คุยกับทูต อับดุลลาห์ อัลชาร์ฮาน จากไข่มุกสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยุทธศาสตร์”คูเวตใหม่” (2)

ธงของรัฐคูเวตได้ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา ณ อาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ.1963 เมื่อคูเวตได้เข้าเป็นรัฐสมาชิกสหประชาชาติในลำดับที่ 111

ซึ่งเป็นปีเดียวกับการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับคูเวต และมีการแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตระหว่างกันในเวลาต่อมา

“ตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองประเทศพยายามที่จะส่งเสริมและเพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน ในหลายสาขาทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน วิชาการ และการท่องเที่ยว”

เอกอัครราชทูตรัฐคูเวตประจำประเทศไทย มร.อับดุลลาห์ อัล-ชาร์ฮาน เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่เป็นไปโดยราบรื่น

คูเวตเป็นประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองสูง มีฐานะร่ำรวยและมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากจากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ

โครงสร้างภาคการผลิตส่วนใหญ่จึงเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี โดยแทบจะไม่มีการผลิตภาคการเกษตร

ทำให้คูเวตต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

สินค้าที่ไทยนำเข้าจากคูเวตส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ปุ๋ย เคมีภัณฑ์

ขณะที่สินค้าส่งออกจากไทยไปคูเวต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม วัสดุก่อสร้าง ยานพาหนะและอะไหล่

ชาวคูเวตซึ่งมีฐานะร่ำรวยอยู่แล้วยังได้รับสวัสดิการสมบูรณ์แบบจากรัฐบาล เช่น การศึกษาฟรี รักษาพยาบาลฟรี น้ำประปาไฟฟ้าฟรี โทรศัพท์พื้นฐานฟรี เป็นต้น

“เรามุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับการศึกษาและการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐโดย ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ รัฐให้การอุดหนุนด้านน้ำมันต่อประชาชน ให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา ให้กู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยระยะยาวมาก โดยไม่มีดอกเบี้ย”

คูเวตเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ไม่จัดเก็บภาษีเงินได้จากประชาชนของตัวเอง

“ภาษีเกี่ยวกับสินค้านำเข้าก็ยังต่ำมาก เราจึงเห็นสินค้าจำนวนมากในคูเวตราคาถูกและบางครั้งถูกกว่าประเทศที่ผลิต”

ท่านทูตกล่าว

อย่างไรก็ดี คูเวตได้จัดเตรียมแผนเพื่อรองรับกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อาจมีการผันผวน โดยได้เริ่มดำเนินแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมการปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายของรัฐ เร่งตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐลงอย่างเป็นระบบ

ทบทวนระบบ “รัฐสวัสดิการ” ของประเทศ และเลิกค่านิยมการบริโภคแบบเกินตัว ตลอดจนการแปรรูปวิสาหกิจ ส่งเสริมการค้า การลงทุน ออกกฎระเบียบใหม่

ในด้านการท่องเที่ยว คูเวตเป็นตลาดขนาดเล็กที่มีศักยภาพสูงมาก (Niche Market) สำหรับการขยายตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะสาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism)

“เมื่อปี ค.ศ.2016 กรุงเทพมหานครได้รับการจัดให้เป็นอันดับหนึ่งเมืองที่มีผู้เดินทางมาเยือนมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่ดีที่สุดสำหรับคูเวต ชาวคูเวตเดินทางมายังประเทศไทยเป็นประจำทุกปีด้วยเหตุผลหลายประการ”

“ระหว่างปี ค.ศ.2015-2016 มีชาวคูเวตประมาณ 70,000 คน เดินทางมาในฐานะนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว รวมทั้งมาใช้บริการด้านสุขภาพ เพราะการดูแลสุขภาพในประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับชาวคูเวตว่า เป็นผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพที่ดีแห่งหนึ่งในโลก” ท่านทูตอัล-ชาร์ฮาน กล่าวชื่นชม

“เรามีการติดต่อกับโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทย และผมได้ไปเยี่ยมเยียนชาวคูเวตที่เข้ารับการรักษาตัวอยู่ทุกแห่ง ชาวคูเวตส่วนใหญ่พึงพอใจกับการดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลดังกล่าว”

“ผมมาประจำที่นี่เป็นเวลาสี่ปีแล้ว เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้มีเพียงทัศนียภาพและหมู่เกาะที่สวยงามเท่านั้น หากยังมีโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ดี มีโรงแรมหรูหรามากมายที่มอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้มาเยือนอย่างเต็มที่ และมีศูนย์การค้าชั้นนำหลายแห่ง ไม่ว่าคุณจะต้องการสิ่งของเครื่องใช้ราคาถูกหรือแพง คุณสามารถหาได้ที่นี่ทั้งนั้น”

“เรื่องที่ผมต้องการเน้นคือ ลักษณะเฉพาะของคนไทยที่สร้างความแตกต่าง เพราะคนไทยให้ความเป็นมิตรเสมอ มีความยิ้มแย้มแจ่มใส สุภาพ และมีความอดทนอดกลั้น หลายคนที่ผมได้พบในคูเวต มักจะสนทนากันถึงเรื่องนี้”

“ความชื่นชอบในประเทศไทยของผมอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การยอมรับความต่างทางศาสนา (Religious toleration) อันเป็นการยอมรับหรือการอนุญาตในความเชื่อหรือการปฏิบัติของศาสนาอื่นที่แตกต่างไปจากศาสนาของตนเอง คุณอาจเห็นมัสยิด โบสถ์ วัด หรือศาลเจ้า ในอาณาบริเวณเดียวกัน สุดท้ายแล้ว ทุกคนก็ล้วนแต่เป็นคนไทยด้วยกันทั้งหมด”

“มีคนไทยหลายคนได้เข้ามาแนะนำตัวกับผมว่า เคยได้รับทุนจากประเทศคูเวตให้ไปศึกษาเล่าเรียนที่นั่นโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และกลับมาทำงานที่ประเทศไทย”

“ด้านแรงงาน ปัจจุบัน มีคนงานไทยในคูเวตประมาณ 4,000-5,000 คน โดยมากเป็นช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญ อดทน และสุภาพ ซึ่งผมไม่เคยได้ยินปัญหาเกี่ยวกับคนงานไทยเลย”

แรงงานไทยในคูเวตส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทฝีมือ (skilled) และกึ่งฝีมือ (semi-skilled) เช่น ช่างเชื่อมโลหะ ช่างประกอบท่อ ช่างปูน ช่างซ่อมรถยนต์ พนักงานขับรถบรรทุกหนัก ช่างประกอบถังบรรจุน้ำมัน ช่างไม้ ช่างเหล็ก และงานที่เกี่ยวกับขุดเจาะและการผลิตน้ำมัน รวมถึงแรงงานประเภทบริการ เช่น พนักงานนวด ช่างทองรูปพรรณ ช่างเสริมสวย พ่อครัว

จากการที่คูเวตต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากเกินไป คือเกินกว่าร้อยละ 60-70 ของแรงงานสัญชาติคูเวตเอง รัฐบาลคูเวตจึงมีนโยบายสนับสนุนชาวคูเวตให้ทำงานแทนแรงงานต่างชาติ (Kuwaitization Plan) มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 โดยพยายามจำกัดแรงงานต่างชาติไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป

รวมทั้งสร้างค่านิยมให้ชาวคูเวตทำงานกับภาคธุรกิจเอกชน จากเดิมที่ต้องการทำงานแต่เฉพาะกับภาคราชการ

นโยบายนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะแรงงานชาวคูเวตสามารถทดแทนแรงงานต่างชาติได้เฉพาะบางตำแหน่งงาน แต่ไม่อาจทดแทนได้ทุกตำแหน่งงาน โดยเฉพาะงานประเภทช่างฝีมือ กึ่งฝีมือ หรืองานระดับล่าง

ตามสถิติจำนวนแรงงานชาวคูเวตเพิ่มขึ้น แต่ไม่เป็นการเพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น ความต้องการแรงงานต่างชาติจึงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้คูเวตจะกำหนดระเบียบใหม่ด้านการรับคนเข้าเมืองเมื่อปี ค.ศ.2015 เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลของจำนวนประชากรและจำนวนแรงงานต่างชาติในปัจจุบัน ทำให้คนคูเวตกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศตนเอง

โดยประชากรของประเทศคูเวตทั้งหมดมีประมาณ 4.4 ล้านคน แต่ชาวคูเวตมีไม่ถึงครึ่ง

ท่านทูตอับดุลลาห์ อัล-ชาร์ฮาน กล่าวว่า

“ในจำนวนประชากรของประเทศนี้ มีชาวต่างชาติเข้ามาพำนักและทำงานในคูเวตถึง 3 ล้านคน เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า คูเวตเป็นประเทศแห่งความสงบสุข”