คนมองหนัง | “Chungking Express” ในมุมมอง “หว่องกาไว”

คนมองหนัง

เนื่องในโอกาสที่ภาพยนตร์เรื่อง “Chungking Express” หรือ “ผู้หญิงผมทอง ฟัดหัวใจให้โลกตะลึง” (1994) จะกลับมาเข้าฉายอีกครั้งในฉบับรีมาสเตอร์ 4 K เป็นหนังปิดโปรแกรม “The World of Wong kar-Wai”s Retrospective” ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2563

จึงขออนุญาตแปลเนื้อหาบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ที่ “โทนี เรย์นส์” นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอังกฤษ เคยพูดคุยกับ “หว่องกาไว” (หวังเจียเหว่ย) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ และนำไปตีพิมพ์ในนิตยสาร “ไซต์แอนด์ซาวด์” เมื่อเดือนกันยายน 1995

มาเผยแพร่ซ้ำอีกหน ณ ที่นี้

: คุณเรียนจบด้านกราฟิกดีไซน์จากฮ่องกง โพลีเทคนิค ต่อมาคุณได้เข้าทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในตำแหน่งผู้เขียนบท อยากถามว่าอะไรมีความสำคัญต่อคุณมากกว่ากัน ระหว่างบทภาพยนตร์กับภาพลักษณ์โดยรวมของหนัง?

ความคิดเกี่ยวกับงานเขียนบทของผมเปลี่ยนแปลงไปในทันทีเมื่อผมมาเริ่มทำงานเป็นผู้กำกับฯ

ในฐานะนักเขียนบทภาพยนตร์ ผมเคยตั้งใจว่าบทหนังของตนเองจะต้องมีความสมบูรณ์แบบและดำเนินไปตามแบบแผนแบบเป๊ะๆ

แต่ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ผมได้เรียนรู้ว่ามันจะต้องมีปัจจัยที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของตนเองอยู่เสมอ

หลายสิ่งหลายอย่างในภาพยนตร์ทุกเรื่องไม่สามารถถูกวางแผนอย่างตายตัวเอาไว้ล่วงหน้า คุณทำได้อย่างมากที่สุดก็เพียงแค่การสร้างมโนภาพที่คุณอยากเห็น ก่อนจะต้องไปปรับเปลี่ยนมันให้สอดรับกับสิ่งที่มีอยู่จริงๆ เมื่อคุณออกกอง

ปัจจุบัน ผมจะเริ่มต้นทำงานด้วยการร่างบทภาพยนตร์แบบหลวมๆ และมักจะไปเขียนบทสนทนาของตัวละครเอาในวันที่มีการถ่ายทำ

อย่างเช่น ในระหว่างการออกกองถ่ายหนังเรื่อง “Chungking Express” ผมจะชอบไปนั่งที่ร้านกาแฟของโรงแรมฮอลิเดย์อินน์ตรงถนนนาธาน เพื่อเขียนบทสนทนาขึ้นที่นั่น ก่อนจะเดินเท้าเป็นระยะสองช่วงตึกไปยังจุงกิงแมนชั่น แล้วยื่นบทสนทนาที่เขียนขึ้นแบบสดๆ ให้เหล่านักแสดง ก่อนหน้าการถ่ายทำไม่นาน

: หนังเรื่อง “Ashes of Time” (มังกรหยก ศึกอภิมหายุทธ์) และ “Chungking Express” ต่างพึ่งพาเทคนิค “วอยซ์โอเวอร์” (เสียงพูด/พากย์ภายในหัวตัวละคร) เยอะมาก นี่แสดงว่าวิธีการเขียนบทแบบด้นสดของคุณได้ขยับขยายมาถึงกระบวนการทำงานในขั้นตอนตัดต่อด้วยใช่หรือไม่?

ก็ เป็นอย่างนั้น แต่ตัวเทคนิควอยซ์โอเวอร์เองก็มีความสำคัญมากในอีกแง่มุมหนึ่ง เพราะเดี๋ยวนี้ผู้คนดูเหมือนจะชอบพูดกับตัวเองมากกว่าพูดกับคนอื่น

: มีคนดูจำนวนไม่น้อยที่สังเกตเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง “Chungking Express” กับนวนิยายหลายเรื่องของ “ฮารูกิ มูรากามิ” ขณะที่ผมพบว่าบทเพลงจำนวนมากในซีดีรวมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเพลงกลุ่มเดียวกันกับที่ถูกระบุถึงในผลงานของมูรากามิ?

ผมชอบ “Pinball “73” (พินบอล, 1973) ซึ่งเป็นนิยายยุคแรกของเขามากๆ เช่นเดียวกับเรื่องสั้นชื่อ “A Girl, She is 100%” แต่ตอนนี้ พอเขาเริ่มมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเริ่มต้นเข้าสู่วัยกลางคน ผมกลับสนใจงานเขียนของเขาน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ผมและมูรากามิถือเป็นคนวัยเดียวกัน พวกเรามีประสบการณ์ชีวิตและได้รับอิทธิพลจากหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายคลึงกันมาก พวกเราต่างถูกหล่อหลอมโดยสิ่งที่ผมเรียกว่า “วัฒนธรรมกองเรือที่ 7” ซึ่งก่อตัวขึ้นจากการเข้ามาของกองทัพสหรัฐในยุคสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม

พวกเราต่างบริโภคผลงานเพลง บุหรี่ และไลฟ์สไตล์ต่างๆ ในรูปแบบเดียวกัน ขณะที่การได้พบเห็นพวกฝรั่งร่างยักษ์เดินไปมาบนท้องถนน ก็กลายเป็นความทรงจำที่ประทับอยู่ในหัวเราอย่างแน่นหนาเหมือนๆ กัน

สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับงานเขียนของมูรากามิก็คืออารมณ์ความรู้สึกของคนที่ยังไม่เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกของการมีอายุช่วงยี่สิบกว่าๆ ที่คุณหลงลืมมันไปแล้ว และไม่ใช่ความรู้สึกในแบบมนุษย์วัยกลางคน

: อะไรคือจุดเริ่มต้นของหนังเรื่อง “Chungking Express”?

เมื่อถ่ายทำหนังเรื่อง “Ashes of Time” เสร็จ ทีมงานของพวกเราก็จำเป็นจะต้องหยุดพักยาว แต่ผมกลับพบว่าตนเองยังอยากทำหนังขนาดเล็กๆ อีกสักเรื่อง

ในฐานะผู้เขียนบท-ผู้กำกับฯ ผมมีไอเดียมากมายที่จะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ไม่ได้ถูกพัฒนาสานต่อ เหมือนคุณนั่งอยู่ในร้านกาแฟ แล้วไอเดียบางอย่างก็ผุดขึ้นมาในหัว แต่คุณกลับไม่มีเวลาจะทำมันให้กลายเป็นจริง มันเป็นเพียงแค่ความรู้สึกเอะใจที่ปรากฏขึ้นช่วงสั้นๆ ก่อนจะระเหยหายไปอย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ตาม “Chungking Express” นั้นถูกพัฒนามาจากไอเดียสองเรื่องที่ปรากฏขึ้นในความคิดของผม

ไอเดียข้อแรกถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปมากมายระหว่างการถ่ายทำ มันเริ่มต้นจาก “บริจิต หลิน” (หลินชิงเสีย) วางแผนที่จะเลิกเล่นหนังหลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ดังนั้น ในตอนแรก ผมและทีมงานจึงตั้งใจจะวางคาแรคเตอร์ให้เธอสวมบทบาทคล้ายๆ กับ “แบลนช์ ดูบัวส์” ในหนังเรื่อง “A Streetcar Named Desire” (รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา)

หลินชิงเสียชอบไอเดียนี้ เพราะเธอไม่เคยต้องสวมวิกผมและแสดงบทโต้ตอบกับตนเองในกระจกเงามาก่อน

เรื่องราวในไอเดียตั้งต้นนั้นมีความเรียบง่ายอย่างยิ่ง โดยตัวละครหลินชิงเสียพยายามจะไปสมัครงานเป็นนักแสดงหลังได้อ่านประกาศโฆษณาจากหนังสือพิมพ์ เธอบังเอิญได้พบกับตัวละครชายที่สวมบทโดย “ทาเคชิ คาเนชิโร่” ก่อนจะเบี้ยวนัดและเทเขาทิ้ง

ต่อมา แม้เราจะยังเก็บไอเดียเรื่องการสวมวิกและความรักอันไม่โรแมนติกเอาไว้ แต่ต้นแบบของเรื่องราวในหนังได้เปลี่ยนแปลงจาก “A Streetcar Named Desire” ไปเป็น “Gloria” ของ “จอห์น คาสซาเวตส์”

: ทำไมตัวละครนำชายสองคนในเรื่องราวสองช่วงของ “Chungking Express” จึงเป็นตำรวจทั้งคู่?

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวงการภาพยนตร์ฮ่องกงมักมีภาพลักษณ์ผูกติดอยู่กับหนังแนวแอ๊กชั่น ซึ่งเต็มไปด้วยตำรวจและผู้ร้าย ผมตัดสินใจเลือกเอาตำรวจมาเป็นตัวละครนำ เพราะผมชอบไอเดียเรื่องเครื่องแบบและรหัสหมายเลขประจำตัวของพวกเขา

: สำหรับคุณ เหล่าตัวละครใน “Chungking Express” มีแง่มุมเชิงสัญลักษณ์แบบเดียวกับบรรดาตัวละครใน “Days of Being Wild” (วันที่หัวใจรักกล้าตัดขอบฟ้า – ผลงานเมื่อปี 1990 ของหว่องกาไว) หรือไม่?

หนังเรื่อง “Days of Being Wild” มุ่งเน้นไปที่ความรู้สึกอันหลากหลายของผู้คน โดยมีคำถามหลักว่าพวกเขาจะยังคงปักหลักอยู่ในฮ่องกงหรือเลือกหลีกหนีออกจากดินแดนแห่งนี้ ประเด็นดังกล่าวดูจะมีความสำคัญน้อยลงเมื่อพวกเราเข้าใกล้ปี 1997 (ปีที่สหราชอาณาจักรส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีน) มากยิ่งขึ้น

ขณะที่ “Chungking Express” จะสนใจไปที่อารมณ์ความรู้สึก ณ ปัจจุบัน ของผู้คน ตัวละครใน “Days of Being Wild” รวมถึง “Ashes of Time” จะไม่ค่อยมีความสุขกับภาวะโดดเดี่ยวเดียวดายของพวกตน ทว่าตัวละครใน “Chungking Express” กลับรู้ว่าพวกเขาจะสามารถแสวงหาความบันเทิงให้แก่ตนเองได้อย่างไร แม้กระทั่งด้วยการสนทนากับก้อนสบู่

ตัวละครกลุ่มนี้ล่วงรู้ถึงวิธีการใช้ชีวิตให้อยู่รอดในมหานครขนาดใหญ่

ที่มา https://www2.bfi.org.uk/news-opinion/sight-sound-magazine/archives/wong-kar-wai-chungking-express