ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 มกราคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
เป็นธรรมเนียมประจำทุกปี ของสื่อทำเนียบรัฐบาล และประจำรัฐสภา ที่จะตั้งฉายาให้นักการเมืองในช่วงปีใหม่ แม้จะว่างเว้นมา 6 ปี โดยสื่องดตั้งฉายาในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเพิ่งกลับมาตั้งใหม่อีกครั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา กับฉายา “รัฐบาลเชียงกง” และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ได้รับฉายา “อิเหนาเมาหมัด”
ส่วนในปีนี้ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลให้สมญานามรัฐบาลว่า “VERY กู้” เพราะขยันกู้มาตลอด และล่าสุด ต้องกู้เพื่อมากอบกู้วิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นำมาใช้กับมาตรการต่างๆ
ในขณะที่ฉายา “บิ๊กตู่” ในปีนี้ จะเป็นการหยิกแกมหยอก กับฉายา “ตู่ไม่รู้ล้ม” เพราะไม่ว่าจะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ขนาดไหนก็ทำร้าย “บิ๊กตู่” ไม่ได้ เพราะล่าสุดประเด็นบ้านพักในค่ายทหาร ก็ผ่านพ้นมาด้วยดี
ส่วน “พี่ใหญ่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายา “ป้อมไม่รู้โรย” เพราะมักตอบคำถาม ไม่รู้ๆๆ อยู่เป็นประจำ
สำหรับกูรูกฎหมายอย่างวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ฉายา “ไฮเตอร์ เซอร์วิส” เนื่องจากมักอาศัยช่องว่างทางกฎหมายได้อย่างเชี่ยวชาญ เปรียบได้กับผลิตภัณฑ์ซักฟอกขาวยี่ห้อดัง ที่สามารถล้างคราบสกปรกให้ขาวสะอาดหมดจดได้ แต่อาจทำให้เนื้อผ้าเสียหาย ขาดความสวยงาม คล้ายกับชื่อเสียงของรัฐบาลที่สึกกร่อนตามไปด้วย
“หมอหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับสมญา “ทินเนอร์” เพราะทินเนอร์เป็นสารระเหยที่มีทั้งคุณและโทษ ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากสูดดมเข้าไปมาก อาจทำลายระบบประสาท กระทบกระเทือนความรู้สึกนึกคิด คล้ายพฤติกรรมการใช้คำพูดที่ขาดความยั้งคิด ส่งผลลบต่อตัวเองและรัฐบาล โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์จนเป็นประเด็นลดความน่าเชื่อถือของตนเองลง
ด้าน “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับฉายา “เช้าสายบ่ายเคลม” เพราะสื่อทำเนียบระบุว่า มักจะมาสาย และมักเคลมผลงานที่ดีเสมอ
ขณะที่สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับฉายา “ค้างคลัง” เพราะถึงแม้จะเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ก็ไปไม่ถึงฝั่ง ต้องฝันค้างอยู่กับตำแหน่งเดิม
สำหรับ “เสี่ยโอ๋” ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับฉายา “ศักดิ์สบายสายเขียว” เพราะไม่ว่าจะอย่างไรรถไฟฟ้าสายสีเขียวก็คงไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ได้ง่ายๆ แน่นอน
ส่วน “รมว.บี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับฉายา “พัง PORN” ที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย เพราะหลังสั่งปิดการเข้าถึงเว็บไซต์ปลุกใจเสือป่าชื่อดัง จนเกิดกระแสต่อต้านลุกลามบานปลาย
ด้าน “ครูตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับฉายา “หวีดดับ” ตามภาพลักษณ์แกนนำ กปปส. ที่ไม่อาจลบเลือนได้ และยังไม่มีผลงานโดดเด่นปรากฏให้เห็น มีเพียงข่าวกระแสต่อต้านรายวัน หนักหน่วงที่สุดคือ ถูกกลุ่มนักเรียน-นักศึกษารวมตัวขับไล่
ส่วน “รมช.บิ๊กอาย” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ครอง “แชมป์ไตรกีฬา” โดยสื่อให้เหตุผลว่า ไตรกีฬา ประกอบด้วยกีฬา 3 ชนิด คือ วิ่ง ว่ายน้ำ และปั่นจักรยาน สะท้อนภาพลักษณ์ได้ครบถ้วนชัดเจน ทั้งการวิ่งเต้น การเข้าหาผู้ใหญ่ จนก้าวจากโฆษกรัฐบาลขึ้นเป็นรัฐมนตรีได้สำเร็จ
ขณะที่วาทะแห่งปี คือ “ไม่ออก… แล้วผมทำผิดอะไรหรือ” ซึ่งเป็นคำกล่าวของ “บิ๊กตู่” ที่ตอบข้อซักถามสื่อมวลชน พร้อมกับบรรดา ครม.ที่ยืนเรียงหน้าประกาศความเหนียวแน่น เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังกลุ่มผู้ชุมนุมยื่นข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง
ทางด้านผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ก็สร้างความจี๊ดจ๊าด ดุเด็ดเผ็ดมันไม่แพ้กัน โดยตั้งฉายาสภาผู้แทนราษฎรว่าเป็น “ปลวกจมปลัก” เพราะทำงานเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง และยังไม่ให้ความสำคัญกับการประชุมสภา
ส่วนวุฒิสภา เจ็บจี๊ดยิ่งกว่าเพราะได้ฉายา “สภาปรสิต” ที่ไม่มีผลงานที่ทำให้มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และมีอยู่ไปวันๆ อีกทั้งยังสร้างเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญให้ยืดเยื้อออกไป
สำหรับอดีตฉายา “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” ของ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปีนี้ได้ฉายา “ครูใหญ่ไม้เรียวหัก” ที่ไม่สามารถควบคุมการประชุมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ อีกทั้งยังเกิดเหตุการณ์สภาล่มอยู่บ่อยครั้ง
ขณะที่ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา ได้ฉายาแรงไม่แพ้ ส.ว. กับสมญา “หัวตอ รอออเดอร์” เพราะไม่สามารถควบคุมการประชุมรัฐสภาให้สงบได้ อีกทั้งสมาชิกรัฐสภาก็ไม่ค่อยให้ความยำเกรง และทำงานตามที่สั่งเท่านั้น
ส่วนผู้นำฝ่ายค้าน “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ได้ฉายา “สุทิน คลังแสง?” เพราะไม่มีผลงานที่โดดเด่น ต่างจากนายสุทิน ที่ทำหน้าที่ประธานวิปฝ่ายค้าน มีผลงานให้เห็นโดดเด่นในสภามากกว่า นอกจากนี้ “สุทิน” ยังได้รับตำแหน่ง “ดาวเด่นแห่งปี” ด้วยมติเอกฉันท์
สำหรับ “ดาวดับแห่งปี” ตกเป็นของ “วิสาร เตชะธีราวัฒน์” ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่กรีดแขนโชว์กลางสภา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาทางการเมือง แต่กลับเป็นการสร้างความหวาดเสียวให้กับทั้งคนในสภาและนอกสภาที่รับชมการถ่ายทอดสดอยู่ ณ ขณะนั้น
ขณะที่ “คู่กัดแห่งปี” จะเป็นคู่ไหนไปไม่ได้นอกจาก “สิระ เจนจาคะ” และ “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” ที่ปะทะคารม ทั้งกรณีกล้วยหมด ไปจนจึงการโพสต์เฟซบุ๊ก “เจอสิระที่ไหนจะเอาให้ฟันร่วงหมดปาก” ของเต้ พระราม 7 จนหวิดได้วางมวยกัน
ส่วนเหตุการณ์แห่งปี หนีไม่พ้น “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากมาก อีกทั้ง ส.ว.ยังได้มีการเตะถ่วงตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาใหม่ หลังจากที่ฝั่งสภาได้ตั้งกรรมาธิการศึกษาไปแล้ว และขณะนี้ยังอยู่ในกรรมาธิการ ยังชุลมุนอยู่กับการแก้มาตรา 256 ที่ยังไปไม่ถึงไหน ทั้งที่ประชุมล่ม ทั้งเลื่อนการประชุมจนไม่รู้จะเสร็จตามกรอบ 45 วันตามที่กำหนดหรือไม่ อีกทั้งผู้ชุมนุมคณะราษฎรยังให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ในเงื่อนไขหลักของการเรียกร้อง
ด้านวาทะแห่งปี ได้แก่ “มันคือแป้ง” โดยเป็นคำกล่าวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ หลังถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดข้ามชาติในอดีต
สำหรับฉายาของ “คนดีศรีสภา” ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาขอยกเลิกตำแหน่งนี้ถาวร โดยให้เหตุผลว่า
“เป็นเวลาหลายปีแล้วที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาไม่ได้มอบตำแหน่งคนดีศรีสภาให้กับสมาชิกรัฐสภา เนื่องจากท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนใดที่จะเป็นแบบตัวอย่างที่ดีในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น จึงมีความเห็นร่วมกันว่าสมควรยกเลิกตำแหน่งนี้เป็นการถาวร จนกว่าในอนาคตจะมีสมาชิกรัฐสภาที่มีความประพฤติที่เหมาะสม”