ก้าวหน้า “พ่าย” เพื่อไทย “แผ่ว” พปชร. “เริงร่า” ฉุดม็อบราษฎรระส่ำ?

ผลคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายก อบจ.ทั้ง 76 จังหวัดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ออกมาแล้วอย่างไม่เป็นทางการ บรรดาพรรคการเมืองและแกนนำคนสำคัญของกลุ่มต่างๆ ที่ส่งคนเข้าร่วมชิงชัยแล้วกำชัยต่างออกมาขอบคุณ ขึ้นขบวนรถแห่กันยิ่งใหญ่

ส่วนคนแพ้อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ก็ออกมาขอโทษที่ไม่สามารถคว้าเก้าอี้ผู้บริหารของจังหวัดได้แม้แต่จังหวัดเดียว

สำหรับคณะก้าวหน้าจะใช้คำว่าแพ้ราบคาบก็ได้ หลังส่งผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งหมด 42 จังหวัด แต่ไม่สามารถคว้าเก้าอี้ได้แม้แต่จังหวัดเดียว ก่อนหน้านี้ทีมบริหารของพรรคคาดว่าน่าจะได้อย่างต่ำ 5 จังหวัดขึ้นไปจนถึง 10 จังหวัด แต่ผลการเลือกตั้งก็ออกมาชัดเจนแล้วว่าเกมไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ต้องย้อนกลับไปในเกมเลือกตั้งว่า ด้วยกฎหมายเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นที่ห้ามไม่ให้ข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. เป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้ผู้สมัครส่วนใหญ่ บ้านใหญ่ในจังหวัดต่างๆ ไม่เลือกที่จะลงในนามพรรคการเมือง หันเลือกที่จะลงในนามกลุ่มอิสระ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าคนนี้สังกัดพรรคนั้น คนนั้นสังกัดพรรคโน้น

มีเพียงคณะก้าวหน้าที่ประกาศส่งผู้สมัครลงในนามของกลุ่มอย่างชัดเจนทั่วประเทศกว่า 42 จังหวัด ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ส่งเพียง 25 จังหวัด ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งเพียง 2 จังหวัดในนามพรรค

ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งรวม 9 จังหวัด ได้นั่งเก้าอี้นายก อบจ. แบ่งเป็นภาคอีสาน ชนะ 4 จังหวัดจาก 10 จังหวัดที่ส่งลงสมัคร ภาคเหนือยังคงรักษาเก้าอี้ได้ดี ชนะ 5 จังหวัดจาก 6 จังหวัด ส่วนภาคกลาง 9 จังหวัดเพื่อไทยแพ้ทั้งหมด

จะเห็นได้ว่าเพื่อไทยก็มีอาการแผ่วลง หลายจังหวัดไม่สามารถตีบ้านใหญ่ฝ่ายตรงข้ามได้ หลายจังหวัดสูญเสียให้กับผู้สมัครคนใหม่ที่อยู่ฝั่งรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ขณะภาคกลางไม่ได้เก้าอี้เลย

ส่วนที่เชียงใหม่ เมืองหลวงของเพื่อไทย เมืองหลวงของเสื้อแดง ก็เกือบไม่ราบรื่น เพราะต้องสู้กับบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ 2 สมัย ที่แยกตัวจากเพื่อไทย สู้ในนามอิสระ เพื่อไทยต้องส่งพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ “ส.ว.ก๊อง” ลงในนามพรรค ถึงขนาดอดีตนายกฯ ต้องเขียนจดหมายแถลงการณ์อ้อนวอนชาวเชียงใหม่ เดิมพันสุดตัวเพื่อให้รักษาเก้าอี้นายก อบจ.เชียงใหม่ไว้กับพรรคเพื่อไทย จนชนะมาอย่างเหนื่อยหอบ 421,426 คะแนน ต่อ 353,010 คะแนน

แต่เพื่อไทยก็ยังมีเรื่องน่าดีใจอยู่ คือสามารถโค่นแชมป์เก่าที่ปทุมธานีได้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง หรือบิ๊กแจ๊ด ผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อไทย แม้จะไม่ยอมสวมเสื้อคลุมในนามพรรค แต่สามารถเอาชนะชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายก อบจ. 3 สมัย 252,499 คะแนน กับ 222,211 คะแนน

นั่นคือสถานการณ์ของกลุ่มหรือพรรคการเมืองที่ลงในนามพรรค ส่วนที่เหลือกลายเป็นว่าแชมป์เก่าสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้จำนวนมากหลายสิบจังหวัด

ข้อมูลจากบีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า มีประชาชนอย่างน้อย 34 จังหวัด ที่ยังคงเทคะแนนเลือกอดีตนายก อบจ.คนเดิมมาดำรงตำแหน่ง

แบ่งเป็น อดีตนายก อบจ.ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งโดยถือเป็นการดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 รวม 9 คน ขึ้นสู่สมัยที่ 3 จำนวน 8 คน ขึ้นสู่สมัยที่ 4 จำนวน 7 คน ขึ้นสู่สมัยที่ 5 รวม 7 คน ขึ้นสู่สมัยที่ 6 รวม 3 คน และขึ้นสู่สมัยที่ 7 รวม 1 คน ยังไม่รวมอดีตนายก อบจ.บางคนที่ข้ามเขตไปลงอีกจังหวัดหนึ่งก็ได้รับเลือกตั้ง อดีตนายก อบจ.บางคนเคยเว้นวรรคไปแล้วหลังดำรงตำแหน่งหลายสมัย ก็กลับมาลงเลือกตั้งครั้งนี้ และได้รับเลือกตั้งอีก

หากนำชื่อนายก อบจ.ทั้งหมดมากาง แทบทั้งหมดคุ้นเคยอย่างดี เพราะเป็นนามสกุลของรัฐมนตรี นามสกุล ส.ส. สนิทชิดเชื้อกับผู้มีอำนาจในรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลเสียเป็นส่วนใหญ่

จังหวัดไหนที่มีชื่อเสียงของบ้านใหญ่มานาน ก็สามารถเก็บรักษาเก้าอี้นายก อบจ.ไว้ได้แทบทั้งหมด

ประธานคณะก้าวหน้าเปิดแถลงข่าวยอมรับความพ่ายแพ้ โดยระบุว่า ขอโทษที่ไม่สามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ได้แม้แต่จังหวัดเดียว คณะก้าวหน้าเพียงพยายามแสดงให้เห็นว่าเราตั้งใจที่จะสร้างการเมืองใหม่ทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ระดับชาติ แต่พยายามลงไปถึงระดับท้องถิ่น

“การทำงานของพวกเราที่ยังทำงานไม่หนักพอ ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ขอโทษประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง แม้ว่าตำแหน่งนายก อบจ.ไม่สามารถช่วงชิงมาได้ ซึ่งเราผิดหวังและเสียใจ แต่ไม่หมายความว่าเราไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เลย เราสามารถได้รับคะแนนทั้งหมด 2,670,798 คะแนน และนอกจากนี้ ได้ช่วงชิงตำแหน่งสมาชิกสภา อบจ. 57 คน ใน 20 จังหวัด และมีส่วนร่วมผลักดัน ขับเคลื่อนให้สังคมไทยได้รับรู้ความสำคัญ บทบาทหน้าที่ อบจ.” นายธนาธรกล่าว

ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวว่า พรรคได้รับการเลือกตั้งใน 9 จังหวัด แม้ส่งเพียง 25 จังหวัด ส่วนจังหวัดทางภาคกลางที่ไม่ได้นั้น เพื่อไทยชี้แจงว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ เป็นครั้งแรกที่ได้ลงสมัคร

ส่วนฝ่ายรัฐบาล เลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ แม้พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ส่งผู้สมัครลงในนามพรรค รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าหลายจังหวัดเป็นบุคคลใกล้ชิดกับฝ่ายรัฐบาล และสามารถกวาดเก้าอี้ได้เป็นจำนวนมาก จึงจัดได้ว่าอยู่ในอาการเริงร่า

ด้านคณะก้าวหน้าพยายามนำเสนอการทำการเมืองแบบใหม่ ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งถึง 42 จังหวัด โดยส่วนใหญ่เป็นคนใหม่ลงสมัคร เพื่อพยายามลบภาพความเป็นบ้านใหญ่ แต่ผลการเลือกตั้งก็ปรากฏชัดเจนว่าไม่สามารถฝ่าเข้าไปนั่งคุมงบประมาณของจังหวัดได้

ยังไม่นับก่อนเลือกตั้งไม่นาน ที่ถูก กกต.ตั้งคณะกรรมการสอบ ว่าการดำเนินการของกลุ่มคณะก้าวหน้าอาจเข้าข่ายการดำเนินการรูปแบบพรรคการเมืองหรือไม่ จนมีความกังวลว่าจะถูกยุบขึ้นอีก และวิธีการจัดการเลือกตั้งที่ไปเลือกในวันอาทิตย์ ระหว่างกลางของวันหยุด 2 ช่วงใหญ่ ซึ่งนักวิชาการมองว่า ทำให้ชนชั้นแรงงาน มนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศ นักเรียน นักศึกษา ที่มักไม่ได้ทำงานในท้องถิ่นของตนเอง และส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของการเมืองแบบใหม่ หมดโอกาสกลับไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งยังไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก้าวหน้าไปไม่ถึงฝัน

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านคณะก้าวหน้าอย่างวรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี ที่บอกว่าผลการเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการนายธนาธร ความพ่ายแพ้ของคณะก้าวหน้า สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของคณะก้าวหน้า หากยังไม่ยอมรับการสั่งสอนจากประชาชนรอบนี้ ครั้งหน้าจะยิ่งหนักกว่าเดิม

“ต้องไม่ปฏิเสธคือ ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ “แพ้ยับเยิน” ประชาชนส่วนใหญ่ลงโทษกลุ่มการเมืองที่จ้องจาบจ้วง จ้องล้มล้างสถาบัน และสั่งสอนให้ปรับวิธีคิดใหม่เรื่องสถาบัน แต่ถ้ายังดื้อดึง ไม่ยอมรับการสั่งสอนของประชาชนรอบนี้ ครั้งหน้าอาจเจอการสั่งสอนที่หนักกว่าเดิม…”

วรงค์กล่าวยืนยันความเชื่อ และประเมินว่าจะทำให้ม็อบคณะราษฎรที่เป็นแนวร่วมคงจะอ่อนแรงไปด้วย

ขณะความเห็นจากนักวิชาการ ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ผ่านมา ระบุกรณีบ้านใหญ่ตระกูลดังชนะไม่ใช่เรื่องแปลกใจ เพราะทำงานพื้นที่ ใกล้ชิดชาวบ้าน ตอบโจทย์การเมืองในชีวิตประจำวัน ขณะที่คณะก้าวหน้าอาจอ่านเกมผิด เลือกใช้เงื่อนไขการเมืองระดับชาติ ทำให้ไม่ตอบโจทย์สนามท้องถิ่น เชื่อว่าการที่คณะก้าวหน้าไม่สามารถฝ่าเข้ามานั่งเก้าอี้ อบจ.ได้แม้แต่จังหวัดเดียว ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองระดับชาติ ไม่เกี่ยวกับกระแสรณรงค์เรื่องชาติหรือหนักแผ่นดินที่มีขึ้นมาก่อนหน้า

เช่นเดียวกับ รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เห็นตรงกันว่า การที่ก้าวหน้าแพ้ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นเรื่องเรตติ้งตกหรือคนไม่นิยม แต่การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องของความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์การเมืองระดับชาติ จึงเลือกคนที่คุ้นเคย ยึดโยงกับพื้นที่มากกว่า รวมถึงการก่อตั้งใหม่จึงเสียเปรียบอื่นๆ เช่น ระบบหัวคะแนน

ยิ่งสถานการณ์การเมืองระดับชาติ การอ่อนแรงลงของแกนนำคณะราษฎร ที่ถูกกระทำด้วยอำนาจรัฐอย่างหนัก ความเหนื่อยล้าของมวลชน ที่มีการระดมชุมนุมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาโดยไร้การตอบสนองจากผู้มีอำนาจ

จึงเป็นที่น่าจับตาว่าการเคลื่อนไหวในปี 2564 จะเป็นอย่างไรต่อไป

จะเป็นอย่างที่ฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มต่อต้านคณะราษฎรอย่างไทยภักดีคาดการณ์ไว้หรือไม่

หรือจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการต่อสู้ไปในรูปแบบใด