วิเคราะห์ : “อีวี” ยังมีอนาคตที่สดใส่อยู่หรือไม่?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ในห้วงปีใหม่ 2564 เชื่อว่าชาวโลกพากันคาดหวังให้ฝันร้ายจากวิกฤตการณ์โควิด-19 สลายไป หรือไม่ก็เชื้อไวรัสกลายพันธุ์เป็นเชื้อโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดธรรมดา ส่วนวัคซีนที่ผลิตขึ้นมาสามารถหยุดยั้งไวรัสมรณะได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อชีวิตจะได้กลับเข้าสู่ความเป็นปกติ

ในวงการสิ่งแวดล้อม คาดการณ์ว่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะมีทิศทางสดใสขึ้นในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หรืออีวี (Electric Vehicle) ซึ่งบ้านเรายังแค่ฝันลมๆ แล้งๆ นโยบายไม่เป็นโล้เป็นพายเพราะผู้บริหารประเทศไร้วิสัยทัศน์ขาดความชัดเจน

ขณะที่บ้านอื่นเมืองอื่นเดินหน้าโครงการอีวีไปไกลมากแล้ว

 

อย่างเช่นประเทศนอร์เวย์ ประกาศลั่นโลกว่า ภายในปี 2568 จะเลิกขายรถยนต์ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถอีวีหรือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนอย่างเต็มรูปแบบ

ทำไมนอร์เวย์มั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายได้แน่นอน?

ก็เพราะรัฐบาลนอร์เวย์ในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้วได้วางนโยบายเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ยุคสีเขียวลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกและดำเนินโครงการ “อีวี” อย่างเป็นขั้นเป็นตอน รัฐบาลสมัยต่อๆ มารับลูกสานต่อ เช่น นโยบายลดภาษีให้กับผู้ซื้อรถอีวี

ใครใช้รถอีวีในนอร์เวย์จะได้รับสิทธิพิเศษลดราคาให้ครึ่งหนึ่งถ้าจอดในที่จอดรถสาธารณะหรือวิ่งบนโทลล์เวย์

รัฐบาลนอร์เวย์วางโครงข่ายสถานีชาร์จแบตเตอรี่ทั่วประเทศ คนขับรถอีวีไม่ต้องกังวลว่าถ้าไปไกลๆ ในชนบทจะไม่มีที่ชาร์จ เพราะสถานีชาร์จไฟฟ้าในนอร์เวย์มีอยู่ทั้งหมด 1 หมื่นแห่ง

บางแห่งนั้นสามารถชาร์จไฟให้กับรถอีวีได้มากถึง 1,500 คันในเวลาเดียวกัน

 

ที่อังกฤษ ยืนยันในปี 2573 จะไม่ขายรถใช้เครื่องยนต์ดีเซลและเบนซินอีกต่อไป และยกเลิกการขายรถเครื่องยนต์ไฮบริดในปี 2578

ในอีก 14 ปีข้างหน้า รถยนต์ทั้งประเภทเก๋งและบรรทุกไร้การปล่อยก๊าซพิษจะแล่นกันขวักไขว่ทั่วเกาะอังกฤษ

รัฐบาลอังกฤษยังบอกอีกว่า จัดสรรเงินงบประมาณกว่า 1,800 ล้านปอนด์ หรือราว 73,000 ล้านบาท สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถอีวี เช่น สร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ระดับเวิลด์คลาส จัดงบฯ อุดหนุนผู้ซื้อรถอีวีใหม่ และสนับสนุนการวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ให้ชาร์จได้นานขึ้น เร็วขึ้น ประหยัดพลังงาน ราคาถูกลง

ปัจจุบันสถานีชาร์จแบตเตอรี่ในย่านที่พักอาศัยของอังกฤษมีอยู่กว่า 140,000 แห่ง ส่วนจุดชาร์จสาธารณะมีอยู่กว่า 19,000 แห่ง

เส้นทางของมอเตอร์เวย์และถนนสายหลักๆ มีสถานีชาร์จแบตเตอรี่แบบเร่งด่วนทุกๆ 40 กิโลเมตร เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวขับรถอีวีไปไกลๆ แล้วแบตหมด

ตั้งแต่นี้ไปคนใช้อีวีในอังกฤษได้สิทธิพิเศษจอดรถในที่จอดสาธารณะเสียค่าธรรมเนียมแค่ครึ่งราคา และแล่นผ่านเขตปลอดควันพิษ (zero-emission zones) ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

 

ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งประกาศห้ามขายรถยนต์ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลในปี 2578 พร้อมกับวางเป้าหมายให้ประเทศญี่ปุ่นปลอดควันพิษในปี 2593 หรือในอีก 30 ปีข้างหน้า

อีก 14 ปีจากนี้ใครบินไปสัมผัสเกาะญี่ปุ่น จะเห็นรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า ใช้เครื่องยนต์ไฮบริดและพลังงานไฮโดรเจนเท่านั้นที่ได้แล่นบนถนน

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งมีแหล่งน้ำมันสำรองใต้ดินกว่า 22 หมื่นล้านบาร์เรลมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกยังมองว่า แม้ในอนาคตน้ำมันจะยังไม่หมดไปจากโลก แต่การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศจะผลักให้ชาวโลกลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ต่อจากนี้อีวีคือยานพาหนะของโลก เข้ามาทดแทนรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยเบนซินและดีเซล

รัฐบาลยูเออีวางแผนลงทุนในโครงการพลังงานสีเขียว ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการก่อสร้างบ้านเรือนที่พักอาศัยเพื่อประหยัดพลังงาน

และยังสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่อาบูดาบี ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 1,100 เมกะวัตต์

 

ตั้งแต่ราคาแบตเตอรี่ลิเธียม-อิออนที่ใช้ในรถอีวีมีราคาถูกลง รถอีวีมียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ช่วง 1 ทศวรรษตลาดรถยนต์อีวีเติบโตมากถึง 87 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2553 รถอีวีวิ่งบนถนนทั่วโลกเพียง 17,000 คัน แต่ในปี 2562 มีรถอีวีทั้งหมด 7.2 ล้านคัน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งวิ่งบนถนนในเมืองจีน

ปีนี้เฉพาะเดือนตุลาคมที่ผ่านมายอดขายรถอีวีทั่วโลกพุ่งกระฉูด 127 เปอร์เซ็นต์ บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ๆ ต่างพากันทุ่มวิจัยพัฒนารถอีวี

บริษัทโฟล์กสวาเกนเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก พลิกเกมใหม่ในตลาดอีวีด้วยการระดมเงินจำนวนมากถึง 86,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราวๆ 2.6 ล้านล้านบาท) เพื่อผลิตรถยนต์พลังงานสะอาดออกขายทั่วโลกในช่วง 5 ปีต่อจากนี้

บริษัทแอปเปิ้ล ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือก็ซุ่มวางแผนผลิตรถอีวีมาตั้งแต่ 7 ปีก่อน ใช้ชื่อโครงการว่า “ไททัน” เริ่มแรกก็ได้ไอเดียเอาซากรถเก่ามาปลุกชีพเป็นรถอีวี

ในภายหลังหันมาเน้นวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ “ลิเธียม ไอรอน ฟอสเฟต” (lithium iron phosphate) ให้อีวีวิ่งได้นาน กินไฟน้อย ปล่อยมลพิษต่ำและมีซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยในการควบคุมบังคับรถอีวีไร้คนขับ

หุ้นบริษัทเทสลา ผู้ผลิตรถอีวีรายใหญ่ของโลก เดี๋ยวนี้กลายเป็นขวัญใจนักลงทุนที่เชื่อว่ารถอีวีจะเป็นสินค้ายอดนิยม หุ้นของบรรดาบริษัทสตาร์ตอัพและผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับบริษัทผลิตรถอีวี รวมถึงโรงงานผลิตแท่นชาร์จแบตเตอรี่ ก็กลายเป็นหุ้นยอดฮิตเช่นกัน

นักวิเคราะห์คาดว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะมีราคาเท่ากับรถยนต์ใช้น้ำมันดีเซล เบนซิน หรือก๊าซ ดีไม่ดีอาจจะถูกกว่าเสียด้วยซ้ำเพราะค่าบำรุงรักษารถไฟฟ้าต่ำมาก

มองอนาคต “อีวี” ของบ้านอื่นเมืองอื่นแล้ว หันมาดูบ้านเราก็ได้แต่นั่งตาปริบๆ เพียงเท่านั้นเอง