สิ่งที่หลายคนไม่รู้ เกี่ยวกับ “สถานีกลางบางซื่อ” ว่าที่ศูนย์กลางระบบรางใหม่ของไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศนับตั้งแต่ปี 2557 เมื่อแรกเริ่มในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แปรสู่รัฐบาลเลือกตั้งพลังประชารัฐ ผลงานที่ “บิ๊กตู่” มักหยิบขึ้นมาชูโรงบ่อยครั้งคือ ผลงานการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง

โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

แม้จะถูกปรามาสว่า งานที่ทำส่วนใหญ่เป็นการสานงานต่อจากรัฐบาลอภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์แทบทั้งหมด

แต่เพราะภายใต้ “อำนาจพิเศษมาตรา 44” ในยุค คสช. จึงสามารถผ่าทางตันอุปสรรคต่างๆ ที่ยุคการเมืองปกติไม่สามารถทำได้

ที่เห็นได้ชัดคือ การใช้มาตรา 44 เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงที่บริเวณสถานีร่วมเตาปูนได้เป็นผลสำเร็จ

จนนำไปสู่การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่-เตาปูนในปี 2559 ได้ในที่สุด

จากนั้นก็ทยอยเปิดส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าต่างๆ โดยสามารถเปิดส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระ ครบทั้งสายได้เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ขณะเดียวกัน ก็ทยอยเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจนครบทั้งช่วงใต้จากสำโรง-เคหะสมุทรปราการในปี 2562

และเปิดส่วนต่อขยายด้านเหนือถึงคูคตในวันที่ 15 ธันวาคม 2563

ถือเป็นผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม แม้จะทยอยเปิดเส้นทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีอีก 1 รถไฟฟ้าที่ ณ วันนี้ยังไม่ได้เปิดให้บริการสักที ถึงขนาดว่ามีบางช่วงก่อสร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่ปี 2555 แต่ก็ยังไม่เปิดให้บริการ

รถไฟฟ้าสายนั้นคือ รถไฟชานเมืองสายสีแดง ซึ่งมีไฮไลต์เด่นคือ “สถานีกลางบางซื่อ” พ่วงรวมอยู่ด้วย

ปัจจุบันโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่กำลังก่อสร้างแล้วเสร็จมีทั้งหมด 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.สายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 ก.ม. งานโยธาเสร็จไปตั้งแต่ปี 2555 แต่ยังเดินรถไม่ได้ เพราะระบบเดินรถถูกนำไปรวมในสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และ 2.สายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 21.6 ก.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยแบ่งสร้างเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย

สัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง วงเงินอยู่ที่ 34,142 ล้านบาทมีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ยูนิคฯ เป็นผู้ก่อสร้าง

สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างทางวิ่งยกระดับและระดับพื้น งานสถานี 8 แห่ง และถนนเลียบทางรถไฟ ถนนทางข้ามไซต์ก่อสร้างของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ วงเงินอยู่ที่ 24,587 ล้านบาท

และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล และจัดหาตู้รถไฟฟ้า มีกลุ่มมิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม จากญี่ปุ่น เป็นผู้ดำเนินการ วงเงินอยู่ที่ 32,399 ล้านบาท

ซึ่งงานก่อสร้างถือว่าคืบหน้าจนใกล้จะปิดจ๊อบแล้ว เหลือเพียงงานสัญญาที่ 3 เท่านั้น ซึ่งกำลังก่อสร้าง

เรื่องนี้ “ศักดิ์สยาม ชิดขอบ” รมว.คมนาคมประกาศชัดว่า ในปี 2564 จะต้องเปิดเดินรถเสมือนจริงรถไฟชานเมืองสายสีแดงทั้งลูปนี้ให้ได้

โดยคาดหวังว่าในเดือนมีนาคม 2564 นี้ ประชาชนชาวไทยจะได้ทดลองใช้งานรถไฟชานเมืองสายนี้แบบไม่เป็นทางการ (Soft Opening)

ส่วนสถานีกลางบางซื่อ แลนด์มาร์กใหม่ประเทศไทย “ศักดิ์สยาม” ก็วางไว้แล้วว่า จะเปิดให้เข้าไปเดินชมได้ในปี 2564 นี้แน่นอน

และเพื่อการันตีว่ามีความพร้อมและใช้งานได้จริง จึงได้เทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีทั้งหมดทัวร์สถานีกลางบางซื่อ และทดลองนั่งรถไฟชานเมืองสายสีแดงจากบางซื่อไปดอนเมือง ฤกษ์ดี 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา 13.30 น. หลังประชุม ครม.

กล่าวสำหรับ “สถานีกลางบางซื่อ” ที่กระทรวงคมนาคมถือเป็น Masterpiece ภูมิใจนำเสนอนั้น มีพื้นที่ 487 ไร่ เรียกว่าใหญ่ระดับน้องๆ สนามบินสุวรรณภูมิก็ว่าได้

โดยตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอาเซียน เพราะจะรวมไว้ทั้งรถไฟทางไกล รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และรถไฟความเร็วสูง 3 สายในอนาคต ได้แก่ สายเหนือช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, สายอีสานช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย และสายใต้กรุงเทพฯ-หัวหิน

ด้านพื้นที่ใช้สอย มีทั้งสิ้น 274,192 ตร.ม. รูปแบบอาคารเป็นอาคารสูง 3 ชั้น

โดยชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร

ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลารถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และสายสีแดง 4 ชานชาลา

และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลารถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และแอร์พอร์ตลิงก์ 2 ชานชาลา รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และสายเหนือ 6 ชานชาลา และสายใต้ 4 ชานชาลา รวม 12 ชานชาลา

นอกจากนี้ มีชั้นใต้ดิน พื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. สำหรับเป็นที่จอดรถซึ่งรองรับได้ 1,624 คัน

นอกจากนี้ พื้นที่รอบๆ สถานีกลางบางซื่อรวม 2,325 ไร่ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะเจ้าของโครงการก็มีแผนที่จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์แบ่งแยกเป็นโซนๆ เพื่อพัฒนาเป็นเมืองใหม่ใจกลางกรุง ซึ่งตามแผนวางการพัฒนายาวถึงปี 2575 เลยทีเดียว!

หากไม่มีอะไรผิดพลาด ประชาชนก็น่าจะได้ใช้สถานีกลางบางซื่อและรถไฟชานเมืองสายสีแดงไม่เกินเดือนมีนาคม 2564 นี้