อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ / ก้าวสู่ปี 2021 : อาเซียนไปทางไหน?

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

มองออกไปใกล้บ้านตัวเองสักนิด ไม่มีอะไรสำคัญเท่าอาเซียน

ทว่าไทยยังทำอะไรกับอาเซียนได้บ้างอย่างน้อยในปีหน้า

น่าคิด

 

คำเตือนกึกก้อง

ไม่ค่อยมีใครทราบนัก เดือนตุลาคมปีที่แล้วมีการประชุมโต๊ะกลมดิจิตอลสาธารณะของเหล่าผู้รู้ดีอาเซียน มีคำกล่าวจากอดีตทูตอาวุโสทำนองว่า

“…สักวันหนึ่งอาเซียนต้องขับกัมพูชาและ สปป.ลาวออกจากอาเซียน ด้วยทั้งสองประเทศใกล้ชิดกับจีน…”

แถมยังมีเอกสารบางชิ้นยกประเด็นอ่อนไหวแต่ตรงกับความจริงของอาเซียนที่ว่า

“…ความเป็นกลางไม่ได้หมายความว่าวาง (บทบาท-ขยายความโดยผู้เขียน) อยู่ต่ำๆ และหวังสิ่งที่ดีที่สุดไว้…”

ไม่ทราบว่ารายงานหมายถึงใคร ทว่า ตัวแทนจีนและกัมพูชาถึงกับประสาทรับประทาน แล้วต่างรีบเกทับอย่างรวดเร็วในวงประชุมโต๊ะกลมดิจิตอลสาธารณะเลยทีเดียว

เรียกได้ว่า ทูตปากกว้างลืมบุคลิกสง่างามทางการทูต หันไปปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติและอาเซียนตามทิศทางความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตรงไปตรงมา

 

บริบทอาเซียนใหม่และจีนใหม่

เราต้องทำความเข้าใจว่า เวทีประชุมโต๊ะกลมนี้ช่วย เปิด ประเด็นสำคัญของอาเซียนที่เคยซุกซ่อนอยู่มาตลอด ซึ่งก่อตัวขึ้นภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และของโลก

เราควรเข้าใจว่า อาเซียนอุบัติเมื่อปี 1967 ก่อตั้งโดยไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์เพื่อสกัดกั้นคอมมิวนิสต์

ช่วงนั้นนับว่าอาเซียนและบริบทนั้นเหมาะสมในช่วงระยะเวลานาน 25 ปี จนทศวรรษ 1990 เมื่อเวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา สุดท้ายกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน หลังจากที่ประเทศบรูไนดารุสซาลามเป็นสมาชิกอาเซียนในปี 1984

นับเป็นยุคสิ้นสุด “ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์แนวทางของโซเวียต” สภาวะของโลกดังกล่าวได้เปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับตัวเองของอาเซียน

อาเซียนยังต้องเผชิญโลกที่ท้าทายด้วยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากโลกใหม่ไร้ระเบียบหลายขั้ว (new multipolar world (dis) order)

นับแต่นั้นมา อาเซียนพยายามอย่างมากพัฒนาพื้นฐานร่วมกัน เพื่อรักษามรดกพลังที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนเอาไว้ ในขณะที่ผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียนพัฒนาขึ้นช่วงนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาค (regional economic cooperation) อันนำไปสู่การสถาปนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Cooperation-AEC) ในปี 2015

รวมไปถึงความร่วมมือในประเด็นอื่นๆ ที่นำไปสู่บทบาทอันดีด้านการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศของอาเซียน ความสำเร็จทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศยุคนี้นำไปสู่คำขวัญสวยหรูคือ หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม หรือ One Vision, One Identity, One Community

ทว่า ปรากฏว่าสิ่งนี้ล้วนเป็นแค่คำสัญญามากกว่าความเป็นจริง

ระหว่างทางที่กล่าวมา อาเซียนทั้งถูกคาดหวังและอยากเป็นเองด้วยคือ อยากเหมือนสหภาพยุโรปในแง่การบูรณาการ

ทว่า การแบ่งแยกผลประโยชน์ทางภูมิยุทธศาสตร์ (Geo-Strategic) ของสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศนับว่ายังห่างไกลจากความต้องการของแต่ละประเทศสมาชิก

ที่สำคัญดูเหมือนผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โกหกตัวเอง โดยไม่เห็นความสำคัญของความจริงแห่งผลประโยชน์ทางภูมิยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ

 

อาเซียนของเรา

คงไม่เกินจริงนัก หากผมจะกล่าวว่า ตอนนี้อาเซียนไม่ใช่ของเราและไม่ใช่ของประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว ด้วยความใฝ่ฝันของการบูรณาการทางเศรษฐกิจภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จมากมาย ความใฝ่ฝันนี้ปั่นป่วนจนจบลงในปี 2012 อันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การประชุมสุดยอดของอาเซียน (เขาเรียกว่า อาเซียนซัมมิต) จบลงในปีนี้โดยไม่มี แถลงการณ์ร่วม (Common/Joint Communique)

การไม่มีแถลงการณ์ร่วมมิใช่การดัดจริตเชิงพิธีการการทูต นี่ไม่ใช่ประเด็นเล็กๆ เวลานั้น ไม่ใช่กัมพูชาเป็นเพียงประเทศเจ้าภาพเท่านั้น ทว่า กัมพูชาเป็นจักรกลสู่ความล้มเหลวนี้เลยทีเดียว

การสกัดกั้นไม่ให้มีแถลงการณ์ร่วม เพราะมีการจัดอันดับความทะเยอทะยานทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจภายนอกภูมิภาค อยู่เหนือผลประโยชน์แท้จริงด้านความมั่นคงของเหล่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค

ด้วยหลักการ ไม่เป็นเอกฉันท์ (unianimity) ตามการตัดสินใจของอาเซียน ประเทศใดมีสิทธิวีโต้ประเด็นใดก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากกัมพูชาพึ่งพาความช่วยเหลืออย่างไม่มีเงื่อนไขและอย่างไม่เป็นทางการจากจีน

กลายเป็นว่า จีนกลายเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของอาเซียน เราจะเห็นได้ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ด้วยความช่วยเหลือการพัฒนาอย่างมากจากจีน สปป.ลาวกลายเป็นประตูเข้า-ออกของจีนสู่อาเซียนไปแล้ว

ไม่มีอะไรซ่อนเร้นเลย แรงผลักดันหลักของจีนต่อการกระทำต่ออาเซียนโดยผ่านกัมพูชาและ สปป.ลาววางอยู่บนภาคพื้นสมุทรที่อ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ในทะเลจีนใต้ พื้นที่ที่ซ้อนทับความเป็นเจ้าของของประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนามและฟิลิปปินส์ รวมทั้งพื้นที่ของมาเลเซียและบรูไนด้วย น่าสนใจ

เวลานี้จีนลากเส้นแผนที่ของจีนในทะเลจีนใต้ ดันไปเชื่อมต่อกับพื้นที่บางส่วนของอินโดนีเซียได้ด้วย เช่น หมู่เกาะบางแห่งของอินโดนีเซียน่าสนใจ หมู่เกาะของอินโดนีเซียที่ว่านั้นอุดมด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกด้วย ช่างบังเอิญเหลือเกิน

น่าสนใจ ไม่มีอะไรเป็นความลับเลย ทางการจีนไม่ได้ใช้วิธีการเจรจาแบบพหุภาคี กับปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

ตรงกันข้าม กลับใช้การเจรจาทวิภาคี เจรจาไปกดดันไปให้โน่นให้นี่ไปเรื่อยๆ จีนชอบ ฉลาดจัง

 

แล้วอาเซียนเป็นอะไร?

ยิ่งนานวันเข้า อาเซียนยิ่งมีความสำคัญต่อภูมิภาคและโลกทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ประเทศมหาอำนาจต่างมีข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนกับอาเซียน

ประเทศมหาอำนาจไม่เคยพลาดการประชุมร่วมในเวทีอาเซียนด้านความมั่นคงดังจะเห็นได้ในคราวการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับนานาชาติล่าสุด ธันวาคมปีที่แล้ว ไทยเองทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมให้ความสำคัญและผลักดันประเด็นวาระต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตนเองและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม อาเซียนที่มีมหาอำนาจนอกภูมิภาคเป็นสมาชิกทางการผ่านช่องทางทางธรรมชาติในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงภาคพื้นทวีปได้สร้างทั้งแรงกดดันทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดจากที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและนานาชาติล่าสุดคือ ประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สะท้อนความจริงแห่งอาเซียนปัจจุบัน

อีกทั้งยังดึงเอาไทยที่พยายามวางตัว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ มาเป็นเวลานานให้พลัดหลงเข้าไปในวังวนของการเผชิญหน้าของชาติมหาอำนาจโลก

พัฒนาการที่เกาะกง กัมพูชา ไม่ได้เพียงใกล้จังหวัดตราดของไทยนิดเดียว ทว่า ท่าเรือน้ำลึกเกาะกงชนิดอเนกประสงค์ที่ผันเป็นท่าเรือรบได้ เตือนไทยตื่นจากมิติภายในทั้งมวลสู่อาเซียน-ไทยในมิติใหม่แล้ว

อาเซียน-ไทยมิติใหม่คือสิ่งที่รอเราอยู่แล้ว