วิเคราะห์ : ปี 2563 โลกสาหัสกับหายนะแค่ไหน?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ช่วงชีวิต 60 กว่าปีมานี้ เห็นโลกอยู่เผชิญหายนะเป็นระลอกๆ แต่ไม่มีปีไหนหนักหนาสาหัสเท่าปี 2563 ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เครื่องบินหยุดบินจอดเรียงเป็นแพ สนามบินว่างโหรงเหรง โรงแรมปิดไฟมืดสนิท โรงเรียน มหาวิทยาลัยหยุดการเรียนในห้องเรียน การเดินทางข้ามประเทศกลายเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ

เชื้อไวรัสโควิด-19 บีบบังคับให้คนทั้งโลกต้องมีหน้ากากอนามัยเป็นอุปกรณ์สำคัญของชีวิต อยู่ในที่สาธารณะต้องเว้นระยะห่าง การจับมือทักทายกลายเป็นข้อห้าม

การใช้ของร่วมกับคนอื่นเป็นคำเตือนที่ต้องรับฟัง จะจับลูกบิดประตู เกาะราวบันไดเลื่อน กดแป้นลิฟต์หรือใช้ช้อนกลางตักอาหารกินก็รู้สึกหวาดผวาจะมีเชื้อร้ายติดมาด้วยหรือเปล่า

โควิด-19 ทำเศรษฐกิจโลกพังย่อยยับ โรงงานปิด คนตกงานระเนระนาด ผู้โชคร้ายทั่วโลกติดเชื้อแล้ว 76 ล้านคน และสังเวยไปกับเชื้อมรณะทะลุเกิน 1 ล้าน 6 แสนคน

หลายประเทศเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอก 3 รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ เคอร์ฟิวเข้มข้น ทั้งๆ ที่เป็นห้วงเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาส และปีใหม่ ทำเอาผู้คนพากันออกอาการเซ็งๆ ไปตามกัน

ประเทศไทยเทียบกับชาติอื่นๆ อาจโชคดีที่มีคนติดเชื้อโควิด-19 น้อยมาก ไม่ถึง 5 พันคน แต่ประมาทไม่ได้เพราะจู่ๆ ก็เกิดปัญหาขึ้นมาในหลายจังหวัด ต้องงัดมาตรการล็อกดาวน์คุมเข้มพื้นที่อีกรอบ

คราวนี้ถ้าคุมไม่อยู่ การระบาดระลอก 2 กลับมาแรงจะทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยถอยหลังหนักกว่าเดิม

 

ในวงวิชาการเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเชื้อโควิด-19 มาจากสัตว์ทั้งด้วยเหตุคนไปรุกป่า ทำลายสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ล่าสัตว์ป่ามาชำแหละซากทำเป็นอาหาร และเอาสัตว์มาเลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดใหญ่

เชื้อไวรัสแพร่ระบาดจากสัตว์กับสัตว์ชนิดเดียวกัน ข้ามมาติดสัตว์ต่างสายพันธุ์แล้ววิวัฒนาการจนกระทั่งแพร่ระบาดจากสัตว์มาสู่คน ในบางประเทศอย่างเช่นที่อังกฤษ เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ แพร่ระบาดได้เร็ว ติดเชื้อได้ง่ายกว่าเดิมถึง 70 เปอร์เซ็นต์

เชื้อไวรัสกับมลพิษในอากาศมีความสัมพันธ์กัน ที่ไหนอากาศมีความเป็นพิษสูง ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงขึ้น

 

นอกจากเชื้อโควิด-19 แล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2563 ชาวโลกยังฝ่าด่านหายนภัยที่มาจากภาวะโลกร้อน ดังเช่นไฟป่าออสเตรเลียซึ่งเผาผลาญกินเนื้อที่เกือบ 70 ล้านไร่ คร่าผู้คนไม่น้อยกว่า 29 คน บรรดานกและสัตว์ป่าทั้งหลายกว่า 1,000 ล้านชีวิตได้รับผลกระทบและถูกไฟคลอก

เกิดปรากฏการณ์การระบาดของฝูงตั๊กแตนทะเลทรายในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ รวม 13 ประเทศ

ฝูงตั๊กแตนดังกล่าวมีขนาดใหญ่มาก บุกขย้ำแปลงพืชผัก-ผลไม้กัดกินจนราบเรียบเป็นหน้ากลอง สร้างความเสียหายให้กับกลุ่มเกษตรกรอย่างหนักหน่วง

สาเหตุการระบาดมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศทำให้เกิดสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ และตั๊กแตนยังปรับพฤติกรรมให้บินได้ไกลขึ้น จากที่เคยหากินเดี่ยวๆ ก็รวมตัวเป็นฝูง

ฝูงตั๊กแตนที่บุกประเทศอินเดียรุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ ทางการอินเดียถึงกับร้องขอให้ชาวเมืองปิดหน้าต่างบ้านเรือน ทุบทิ้งภาชนะไม่ให้ตั๊กแตนฟักตัวขยายพันธุ์ ระดมสรรพกำลัง ทั้งคน รถดับเพลิง เครื่องไม้เครื่องมือนานาชนิด และขนยาฆ่าแมลงเข้าไปฉีดพ่นใน 7 รัฐตอนเหนือ ตอนกลางและตะวันตกของประเทศ

 

นอกจากนั้นแล้ว หลายประเทศในทวีปแอฟริกายังเจอพายุฝนกระหน่ำอย่างหนักหน่วง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝนมีมากกว่าปกติและเกิดขึ้นถี่บ่อยกว่าปกติ

ขณะที่สหรัฐอเมริกามีทั้งการฝ่าด่านภัยแล้ง ไฟป่าและพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรงหนักหนาสาหัส

ไฟป่าเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม เผาผลาญพื้นที่ของรัฐแคลิฟอร์เนียกว่า 10 ล้านไร่ ทำลายสถิติเก่าๆ ที่มีมา

ส่วนพายุเฮอร์ริเคนพัดกระหน่ำพื้นที่ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของสหรัฐอย่างรุนแรง เฉพาะเดือนกันยายนเพียงเดือนเดียว เกิดพายุถึง 10 ลูก

ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐเผชิญกับภัยแล้งเลวร้ายที่สุด ครอบคลุมพื้นที่ครึ่งทวีปตั้งแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึงภาคตะวันตก

 

ตลอดทั้งปี 2563 โลกเผชิญกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น พื้นที่บริเวณขั้วโลกเหนือได้รับการบันทึกสถิติใหม่ว่าช่วงฤดูหนาวมีอุณหภูมิพุ่งสูงที่สุด และเป็นครั้งแรกที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ต้องสั่งหิมะปลอมให้ชาวเมืองเฉลิมฉลองในระหว่างการจัดเทศกาลหรรษา

เดือนกรกฎาคมของปีนี้ ยังมีปรากฏการณ์คลื่นความร้อนแผ่ซ่าน สร้างความเครียดให้กับคนอเมริกัน ยุโรป ลามมาถึงอินเดีย ฮ่องกง เฉพาะที่กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก อุณหภูมิทะลุถึง 51 องศาเซลเซียส

ความเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ต้นเหตุหลักนั้นมาจากน้ำมือคนที่ปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อศตวรรษที่ 18

ความเข้มข้นของก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศโลกทำให้สภาวะภูมิอากาศแปรปรวน อุณหภูมิบนผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การละลายของแผ่นน้ำแข็ง (permafrost) และธารน้ำแข็ง (glacier) บริเวณขั้วโลก

อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ทำให้แผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งละลายเพิ่มระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 8-9 นิ้วเป็นอย่างน้อย เมื่อเกิดพายุฝน คลื่นซัดกระหน่ำชายฝั่งจึงรุนแรงหนักหน่วงขึ้น

ผิวน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น มีผลต่อความรุนแรงของพายุ ผลการศึกษาพบว่า ช่วงทุกๆ 10 ปี อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 0.13 ฟาเรนไฮต์ จะทำให้พายุเขตร้อนเพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์

ปริมาณน้ำฝนที่พายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์หอบมาถล่มรัฐเท็กซัสเมื่อปี 2560 ทำให้เมืองจมอยู่ใต้บาดาลวัดได้ 60 นิ้ว

พายุเฮอร์ริเคนลอร่าก่อตัวขึ้นในอ่าวเม็กซิโกเมื่อเดือนสิงหาคม ก่อนขึ้นฝั่งสหรัฐเพียง 24 ชั่วโมง สามารถเร่งกระแสลมให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 104 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เฮอร์ริเคนลอร่าสร้างความเสียหายให้เมืองต่างๆ คิดเป็นมูลค่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนซูเปอร์พายุไซโคลน “อำพัน” ถล่มชายฝั่งบังกลาเทศเมื่อเดือนพฤษภาคมนั้น มีการยกระดับจากพายุดีเปรสชั่นกลายเป็นพายุไซโคลนในเวลาเพียง 12 ชั่วโมง จากนั้นเพียง 6 ชั่วโมง อำพันยกระดับความแรงของพายุไซโคลนขึ้นมาอีกจากระดับ 1 เป็นระดับ 4 มีความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลาง 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ความแรงของพายุทำให้เกิดคลื่นกระหน่ำชายฝั่งบังกลาเทศสูง 16 ฟุต และซัดเข้าไปในแผ่นดินลึก 16 กิโลเมตร

พายุ “อำพัน” แผ่ฤทธิ์มาถึงเมืองไทยด้วยแต่อ่อนกำลังกลายเป็นดีเปรสชั่นเสียก่อน นับว่าเป็นความโชคดี

 

แต่โดยรวมแล้ว ปีนี้ไทยเจอพายุมาแล้ว 10 ลูก ลูกล่าสุดพายุโซนร้อน “กรอวาญ” จ่อคิวขึ้นฝั่งทางเวียดนาม ไม่รู้ว่าเมื่อผ่านมาถึงฝั่งไทยจะก่อฤทธิ์รุนแรงแค่ไหน

นอกจากนี้ ไทยยังเจอภัยแล้งเกิดขึ้นรุนแรงในรอบ 40 ปี และเป็นภัยแล้งที่เกิดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มีผลกระทบกับเกษตรกรกว่า 2.2 ล้านคน ปริมาณผลผลิตการเกษตรลดวูบ คาดว่าจะเกิดความเสียหายกว่า 7 หมื่นล้านบาท

ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมหายนภัยของปี 2563 ที่ชาวโลกร่วมรับรู้และผ่านประสบการณ์กันยากลำบากมาด้วยกัน

ก็หวังว่าปีหน้า 2564 และปีต่อๆ ไปชาวโลกจะร่วมผนึกกำลังลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกเพื่อสกัดไม่ให้หายนภัยเพิ่มระดับความรุนแรงมากไปกว่านี้