วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ผลัดยุค เปลี่ยนรุ่น

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ กับสังคมธุรกิจไทย จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

ซีพีมีเรื่องราวตื่นเต้นเป็นพิเศษ เมื่อมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน จากรุ่นสู่อีกรุ่น ในฐานะธุรกิจครอบครัว

ธนินท์ เจียรวนนท์ ประกาศแผนการทายาทธุรกิจไว้อย่างเป็นจริงเป็นจังเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2559

“การสืบทอดธุรกิจ ผมได้ปรึกษากับพี่ชายทั้งสามคนแล้ว และกำหนดแนวทางคร่าวๆ ไว้ว่า ขั้นตอนแรก ผมจะดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้สุภกิตดำรงตำแหน่งประธาน และศุภชัยดำรงตำแหน่งซีอีโอ โดยระหว่าง 10 ปีถัดจากนี้ไป เราต้องสร้างว่าที่ซีอีโอคนใหม่ของเครือขึ้นมารับช่วงต่อ…” (“บันทึกความทรงจำ” หรือ My Personal History : NIKKEI Asian Review)

จากนั้น เมื่อเข้าสู่วัย 80 ในปี 2562 ธนินท์ เจียรวนนท์ จึงทยอยลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทสำคัญๆ ในเครือซีพี โดยเฉพาะกิจการหลักซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้น ทั้งซีพีเอฟ และซีพีออลล์ ทรู คอร์ปอเรชั่น รวมทั้ง CP Pokphand ในฮ่องกง

ขณะเดียวกันได้แต่งตั้ง สุภกิต เจียรวนนท์ ในฐานะประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) คนใหม่ นั่งประธานกรรมการแทนเกือบทุกแห่ง แต่มีกรณีพิเศษยกเว้นทรู คอร์ปอเรชั่น

ราวๆ กลางปี 2562 ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ และสุภกิต เจียรวนนท์ กรรมการ พร้อมกันลาออกจากทรู คอร์ปอเรชั่น พร้อมแต่งตั้ง ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ เวลานั้นต้องถือว่าศุภชัย เจียรวนนท์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์คนใหม่แล้ว

กรณีข้างต้นเป็นไปได้ว่า มาจากทรู คอร์ปอเรชั่น กับศุภชัย เจียรวนนท์ มีความสัมพันธ์พิเศษ อย่างที่ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าไว้

“…ศุภชัยได้รับการโอนย้ายให้มารับผิดชอบธุรกิจโทรคมนาคมของเครือ…ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 ธุรกิจโทรคมนาคมของเราได้รับผลกระทบเช่นกัน ธนาคารเจ้าหนี้หลายแห่งที่ศุภชัยเข้าไปเจรจาเรื่องแผนการปรับปรุงธุรกิจจนเกิดความเชื่อมั่น ได้เสนอแนะให้ศุภชัยดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ซึ่งต่อมาธุรกิจนี้ก็สามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้”

ซึ่งสอดคล้องกับโปรไฟล์ศุภชัย เจียรวนนท์ ปรากฏใน www3.truecorp.co.th ปัจจุบัน ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงมีโครงสร้างการบริหารกิจการแบบพิเศษ ให้ศุภชัย เจียรวนนท์ มีบทบาทบริหารอย่างเต็มที่

 

เรื่องราว สุภกิต เจียรวนนท์ กับ ศุภชัย เจียรวนนท์ แม้ได้กล่าวถึงมาพอสมควร (ในตอนก่อนๆ) หากยังมีบางแง่มุมควรเพิ่มเติม ในฐานะทั้งสองเป็นผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) รุ่นใหม่ โดยเฉพาะมีบทบาททางสังคมที่แตกต่างไปจากธนินท์ เจียรวนนท์ อย่างมากอย่างเห็นได้ชัด

“สุภกิต…เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีเพื่อนฝูงมากมาย… ปัจจุบันสุภกิตยังดูแลการลงทุนขนาดใหญ่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีนอีกด้วย” ธนินท์ เจียรวนนท์ เล่าไว้เมื่อปี 2559

ส่วนที่บอกว่า “เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีเพื่อนฝูงมากมาย…” นั้นน่าสนใจ หากพิจารณาอย่างเจาะจงจะพบข้อมูลสะท้อนสายสัมพันธ์ในสังคมไทย ตามแนวคิดยึดมั่นของธุรกิจไทยยังคงสืบต่อระหว่างรุ่น

สุภกิต เจียรวนนท์ ตั้งใจระบุ “ตำแหน่งทางสังคม” ของเขาเองไว้ (ปรากฏในรายงานประจำปี 2558-2559 ทรู คอร์ปอเรชั่น)

“2557 ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และที่ปรึกษาพิเศษรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2556 ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม 2555 ผู้ชำนาญการประจำ คณะกรรมาธิการการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา”

ว่าไปแล้วข้างต้นนับว่าเป็นบทบาทที่แตกต่างจากธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ชื่อของเขามักไม่ปรากฏอย่างเป็นทางการเกี่ยวข้องกับการเมือง

สุภกิต เจียรวนนท์ มีบทบาทในธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2546 โดยเป็นกรรมการบริษัทซีพีออลล์ และสยามแม็คโคร บริษัทซึ่งมีกรรมการ เชื่อกันว่าเป็นบุคคลแห่งสายสัมพันธ์อย่างน่าสังเกต อาทิ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2551-2552) และประสพสุข บุญเดช (ประธานวุฒิสภา 2551-2554)

อย่างไรก็ตามข้างต้นมิใช่เรื่องใหม่ ด้วยแต่ไหนแต่ไรมา ซีพียุคธนินท์ เจียรวนนท์ มักปรากฏชื่อบุคคลแห่งสายสัมพันธ์อยู่เสมอ เชื่อกันอีกว่าเขามีที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่ปรากฏชื่อเป็นทางการเกี่ยวข้องบริษัทในตลาดหุ้น

ส่วนเรื่องราวในต่างประเทศ ดูแตกต่างออกไป กรณี C.P. Lotus บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (ตั้งแต่ปี 2524) ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าปลีกในจีนแผ่นดินใหญ่ สุภกิต เจียรวนนท์ เข้ามามีบทบาทเป็นกรรมการในปี 2543 และในปี 2555 ก็ขึ้นเป็นประธานกรรมการ

ปัจจุบัน C.P. Lotus มีกรรมการคนไทยที่น่าสนใจอีก 3 คนด้วย ได้แก่ พล.อ.วิโรจน์ แสงสนิท (รมช.คมนาคม 2534-2535 และ รมช.กลาโหม 2538-2539) พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ (ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 2551) และ พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ (ผู้บัญชาการทหารอากาศ 2551-2555)

อย่างไรก็ตามบทบาทสุภกิต เจียรวนนท์ ที่ดูเป็นไปอย่างเงียบๆ เมื่อเปรียบเทียบกับศุภชัย เจียรวนนท์ ดำเนินไปอย่างเปิดกว้างและโลดโผน

 

ศุภชัย เจียรวนนท์ มีตำแหน่งทางสังคม การเมืองอย่างมากมายอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ที่น่าสนใจ อาทิ กรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในโครงการสานพลังประชารัฐและเป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน (ตั้งแต่ปี 2558) กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (ตั้งแต่ปี 2560) ประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ตั้งแต่ปี 2560) หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะทำงานโครงการสานพลังประชารัฐ กลุ่มการพัฒนาคน (ตั้งแต่ปี 2561) และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นต้น

ซีพีในยุคเปลี่ยนผ่าน มีความเชื่อมต่ออย่างมีพลังและมีความมั่นใจเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาความเป็นไปในสังคมไทย ในฐานะฐานอันมั่นคงของเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่อันทรงอิทธิพล

 

มีเหตุการณ์สำคัญๆ สะท้อนความเป็นไปอย่างท้าทาย มีความเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐเป็นพิเศษ เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ ซีพียุคเปลี่ยนผ่านผลัดรุ่น ภายใต้ดรีมทีม มีทั้งประธานกิตติมศักดิ์ (ธนินท์ เจียรวนนท์) ประธานกรรมการ (สุภกิต เจียรวนนท์) และประธานกรรมการบริหาร (ศุภชัย เจียรวนนท์)

กรณีแรก (ปลายปี 2562)-ซีพีกับ “รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน” เป็นกรณีสำคัญ ในฐานะเอกชนรายแรก กลายมาเป็นผู้พัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ” ของรัฐซึ่งเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจไทยยุคสมัยใหม่ และเป็นครั้งแรก ซีพีเข้าบริหารจัดการ (Take Over) กิจการเดิมของรัฐ (รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-Airport Rail Link) ด้วย

สำหรับซีพีแล้ว ถือเป็นงานใหม่ที่ท้าทายอย่างยิ่ง

อีกกรณีหนึ่ง (ปี 2563) ดีลซีพีกับ Tesco แห่งสหราชอาณาจักร ดีลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย ดีลซึ่งส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจค้าปลีกไทย

ซีพีไม่เพียงได้เข้าครอบครองเครือข่าย Tesco Lotus ในไทยเคยมีรายได้เกือบๆ 2 แสนล้านบาท หากผนวกพลังในฐานะผู้ครอบครองเครือข่ายค้าปลีกอันหลากหลาย ครอบคลุมและทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถผ่าด่าน “การผูกขาดทางการค้า” ตามกติกาของรัฐไปได้

ซีพีกับธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทยได้พลิกโฉม และปรับนิยาม “เครือข่ายธุรกิจใหญ่” ไปอีกขั้น