เช็กบิลแกนนำม็อบ-มาตรา 112 เผือกร้อนในมือสีกากี ต้นธารยุติธรรมรับบท “หนังหน้าไฟ”

จุดเปลี่ยนสำคัญที่มีการนำมาตรา 112 มาดำเนินคดีผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเกิดขึ้นหลังการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย ในช่วงบ่ายจนถึงเวลา 21.00 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน

วันดังกล่าว มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญ ครั้งที่ 2 เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร ที่ระบุว่า สภาต้องรับหลักการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับไอลอว์ ที่ลงชื่อโดยประชาชนจำนวน 100,731 ราย เพื่อเป็นการหาทางออกให้แก่ประเทศ และเป็นการยุติปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ท้ายสุดที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาปัดตก “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ไป โดยรับหลักการเพียง 2 ฉบับ จาก 7 ฉบับ คือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ในการแก้ไขมาตรา 356 ในการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และร่างแก้ไขมาตรา 256

ขณะที่บรรยากาศภายนอกรัฐสภาค่อนข้างร้อนระอุ ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง พร้อมกับยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่พยายามเคลื่อนขบวนมายังบริเวณดังกล่าว รวมทั้งยังมีเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองกับกลุ่มราษฎร ทำให้แกนนำกลุ่มราษฎรต้องประกาศยุติกิจกรรม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ชุมนุมทุกคน

จากนั้นกลุ่มราษฎรนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่แยกราชประสงค์ ก่อนเคลื่อนมายังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีการทุบทำลายป้าย ฉีดพ่นสเปรย์ตามรั้วกำแพง

และก่อนยุติการชุมนุม แกนนำได้ประกาศยกระดับการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จากนั้นจะมีการชุมนุมต่อเนื่องทุกวันจนกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลาออก

ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ ประกาศจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่สอดคล้องกับหลักการสากล

ส่งสัญญาณเตือนถึงกลุ่มราษฎรที่มีพฤติกรรมหมิ่นเบื้องสูงมีแนวโน้มจะถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112

24 พฤศจิกายน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน โพสต์ภาพหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งถือว่าเพนกวินเป็นแกนนำกลุ่มราษฎรคนแรกที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 จากการชุมนุมในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา โดยหมายดังกล่าวออกโดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท.

และจากนั้นก็มีแกนนำรายอื่นๆ ทยอยถูกเช็กบิลด้วยข้อหาเดียวกันอีกหลายราย

มีข้อมูลแกนนำกลุ่มราษฎรซึ่งถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) รวบรวมไว้ เฉพาะการชุมนุมในกรุงเทพมหานครตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 มีแกนนำที่ถูกดำเนินคดีแล้ว 16 คดี 41 คน

อาทิ นายอานนท์ นำภา 6 คดี, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ 5 คดี, นายภาณุพงศ์ จาดนอก 2 คดี, นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง 2 คดี, นายพรหมศร วีระธรรมจารี 2 คดี, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข 2 คดี, นายชนินทร์ วงษ์ศรี 2 คดี, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 2 คดี, นายชูเกียรติ แสงวงศ์ 2 คดี

ต่อมา 26 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ครั้งที่ 11/2563 เกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ว่า เป็นเรื่องของตำรวจที่ต้องทำไปตามข้อมูลและหลักฐาน

แต่ทั้งหมดไม่ได้จบที่ตรงนี้ ต้องอยู่ที่ศาลด้วย ซึ่งศาลเป็นองค์กรอิสระ รัฐบาลไม่มีอำนาจไปก้าวล่วงกับอำนาจทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งภาคธุรการ ภาคตุลาการ อัยการ ศาล ไม่ได้เลย นายกฯ ไม่มีอำนาจตรงนั้น แต่ตรงนี้อำนาจของตนเพียงให้เขาทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องภายหลัง ก็ต้องระมัดระวังซึ่งกันและกันให้มากที่สุด และขอร้องสื่อให้ช่วยกันทำด้วยแล้วกัน ให้ทุกคนเคารพกฎหมาย ถ้าเคารพกฎหมายก็ไม่จำเป็นต้องใช้ตำรวจหรือใครมาทำหน้าที่หรอก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. มีอำนาจที่จะสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ใช้มาตรานี้ได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าตนละเว้นมากๆ ก็โดนมาตรา 157 ทั้งนี้ ตนก็ให้กำลังใจตำรวจและขอร้องให้สื่อให้กำลังใจตำรวจ เอาภาพการทำงานของตำรวจที่เขาทำดีๆ ออกไปบ้าง ไม่ใช่ออกภาพหรือออกแต่ข่าวว่าความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ ถ้าเขาต่างคนต่างอยู่ก็ไม่มีผลกระทบซึ่งกันและกัน ซึ่งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ก็เป็นไปตามกฎหมาย

ส่วนกรณีที่นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ทบทวนการใช้มาตรา 112 นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นคนใช้ แต่เจ้าหน้าที่เป็นคนใช้

คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ เสมือนโยนเผือกร้อนมาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในฐานะที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย

วันเดียวกัน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่สามารถไปกะเกณฑ์ได้ ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานจากชุดสืบสวนสอบสวนว่าคืบหน้าไปเท่าไหร่ ซึ่งอาจแถลงให้ทราบเป็นครั้งคราว ที่เหมือนกับทุกคดีต้องไม่เสียหายต่อการสอบสวน ก็พยายามจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง

“ยืนยันว่าตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมาย ดังนั้น คงกังวลทุกเรื่องอยู่แล้วที่ใครจะละเมิดกฎหมาย โดยเฉพาะการละเมิดเกี่ยวกับสถาบัน ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อภาพรวมความรู้สึกคนไทย คงไม่มีใครอยากทำแบบนี้ ฝากเตือนใครที่คิดทำเรื่องพวกนี้ ทางเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนของกฎหมาย” ผบ.ตร.ระบุ

ถ้อยคำที่ผู้นำสีกากีบอกว่า ตำรวจไม่ใช่ผู้ออกกฎหมาย แต่เป็นผู้รักษากฎหมายนั้นหลายฝ่ายฟังแล้วเห็นใจ ผบ.ตร. และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน

แต่ในฐานะตำรวจถือต้นธารของกระบวนการยุติธรรม จำเป็นต้องทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันรับบทเป็น “หนังหน้าไฟ”

ดังนั้น ต้องรักษาความสมดุลทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ไม่เช่นนั้นเผือกร้อนอยู่ในกำมือตำรวจนั่นเอง