก็กลายเป็นหินไปเสียแล้ว

นับแต่บัดนั้นมาวิญญาณของชเวนันจิน ก็ได้กลายเป็นผู้พิทักษ์พระธาตุอินทร์แขวน

 

แน่นอนว่าหากคิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว คงไม่มีพระอินทร์ที่ไหนมาแขวนหินไว้บนหน้าผาแห่งนี้ ยิ่งคงจะไม่มีกษัตริย์ที่เกิดขึ้นมาจากพ่อแม่ที่เป็นวิทยาธรกับนางนาค หรือคนที่ตายลงแล้วกลายเป็นซากฟอสซิลได้ในทันที

แต่นิทานเรื่องนี้ก็ใช่เหลวไหลไร้สาระเสียทีเดียว

เพราะนิทานเรื่องนี้ยังมีร่องรอยเหลือให้เราเห็นว่า พื้นที่บริเวณโดยรอบของพระธาตุอินทร์แขวน เป็นพื้นที่ของกะเหรี่ยงมาแต่เดิม

ชาวกะเหรี่ยง โดยมากแต่เดิมจะไม่นับถือในพุทธศาสนา (ยิ่งไม่ต้องพูดถึงในสมัยที่สร้างพระธาตุอินทร์แขวน) แต่นับถือศาสนาดั้งเดิมของอุษาคเนย์คือ “ศาสนาผี” ที่มีร่องรอยของการนับถือหินก้อนใหญ่ หรือจัดการกับหินให้เกิดรูปทรง ซึ่งมีศัพท์วิชาการเรียกว่า “megalithic culture” และหลักฐานเก่าข้างไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่าง พงศาวดารเหนือ (ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวแถบ สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก ไม่ใช่ล้านนา) เรียกว่า “หินตั้ง”

การเข้ามาของพระเจ้าติสสะ พร้อมวัฒนธรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา อย่างพระเกศาธาตุ ได้จับบวชเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีของพวกกะเหรี่ยงอย่าง “หิน” ที่นัตเอามาแขวนก้อนนี้ กลายเป็น “เจดีย์” ที่พระอินทร์เอาหินมาแขวนไว้เป็นฐาน

ก็ขนาดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยดูแลรักษาพระธาตุองค์นี้ ยังเป็นธิดาของหัวหน้าพวกกะเหรี่ยงเลยนี่ครับ

 

ลักษณะอย่างนี้ก็พบอยู่ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน “หินตั้ง” จำนวนมากมายบนภูเขาหลายลูกในเขตเมืองโบราณอู่ทอง และปริมณฑล ไม่ว่าจะเป็น เขาพระ, เขาพุหางนาค, เขารางกะปิด, เขาถ้ำเสือ, เขาไข่เต่า และเขาดีสลัก เป็นอาทิ ต่างก็มีร่องรอยของการก่อเจดีย์ในวัฒนธรรมทวารวดี และรวมถึงในวัฒนธรรมอื่นที่กำเนิดขึ้นหลังจากนั้น อยู่บนหินตั้งหลายจุด

เพียงแต่หินตั้งที่เมืองอู่ทอง เป็นหินตั้งแบบที่ อ.ชิน อยู่ดี บิดาแห่งวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของไทย เรียกว่า หินตั้งประเภท “เนินหิน” (cairn) ต่างจากพระธาตุอินทร์แขวนที่ก่อทับบน “หินใหญ่” (megalith)

(นอกจากที่อู่ทองแล้ว ยังมีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ที่อื่นอีกด้วย เช่น วงหินกอง ที่แหล่งหินตั้งม่อนนะแฮ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ดูรายละเอียดได้ในหนังสือ “สร้างบ้านแปงเมือง” ของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2560)

อันที่จริงแล้ว ในอาณาบริเวณของพระธาตุอินทร์แขวน ยังมีการก่อพระเจดีย์ลงบนยอดของหินใหญ่อยู่อีกหลายจุด เพียงแต่หินใหญ่เหล่านั้นไม่ได้ตั้งอยู่อย่างหมิ่นเหม่อย่างองค์พระธาตุอินทร์แขวนเอง

และในปัจจุบันนี้ ไกด์ชาวพม่าต่างพากันเรียกหินใหญ่ ที่มีเจดีย์ก่อทับอยู่บนยอดเหล่านี้ว่าเป็น “พระธาตุอินทร์แขวนปลอม”

คำถามคือ “ปลอม” จริงหรือ? และจะปลอมไปทำไม?

 

ผมคิดว่าเราอาจอธิบายปรากฏการณ์นี้ในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน กลุ่มชนที่พยายามจับพวกกะเหรี่ยงบวชเป็นพุทธ

อาจจะจับหินใหญ่ก้อนอื่นๆ บวชขึ้นพร้อมกับพระธาตุอินทร์แขวนด้วย เพราะในบริเวณพระธาตุอินแขวน มีหินก้อนใหญ่อย่างนี้อยู่หลายจุด เพียงแต่จุดที่เรียกว่า พระธาตุอินทร์แขวน มีบุคลิก และลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นที่สุด

(แน่นอนว่าคำอธิบายนี้จะใช้การไม่ได้เลย หากหินใหญ่ก้อนอื่นๆ พวกนั้นถูกจับบวชเข้าพุทธ หลังจากธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มทำกำไรให้พระธาตุอินทร์แขวนเรียบร้อยแล้ว)

อย่างไรก็ตาม พระธาตุอินทร์แขวน (และนิทานเรื่องพระธาตุอินทร์แขวน) ก็เป็นตัวอย่างที่สำคัญของศาสนสถานผีที่ถูกจับบวชเข้าเป็นพุทธ ที่น่าจะเป็นที่รู้จักมากที่สุดในอุษาคเนย์