เปิดใจ เลขาฯ พรรคเพื่อไทย ตอบเรื่อง “ขั้วอำนาจใหม่” ใครครอบงำพรรค? และสุดารัตน์เอฟเฟ็กต์

“พรรคเราเคยผ่านปรากฏการณ์อย่างนี้มา คนที่มีบารมีก็เคยลาออกมาแล้วตั้งแต่ยุคไทยรักไทยในอดีต ไปดูประวัติศาสตร์ของพรรคจากไทยรักไทยสู่พลังประชาชนสู่พรรคเพื่อไทย มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่พรรคก็ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ เพราะฉะนั้น ถามว่าอยากให้ใครไปหรือไม่ เราไม่อยากเลย แต่คนที่ออกไปในช่วงนี้ก็ถือว่ายังไม่มีอะไร เพราะยังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ออกไป หรือแจ้งความประสงค์จะออก ปรากฏการณ์เช่นนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดามีคนเข้า-มีคนออกเพราะว่าในอดีตก็มีแบบนี้”

คือเสียงยืนยันจากประเสริฐ จันทรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะแม่บ้านต่อปรากฏการณ์สุดารัตน์เอฟเฟ็กต์

ประเสริฐมองว่า ทุกครั้งที่มีคนเข้าคนออกอาจจะมีเสียงอะไรตามออกมาบ้าง แต่พรรคก็ใช้ความระมัดระวังอย่างสูง เพราะถือว่าทุกคนเคยอยู่บ้านหลังเดียวกันมาก่อนก็เชื่อว่าทุกคนมีความปรารถนาดี ใครอาจจะอยากไปสร้างบ้านหลังใหม่ก็ถือว่าปรารถนาดีต่อบ้านเมืองไม่ว่ากัน แม้การวิพากษ์วิจารณ์ก็เกิดขึ้นได้ อย่ามองว่าเป็นการที่เลือดไหลไม่หยุด เพราะที่ออกไปก็ยังมีไม่กี่คน

การลาออกของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรค เราก็รอว่าท่านจะออกมาพูดถึงเหตุผลอะไรอย่างไรบ้าง ว่าท่านมีความคิดอย่างไร ท่านจะวางตำแหน่งตัวเองในอนาคตอย่างไร

บทบาทต่างๆ ผมเองก็ไม่อยากจะพูด เพราะอาจจะเป็นการวิจารณ์ในเรื่องนี้ได้ ที่ผ่านมาผมเองเคยมีโอกาสโทร.ไปหาท่านอยู่บ้าง เช่น การจัดการปราศรัยนายก อบจ.ที่ผ่านมาก็ได้มีการต่อสายไปถึงท่าน ว่ามีคนในพื้นที่แจ้งความจำนงมาต้องการให้ท่านเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยท่านจะว่างหรือไม่ ผมก็ได้คุยกับท่านตลอด

การออกไปของคุณหญิงก็ไม่สามารถพูดได้ว่าแตกต่างไปจากคนอื่นหรือไม่ ผมคิดว่ายังพูดไม่ได้ ต้องดูว่าคุณหญิงท่านจะแถลงถึงเหตุผลอะไรต่างๆ อย่างไร ส่วนท่านจะมีแนวคิดในอนาคตอย่างไรก็ยังไม่มีใครทราบ ว่าจะตั้งพรรคใหม่หรือไม่ หรือท่านจะหยุดเล่นหรือเปล่า หรือจะไปอยู่กับพรรคไหน

สิ่งเหล่านี้จึงยังประเมินไม่ออกว่าแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร

แต่สำหรับโครงสร้างงานภายในพรรค ประเสริฐบอกว่า ยังมีส่วนต่างๆ ครบอยู่เหมือนเดิม ทั้งภาค กทม. ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้

แต่มีสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาด้วยคือ การให้อดีตผู้สมัคร ส.ส. เช่นใน กทม.ที่มีไม่น้อยกว่า 20 คน เราได้เรียกคนเหล่านี้กลับเข้ามาและมีวงประชุม ทำความเข้าใจว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร

เราเอาอดีต ส.ส.และผู้สมัครทุกคนมาคุยแล้ว เราคาดหวังว่าจะทำให้เขาเป็นผู้แทนให้ได้ในอนาคต

เราไม่อยากใช้คำว่า “รื้อมุ้ง” แต่ก็ได้มีการเตรียมการที่จะพูดคุยกันในเรื่องนี้ไว้ เพราะเราเชื่อว่าในต้นปีหน้าสักมีนาคมถึงเมษายนอาจจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับเทศบาลอีก กลางปีอาจจะมีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ

นี่ไม่ได้เป็นการรื้อนะ แต่มันเป็นเรื่องของจังหวะเวลาที่ต้องเตรียมตัว

ผมเองก็มั่นใจว่าทุกคนที่อยู่กับพรรคเพื่อไทยในวันนี้ ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค ก่อนหน้านี้มีปัจจัยมากมายที่จะดึงคนพรรคเพื่อไทยออกไป ไม่ใช่แค่กรณีหลังๆ อย่างเดียว การเลือกตั้ง ส.ส.แต่ละครั้งก็จะมีพรรคการเมืองต่างๆ มาเชิญชวนผู้สมัครของพรรคเราตลอด

คนที่อยู่มาถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่าคงไม่ไปไหนแล้ว ชาวบ้านติดหูติดตาไปหมดแล้ว ลงพื้นที่ชาวบ้านจำได้แล้ว รู้แล้วว่าพรรคไหน

การเปลี่ยนพรรคจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป

เลขาฯ พท.ยังฉายภาพอีกว่า ณ ตอนนี้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายในพรรค ทั้งเปลี่ยนโครงสร้าง ที่จะพยายามให้เกิดเอกภาพและทำความเข้าใจกับสมาชิกทุกคนว่า เราจะเดินไปด้วยกัน ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม

วันนี้เราเน้นเรื่องของการกระจายอำนาจภายใน เรามีคณะทำงานต่างๆ รวม 11 คณะ (จากเดิมมี 10 เช่น ฝ่ายกิจการสภา ฝ่ายกฎหมาย บริหารพื้นที่)

ล่าสุดมีคณะกรรมการการเมือง สิ่งเหล่านี้ถ้าทำงานไปสักพักหนึ่งสมาชิกทุกคนจะเข้าใจว่าพรรควันนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงและก้าวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น หากเราขับเคลื่อนทุกองคาพยพและกระจายอำนาจ แบ่งงานแบ่งหน้าที่กันทำ อาจจะต้องใช้เวลานิดนึงแต่ไม่ใช่เรื่องยาก

ในแง่ของประชาชน ผมคิดว่า คนจะยังเชื่อมั่นพรรคเราอยู่

เหตุผลแรกคือ ความเชื่อมั่นในนโยบายในอดีตที่เราเคยทำมามันดี และจากอดีตมันส่งผลมาถึงปัจจุบัน เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค เรื่องกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น

ประการต่อมา ที่หลายคนเขายังเลือกเพื่อไทยเพราะว่าเราทำจริง นโยบายที่ประกาศออกไปแล้ว พอได้เป็นรัฐบาลแล้วสามารถดำเนินการได้จริงทุกๆ นโยบาย

เรื่องต่อมา คือผมคิดว่าประชาชนเองกำลังมองหา “ความหวังของประเทศ” วันนี้ดูเหมือนประเทศไม่มีความหวังว่าใครจะมากอบกู้ได้ ยิ่งในรัฐบาลนี้ยิ่งไม่มี เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆ เรื่องรัฐธรรมนูญก็คาอยู่ ทั้งที่วันนี้คนส่วนมากในประเทศเห็นควรให้แก้ เพราะมีความไม่เป็นธรรม-เหลื่อมล้ำอยู่ แม้แต่ใน ส.ว.-ส.ส.รัฐบาลก็ตาม ก็อยากแก้ แต่กลับไปดูท่าทีของ ส.ว.และ ส.ส.บางคนจะทำให้แก้ได้ยากขึ้น

ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่องรัฐธรรมนูญก็ดี เรื่องเศรษฐกิจก็ดี ถ้าถามว่าความมั่นคงในระยะยาวในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข รัฐบาลยังไม่มีอะไรชัดเจนที่ออกมาให้เห็นเลย

วันนี้คนมองหาอนาคตของประเทศไม่พบ เขาก็รอคอย เพื่อไทยก็เป็นหนึ่งในความหวังในเรื่องนี้ ซึ่งทางคณะกรรมการฝ่ายนโยบายและทุกองคาพยพได้ร่วมกันทำนโยบาย เรียกว่าถ้ามีการเลือกตั้งเราพร้อมทันที

ในแง่ของบุคลากร เรามีทั้งคนเก่าและคนใหม่ สำคัญที่สุดคือการสร้างเลือดใหม่เข้ามาเพิ่มเติม เราพยายามดึงคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของการเมืองของอารมณ์คนของโซเชียลมีเดีย ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่พรรคจะต้องมีการปรับปรุงอย่างยิ่ง ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนให้ทันจะเหนื่อย

ถ้าถามว่าจากนี้จะเห็นอะไรใหม่ๆ บ้าง ที่แน่ๆ คือคนรุ่นใหม่ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เราจะใช้เข้ามาประกอบการทำงานในปี 2564 นี้ เพื่อช่วยในการบริหารจัดระเบียบและทำให้มีความแม่นยำ

ประเสริฐบอกอีกว่า ด้านของการกระจายอำนาจ เราจะขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ในอดีตท่าทีของพรรคอาจจะมีการแสดงท่าทีที่แตกต่างกันออกไป เราเองก็พยายามจะจัดสรร อยากให้มีการพูดคุยกันในพรรคเสียก่อนให้ตกผลึกแล้วแสดงท่าทีออกไปเป็นเสียงเดียว เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ

เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าหลายฝ่ายทำงานกันอย่างขะมักเขม้น มีการประชุมเพื่อกำหนดท่าทีโดยเฉพาะคณะกรรมการการเมืองจะเป็นตัวหลักสำคัญในการขับเคลื่อนงาน และติดตามงานคณะต่างๆ ว่าอะไรไปถึงไหน แล้วนโยบายไปถึงไหน แล้วฐานสมาชิกเป็นอย่างไร เรามีพร้อมหมดแล้ว

ในส่วนของการตัดสินใจอะไรก็ตามก็เป็นการตัดสินใจภายใต้บุคลากรของพรรคทั้งหมด ไม่มีใครที่สามารถจะมาชี้นำได้ หรือครอบครัวของท่านอดีตนายกฯ จะมาชี้นำมันไม่มี ทุกคนมีส่วนในการตัดสินใจทั้งนั้น

การที่บอกว่ามีใครมาครอบงำผมเองนั่งเป็นเลขาฯ พรรคเข้ามาสู่เดือนที่ 3 แล้ว ก็ยังไม่เห็นภาพเหล่านั้นเลย ทั้งหมดคือเรื่องของที่ประชุมพรรค คือ ส.ส.ของเราจะมีใครไปครอบงำได้ เขาก็มีความเป็นตัวตนของพวกเขาทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นประเด็นการเมืองเร่งด่วนที่ต้องเร่งโต้อาจจะเป็นบอร์ดเล็กๆ ใน กก.บห. แต่ถ้าเรื่องใหญ่ต้องเป็น ส.ส.ทั้งหมด

อย่าเรียกการจัดสรรพรรครอบนี้ว่าขั้วอำนาจใหม่เลย

ผมอยากให้เรียกว่าคนในพรรคทั้งหมดร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่มีมาตลอด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องอุดมการณ์ที่ต้องรักษาไว้ ต้องยึดมั่น ตอนนี้การเมืองกับโลกมันเปลี่ยนแปลงตลอด รวดเร็วกว่าในอดีต

เรามีตัวตนของเราเอง มีบทบาทการทำงาน วัฒนธรรมการลงพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสะท้อนปัญหาของประชาชน

บางพรรคการเมืองอาจจะมีแต่ระบบบัญชีรายชื่อ การทำงานจะเป็นอีกแบบหนึ่ง นี่คือความแตกต่างที่ชัดเจน เราจึงจะผสมผสานกับการทำงานพื้นที่และให้ความสำคัญของสังคมโดยรวมด้วย

ซึ่งวันนี้พรรคจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ความต้องการของประชาชนที่แม่นยำมากขึ้น

สุดท้ายแม่บ้านพรรคเพื่อไทยมองว่า การปรับตัวเพื่อครองใจวัยรุ่นได้ นโยบายเป็นเรื่องสำคัญ ต้องเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ยังไงเขาก็มาเลือก

ที่ผ่านมาเราชนะได้ก็เพราะว่าเราแข็งเรื่องนโยบาย ทำให้ตรงใจ จะครองใจเขาได้ไม่ต้องใช้อารมณ์ทาง Social Media ดังนั้น ปี 2564 จะเห็นอะไรอีกหลายอย่างเปลี่ยนแปลงชัดขึ้น แล้วเอาเหตุผลมาสู้กันในเรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ

แต่ตัวชี้วัดสำคัญคือต้องจับตาดูว่าถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญเลย ปัญหาจะไม่จบ หากมีความพยายามเตะถ่วงก็จะนำไปสู่วิกฤต