จรัญ มะลูลีม : สายสัมพันธ์กึ่งศตวรรษไทย-มาเลเซีย 2 ประเทศร่วมทำอะไรกันบ้าง?

จรัญ มะลูลีม

สําหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียนั้นอาจกล่าวได้ว่ามีศตวรรษที่ 21 ให้เห็นเป็นประจักษ์พยานถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดและความเป็นหุ้นส่วนความสัมพันธ์ต่อกันท่ามกลางความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งคนส่วนใหญ่มีความใกล้ชิดกับวัฒนธรรมมาเลเซีย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียเริ่มต้นมาช้านาน ก่อนการมีความสัมพันธ์ทางการทูตในวันที่ 31 สิงหาคม ปี 1957 ความสัมพันธ์และความร่วมมือที่มีจุดเด่นอย่างชัดเจนก็คือการก่อตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN) ในปี 1967 ซึ่งประเทศไทยและมาเลเซียเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และนับจากนั้นทั้งสองประเทศก็มีส่วนทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็งขึ้นโดยผ่านความสัมพันธ์ทวิภาคีและความเข้าใจซึ่งกันและกัน

ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียได้รับการสนับสนุนผ่านความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองหลังจากประเทศไทยและมาเลเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันในปี 1957

ในระดับภูมิภาคทั้งสองประเทศก็มีศักยภาพสูงที่จะกลายมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตของภูมิภาคผ่านความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและความเข้าใจที่ดีต่อกันมาโดยตลอด

ความสัมพันธ์ฉันประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนประชิดกันของไทยและมาเลเซียนั้น สามารถนับย้อนไปนานกว่านั้นมาก ไทยและมาเลเซียมีความพึงพอใจในมิตรภาพที่ใกล้ชิด ตลอดจนผลลัพธ์จากความร่วมมือในด้านต่างๆ ทั้งในระดับทวิภาคี

เช่น คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือไทย-มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Joint Commission : JC) พื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area : JDA) และคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (Joint Development Strategy for borders Areas : JDS) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือในทุกๆ ด้าน ตลอดจนเอื้ออำนวยกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนไทยและมาเลเซียในบริเวณชายแดน ดังเช่นการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก เชื่อมตำบลบูเก๊ะตาที่จังหวัดนราธิวาสกับบูกิตบุงอหรือบูกิตบุหงาในรัฐกลันตัน

ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมไทย-มาเลเซีย (Thailand-Malaysian Association : TMA) และสมาคมมาเลเซีย-ไทย (Malaysia-Thai Association : MTA) ได้รับการก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดและเกิดความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนและองค์กรต่างๆ ของทั้งสองประเทศ

การที่ทั้งสองประเทศผ่านช่วงเวลาที่ดีมาด้วยกันนี้ ไทยและมาเลเซียจึงเป็นมากกว่าเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนร่วมกัน หากแต่เป็นมิตรที่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และความรับผิดชอบที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งประชาชนทั้งสองaากฝั่งแม่น้ำโก-ลก ก็มีความผูกพันกันเป็นเครือญาติ จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ความเชื่อมั่นของประเทศและของประชาชนทั้งสองประเทศเป็นอย่างดี (ชปา จิตต์ประทุม ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย ปี 2004-2006 โครงการไทยในการรับรู้และความเข้าใจของประเทศเพื่อนบ้าน ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ และคณะ กรุงเทพ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2009)

ในการศึกษาความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจนถึงปัจจุบันนั้น แม้จะมีช่วงเวลาของความสัมพันธ์ที่เสื่อมคลายอยู่บ้าง แต่ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศทั้งสองมีช่วงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอยู่มากกว่า

ทั้งในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งประชาคม ASEAN และเป็นสองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เคยก้าวไปไกลถึงการปะทะกันด้วยอาวุธแม้แต่ครั้งเดียว

ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียในรอบมากกว่า 60 ปี นับตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจึงเป็นความสัมพันธ์ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการนำเอาสันติภาพและความรุ่งเรืองมาสู่ประเทศทั้งสอง รวมทั้งอาเซียนโดยรวม

ความสัมพันธ์ด้านสังคม เศรษฐกิจ เป็นพลังขับเคลื่อนที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการสร้างความเข้มแข็งในความผูกพันทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับความสัมพันธ์ด้านการเมือง ความมั่นคง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม

มากกว่าครึ่งศตวรรษของความร่วมมือที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความใกล้ชิดอันเนื่องมาจากผลประโยชน์ที่มีร่วมกันและการเยือนของผู้นำของทั้งสองประเทศ ในระดับประชาชนพบว่าประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนมีความเป็นหนึ่งเดียวกันในทางวัฒนธรรม ภาษาและศาสนา

ประเทศไทยและมาเลเซียในปัจจุบันมีข้อตกลงร่วมกันถึง 32 ข้อ ทั้งที่เป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นก่อนและหลังมาเลเซียได้รับเอกราช ทั้งสองประเทศผ่านช่วงเวลาที่ดีต่อกันมาและไม่เคยเปลี่ยนมาเป็นความรุนแรง (Chaichoke Julsiriwongs, The Problem of Thailand Border and National Security (Bangkok : Samphand Panich, 2533 p.29) ทั้งสองประเทศมีบันทึกความสัมพันธ์และการร่วมมือกันรับผิดชอบมาตั้งแต่อดีต ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศจึงมีความเข้มแข็ง

ชาวไทยและชาวมาเลย์ที่อยู่ตามชายแดนต่างก็มีความใกล้ชิดต่อกันและกัน เชื่อมสัมพันธ์กันด้วยความเป็นญาติและความเป็นเพื่อนบ้านก่อนที่จะมีการกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์หรือวัฒนธรรม ไทยและมาเลเซียก็มีจุดหมายร่วมกัน ความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพของประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะผูกพันกับสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของอีกที่หนึ่ง (Message from Nitya Pibunsonggram, Former Minister of Foreign Affairs the Kingdom of Thailand, Rajaphrueh Bunga Raja, 50 years of everlasting friendship between Thailand and Malaysia Bangkok : Ministry of Foreign Affairs, 2007 p.10)

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วประเทศไทยและมาเลเซียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ปี 1957 ความจริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซียนั้นสามารถย้อนไปไกลกว่าความสัมพันธ์ทางการทูต

อันเนื่องมาจากสภาพทางภูมิศาสตร์และสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ประเทศทั้งสองจึงมีความใกล้ชิดกันและมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการแลกเปลี่ยนทางการค้า ธุรกิจ การศึกษา รวมทั้งการเยือนญาติพี่น้องและการเชื่อมโยงสื่อสารมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งสองประเทศอนุญาตให้ประชาชนของอีกชาติหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามชายแดนใช้หนังสือผ่านแดน (border pass) ซึ่งออกให้โดยฝ่ายบริหารของแต่ละฝ่ายเดินทางไปยังชายแดนของสองประเทศโดยไม่มีหนังสือเดินทางได้

บริษัทของมาเลเซียในประเทศไทยมีมากขึ้นและตื่นตัวมากขึ้น พวกเขามุ่งหวังที่จะเริ่มธุรกิจหรือไม่ก็หาตลาดการผลิตและการบริการในประเทศไทย

หลายๆ บริษัทของมาเลเซียให้ความสนใจที่จะขยายการทำงานในประเทศไทย

ตามรายงานของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าบริษัทมาเลเซีย 157 บริษัทได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วยเงินจำนวน 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (5.5 พันล้านริงกิต)

จากข้อมูลของรัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม นักธุรกิจมาเลเซียได้ลงทุนในประเทศไทย 482.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในขณะที่นักธุรกิจไทยลงทุนในมาเลเซีย 76.2 พyนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 228 ล้านริงกิต)

ในฐานะสมาชิกของ ASEAN ไทยเห็นว่าความร่วมมือกับมาเลเซียเป็นกุญแจไปสู่การสร้างชุมชน ASEAN เป็นการเชื่อมโยงภูมิภาคด้วยสันติภาพและความรุ่งเรือง ประเทศไทยมีความมั่นใจว่าประชาคม ASEAN จะดำเนินไปด้วยดี ไทยมองไปข้างหน้าให้ ASEAN เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญในความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่กว้างขวางต่อไป ชาวมาเลเซียมากกว่าหนึ่งล้านคนได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยในแต่ละปีมากกว่าการไปเยือนประเทศอื่นใด ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศมุ่งกระชับความสัมพันธ์ในด้านนี้ด้วยการพิมพ์สื่อโฆษณาในประเทศของตนเป็นสองภาษา

ด้วยจิตวิญญาณของการเป็นพันธมิตรและมิตรภาพในการได้มาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในหมู่เพื่อนบ้าน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียคือหนึ่งในความสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียที่มีมายาวนานกว่า 60 ปี

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเอกราชใหม่อย่างมาเลเซียในวันที่ 30 สิงหาคม ปี 1957 หรือปี 2550

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความอบอุ่นและมิตรไมตรี นำทางโดยความใฝ่ฝันและผลประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกัน เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความสันติและความปรองดอง ความใกล้ชิดของความสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นด้วยตัวของมันเองมาจากการแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสองประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน