ศิลปะบัณฑิต (หญิง) คนแรก ของคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) (พ.ศ.2559)

เคยย้อนคิดคำนึงถึงอาจารย์ “ลาวัณย์ (ดาวราย) อุปอินทร์” ที่เคยสอนจากสถานศึกษาเก่ามาครั้งหนึ่งเมื่อสัก 3-4 ปีที่ผ่านมา เมื่อท่านได้รับการเชิดชูเกียติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ.2559

ท่านสอนวิชาวาดเส้น (Drawing) คนแรกเมื่อได้ย่างก้าวสู่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ รุ่นที่ 11 เข้าศึกษาก่อนลูกศิษย์ถึง 11 ปี แต่ยังสามารถเรียกว่ารุ่นพี่ได้ อาจารย์จึงทันได้เรียนกับท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof.Corrado Feroci) ซึ่งมีนโยบายหว่านเมล็ดพันธุ์ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย

อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้คัดเลือกศิษย์รุ่นแรกๆ ที่ท่านได้สอนสั่งมาจนมีฝีมือเชี่ยวชาญขั้นสูงพอที่จะเป็นตัวแทนเพื่อช่วยกันสอนนักศึกษาของคณะจิตรกรรมฯ ต่อไปได้จากวันนั้นจนถึงวันนี้นับเวลาการก่อตั้งมาได้ใกล้ 80 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากรเจริญเติบโตก้าวหน้าแตกกิ่งก้านสาขามากมายดังที่ปรากฏ

ย้อนคิดคำนึงถึงหนหลังรู้สึกมีความสุขเป็นอย่างมากเนื่องจากได้ศึกษาเล่าเรียนในสาขาวิชาที่รักชอบพอ

ยิ่งกว่านั้นยังมีอาจารย์สอนวิชาวาดเส้นซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหัวใจ เป็นไวยากรณ์ของการศึกษาวิชาศิลปะ ที่เพิ่งจะจบการศึกษามาแนะนำสั่งสอน ท่านเป็นอาจารย์สาวที่มีบุคลิกเด่น หน้าตาสะสวย แต่งตัวดีมีรสนิยมทันสมัย

 

ทราบว่าอาจารย์เป็นคนที่มีชาติตระกูลมาจากครอบครัวที่อบอุ่นมีฐานะทางสังคม ถ้าหากจำไม่ผิดบิดาของท่านเป็นทหารใหญ่ของกองทัพเรือไทยซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างกับนักศึกษาส่วนมากในสาขาวิชาศิลปะที่มักประชดประชันกันเองว่าพกพามาแต่ความยากจนจากบ้านนอกคอกนาเสียเป็นส่วนมาก

ติดตามต่อมาปรากฏว่าอาจารย์เป็นบัณฑิตหญิงคนแรกของคณะจิตรกรรมฯ โดยท่านเคยเขียนเล่าเรื่องการเรียนว่าสามารถทำคะแนนได้เรียนต่อปริญญาทั้งจิตรกรรม และประติมากรรม แต่ด้วยร่างกายไม่เอื้ออำนวยหลังจากเชื่อฟังอาจารย์ศิลป์เข้าไปเรียนปั้น (Sculture) อยู่สักระยะหนึ่งจึงเปลี่ยนกลับมาเรียนเพ้นติ้ง (Painting) จนสำเร็จปริญญา

ท่านเขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” ท่อนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าโชคดี หนำซ้ำคะแนนทั้ง Paint และปั้น (Sculture) ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ทั้ง 2 อย่าง มีสิทธิ์เลือกเรียนอะไรก็ได้ ตอนนั้นอาจารย์ศิลป์ให้เลือกว่าจะเอาอะไรแน่ ความที่ข้าพเจ้าไม่เอาไหน ตัดสินใจไม่ถูก อาจารย์ก็ใส่ไฟว่า

“หนู ถ้าอยากเรียนเป็นช่างปั้นก็ดีนะ คิดดูซีหนูเป็นผู้หญิงรูปร่างบางๆ อย่างนี้ แล้วทำอนุสาวรีย์ หรือปั้นอะไรใหญ่ๆ มันจะน่าทึ่งขนาดไหน”–“

 

ผมได้เรียนวาดเส้นกับอาจารย์ลาวัณย์ (ดาวราย) อุปอินทร์ เพียงระยะสั้นๆ แค่ชั้นปีที่หนึ่งเท่านั้น แต่มีความรู้สึกเหมือนสนิทสนมกับท่านพอสมควร ซึ่งคงสืบเนื่องมาจากจำนวนนักศึกษาของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ขณะนั้นมีจำนวนน้อยจริงๆ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-5 คิดว่าไม่เกิน 100 คน

อาจารย์เป็นคนตรงไปตรงมา มีความคิดจุดยืนที่แน่นอนมั่นคง พูดจาพาทีไม่อ้อมค้อม จนกระทั่งบางครั้งเกิดการขัดอกขัดใจนโยบายสวนทางกันกับเหล่าอาจารย์ ร่วมคณะร่วมสมัยกับท่านบ้าง

อาจารย์รุ่นพี่ๆ พวกอนุรักษนิยมขวาจัดๆ ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ความแตกต่างที่สามารถควรจะอยู่ร่วมกันได้

จำได้อีกว่าหลายปีต่อมาหลังจากที่ผมสำเร็จการศึกษาออกมาประกอบอาชีพสื่อมวลชน ได้มีความขัดแย้งทางความคิดของอาจารย์ในคณะจิตรกรรมฯ แยกแตกเป็นฝักฝ่ายจนกระทั่งต้องเปลี่ยนแปลงแยกย้ายกันไปตามเส้นทาง ก็คงจะสืบเนื่องมาจากท่านมีแนวความคิดที่ค่อนข้างก้าวหน้าใน พ.ศ.นั้น

อาจารย์เคลื่อนไหวแบบเป็นนักกิจกรรมทางสังคมและการเมือง จนนับได้ว่ามีบทบาทสำคัญไม่น้อยในสังคมของคนทำงานศิลปะด้านการเมืองจนกระทั่งเป็นที่ยอมรับ และได้รางวัลต่างๆ นานา ไม่นับผลงานทางด้านศิลปะที่ท่านมิได้หยุดนิ่ง ยังมีการสร้างผลงานออกสู่สายตาประชาชนด้วยการเปิดนิทรรศการต่อเนื่องไม่ขาดหาย

ท่านได้รับพระราชทานปริญญาศิลปบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาประยุกต์ศิลป์ศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร

แต่อาจารย์ต้องลาจากคณะจิตรกรรมฯ ในปี พ.ศ.2517 ไปสังกัดภาควิชาศิลปประยุกต์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

สําหรับผลงานต่างๆ ล้วนเป็นที่ประจักษ์ระหว่างที่ได้ศึกษาอยู่ในคณะจิตรกรรมฯ แม้จะได้เป็นศิษย์อาจารย์กันเพียงแค่ปีเดียว แต่ได้ติดตามรับรู้ความคิดการสร้างสรรค์งานของท่าน ส่วนที่ติดอยู่ในความทรงจำอันยาวนานมากระทั่งทุกวันนี้เห็นจะเป็นภาพเหมือน (Portrait) ซึ่งอยู่ในระดับเคยได้รับเหรียญรางวัลในงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ และ ฯลฯ

อาจเป็นเพราะอาจารย์ลาวัณย์มีแนวคิดเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งมักสวนทางกับแวดวงของคนศึกษาเล่าเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่โน้มเอียงไปทางอนุรักษนิยมขวาสุดขั้ว ซึ่งได้กุมอำนาจในทางบริหาร และกรรมการต่างๆ ปรากฏว่ากว่าจะได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ เวลาจึงเดินทางมาถึงปี พ.ศ.2559

ทั้งๆ ที่รุ่นลูกศิษย์ ลูกหลานของท่านเรียงหน้ากันเป็นศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) ติดตามกันมาเป็นทิวแถว

เขียนซ้ำอีกสักหนหลังจากได้เคยพูดคุยกันในแวดวงการศึกษาศิลปะ ศิลปินน้อยใหญ่ทั้งหลายที่ต่างกล่าวเหมือนกันว่า “–การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ เราอย่าไปยุ่งกับเขาดีกว่าเพราะวิธีการขั้นตอนค่อนข้างสลับซับซ้อนลึกลับพอสมควรทีเดียว”

ฉะนั้น ในปีหลังๆ กระทั่งถึงปัจจุบันจึงไม่ค่อยตื่นเต้นสักเท่าไรนักกับรายชื่อศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ บางคนไม่น่าจะได้รับเกียรตินี้กลับได้แซงหน้าศิลปินเก่งๆ คนดีมีฝีมือไปเฉยๆ

เคยถามคนที่มีบทบาทในคณะกรรมการเหมือนกันก็ได้รับคำตอบว่า “เขาได้ศิลปินแห่งชาติคนนั้น คนนี้ผลักดันหนุนหลัง”

ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอย่างนี้เกิดขึ้น

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร บางคนเรียกตัวเองว่าศิลปินเพื่อชีวิต เขียนหนังสือบทสองบท นิสัยใจคอค่อนข้างกักขฬะเลวได้ใจ เพื่อนพ้องต่างระอา แต่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

บางคนเกิดมาไม่เคยเขียนเพลง ได้แต่ร้องเพลงคนอื่นเขาแต่ง และรับงานแสดง แต่กลับได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

เคยเปรยๆ คล้ายเสนอแนะว่า ถ้าปีไหนมันขุดค้นหาใครมาเป็นศิลปินแห่งชาติไม่ครบถ้วนสาขา จะเว้นไปบ้างได้ไหม? ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

 

ระยะหลังๆ เกิดความแตกแยกทางความคิด มีความเห็นต่างทางการเมือง เกิดนักร้อง (เรียน) ทั้งหลายมากมายซึ่งสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) เปิดประเด็นว่าให้ถอดศิลปินแห่งชาติ ที่คิดต่างจากพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (ปี พ.ศ.2554) ซึ่งต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

เกิดการถกเถียงกันว่า ความเป็นศิลปินมันมาจากความรู้สึกนึกคิด มาจากข้างในตั้งแต่เกิด จะไปถอดถอนได้อย่างไร?

จะถอดก็เพียงคำประกาศ และเงินตอบแทนรายเดือนกับสิทธิประโยชน์อื่น ชื่อเสียงเกียรติยศที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศเชิดชูแค่นั้น แต่ความเป็น “ศิลปิน” คงถอดไม่ได้

มีคำถามว่าจะเสนอถอดเพียงเพราะเขามีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง และต่อต้านรัฐบาลที่มีที่มาแปลกๆ บริหารประเทศแบบ “ประชาธิปไตยจอมปลอม” หรือว่าเขาไปชูสามนิ้วเห็นด้วยกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่นัดกันออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล ซึ่งมันควรจะเป็นสิทธิ์ของประชาชนในการชุมนุม

 

กรณีของอาจารย์ลาวัณย์ (ดาวราย) อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ อีกท่านหนึ่งแต่ต่างสาขากัน ซึ่งปรากฏตัวยังงานวันอนุสาวรีย์แห่งชีวิต (9 ธันวาคม 2563) อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาคม สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของอาจารย์ “สมโภชน์ อุปอินทร์” คู่ชีวิตผู้ล่วงลับของท่าน

เพียงเอ่ยปากแสดงจุดยืนกับผู้สื่อข่าวจากใจว่าเห็นด้วยอย่างมากกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่เรียกว่ากลุ่ม “ราษฎร 2563” คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ลาออก 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.ปฏิรูปสถาบัน พร้อมทั้งได้ติดตาม และเคยเดินทางออกมาดูการชุมนุมด้วย แม้วัยจะเลย 80 ปีแล้ว

จึงกลายเป็นเป้าของนักร้อง (เรียน) พยายามจะยื่นถอดถอนจาก “ศิลปินแห่งชาติ”