มรสุมนักบุญทุนชาวบ้าน? ย้อนเหตุเงินบริจาค ซื้อเสื้อชมพู “เสี่ยโป้” จับมือ “สันธนะ” แจ้งจับบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์

มรสุมนักบุญทุนชาวบ้าน? เหตุเงินบริจาค ซื้อเสื้อชมพู “เสี่ยโป้” จับมือ “สันธนะ” แจ้งจับบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์

เกิดเป็นกระแสดราม่าร้อนฉ่าทั้งนอกและในโลกโซเชียลออนไลน์

เมื่อเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ตรวจสอบการรับเงินบริจาคของ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ต้นตำรับดาราจิตอาสาผู้โด่งดัง

ย้อนหลังไปตั้งแต่การรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี ปลายปี 2562 ที่ยอดตัวเลขสูงกว่า 400 ล้านบาท

เนื่องจากหลายคนคาใจและมีข้อชวนสงสัยหลายประการถึงการบริหารเงินก้อนโตที่โอนเข้าบัญชีส่วนตัว แทนที่จะเป็นบัญชีภายใต้ชื่อโครงการ เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ

จนถึงการรับบริจาคนำเงินไปช่วยเหลือชาวบ้านและโครงการต่างๆ ในปัจจุบัน

บรรดาชาวเน็ตวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้อย่างร้อนแรง พร้อมตั้งฉายา “นักบุญทุนชาวบ้าน” ด้วยมีลักษณะการขอรับบริจาคเงินจากประชาชน แล้วตระเวนนำเงินที่ได้ไปแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชนอีกทอด

ล่าสุดเกิดประเด็นร้อนขึ้นมาอีก 1 เรื่อง เมื่อนายสันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรองผู้กำกับการสันติบาล และเสี่ยโป้ อานนท์ คนดังโลกออนไลน์

เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ กรณีขอให้ช่วยบริจาคเงิน 10 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดซื้อเสื้อสีชมพู โดยให้โอนเงินผ่านบัญชีส่วนตัว แทนที่จะเป็นโรงพยาบาลศิริราชเจ้าของโครงการโดยตรง

ก่อนหน้านี้มีภาพความสนิทแนบแน่น “บิณฑ์-เสี่ยโป้” ที่เคยร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้คนไทยทำความดีสามัคคีกัน

การเปิดศึก “คนกันเอง” จึงเป็นที่จับตาของสังคมว่าจะดำเนินต่อไปในทิศทางใด บั้นปลายท้ายสุดจะจบลงอย่างไร

ประเด็นเกาเหลา “บิณฑ์-เสี่ยโป้” เป็นข่าวเริ่มต้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา

เมื่อนายสันธนะ ประยูรรัตน์ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขอให้สืบสวนสอบสวนพฤติการณ์เรียกรับเงินบริจาคของบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์

เนื่องจากสงสัยอาจเข้าข่ายแอบอ้างโครงการจัดทำเสื้อสีชมพูของโรงพยาบาลศิริราชเพื่อแสวงหาประโยชน์ โดยติดตามและขอรับบริจาคผ่านเสี่ยโป้ อานนท์ ซึ่งรู้จักกันเมื่อครั้งออกมาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมร่วมกัน

เสี่ยโป้ไล่เรียงเหตุการณ์ อ้างว่าเรื่องทั้งหมดเกิดจากตนเองไปเจอบิณฑ์ในงานหนึ่ง ผ่านไปครึ่งเดือน บิณฑ์โทร.มานัดเจอเพื่อพูดคุยเรื่องขอเงินบริจาค 10 ล้านบาท นำไปซื้อเสื้อสีชมพูของโรงพยาบาลศิริราช

ตอนนั้นถามไปว่าทำไมไม่ใส่เสื้อสีเหลือง บิณฑ์บอกเสื้อสีเหลืองดูเป็นการเมือง สื่อถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สำคัญบิณฑ์บอกว่าไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์และอยากให้เสื้อสีชมพูสื่อถึงสัญลักษณ์ของสถาบัน

เมื่อเห็นว่ามีอุดมการณ์ตรงกันและเงิน 10 ล้านบาทไม่ได้เยอะมาก จึงรับปาก

แต่ต่อมาตนเองโดนคดีข้อหาพยายามฆ่าจากเหตุยิงกันหน้าร้านนวดย่านฝั่งธนฯ ทำให้ไม่สามารถออกนอกประเทศไปเซ็นเอกสารทำธุรกรรมได้ จึงแจ้งบิณฑ์ไปว่าบริจาคได้แค่ 2 ล้านบาท

จากนั้นได้ปรึกษากับนายสันธนะ ซึ่งทักท้วงให้ตรวจสอบเพราะเป็นการโอนผ่านบัญชีส่วนตัว จากนั้นนายสันธนะขอเบอร์โทร.ไปคุยกับบิณฑ์เอง

“ก่อนหน้านี้เคยโอนให้ 1 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านโดนน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2562 ก็หวังในใจลึกๆ ว่าเขาจะไม่มีพฤติการณ์แอบอ้างและหาผลประโยชน์จากการบริจาค” เสี่ยโป้ระบุ

ส่วนนายสันธนะเปิดเผยต่อจากเสี่ยโป้ว่า หลังจากโทร.ไปพูดคุยกับบิณฑ์ สงสัยเหตุใดถึงให้โอนเข้าบัญชีส่วนตัว ถามไปก็ไม่ได้คำตอบ ทำให้ขอกลับมาตรวจสอบ และยังไม่โอนเงินให้

หากเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีมูลนิธิโรงพยาบาลศิริราชคงไม่ติดใจ โดยตนทำหนังสือไปยังโรงพยาบาลศิริราช สอบถามถึงโครงการจัดทำเสื้อสีชมพู ก่อนได้รับคำชี้แจงว่าการรับบริจาคต้องโอนเข้าบัญชีศิริราชมูลนิธิ

บิณฑ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการโครงการนี้

นายสันธนะยังอ้างต่อไปว่า บิณฑ์บอกจะทำเสื้อสีชมพู 3 แสนตัว แต่หมอเจ้าของโครงการแจ้งว่าทำเพียงแค่ 2.4 แสนตัว ดังนั้น จึงต้องการให้บิณฑ์ออกมาอธิบายให้สังคมเข้าใจ

กระทั่งต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม นายสันธนะพร้อมเสี่ยโป้ได้หอบเอกสารหลักฐานเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม

ให้ดำเนินการเอาผิด 4 ข้อหา ได้แก่ ความผิดฐานพยายามฉ้อโกง, เรี่ยไรเงินโดยไม่ได้รับอนุญาต, ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดที่เกี่ยวกับการแอบอ้างสถาบัน เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หลังได้รับข้อมูลการเปิดรับบริจาคเงิน

เพื่อจัดทำเสื้อสีชมพูแจกจ่ายให้ประชาชนในโอกาสต่างๆ

มรสุมปัญหาถามโถเข้าใส่บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ถึงขั้นมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบเงินบริจาคทั้งหมด

ทำให้เจ้าตัวร้อนใจต้องออกมาไลฟ์เฟซบุ๊กชี้แจงขณะลงพื้นที่มอบเงินช่วยเหลือผู้ป่วย จ.สมุทรปราการ

“เงินบริจาคเป็นเงินบริสุทธิ์ เพราะคนตั้งใจที่จะให้กับคนป่วย ถ้านำไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็นก็หมดกัน เหมือนกับผม เงินบริจาคอะไรก็แล้วแต่ เป็นเงินบริสุทธิ์ที่เขาพร้อมจะช่วยเหลือใครยังไง เป็นอะไรยังไง น้ำท่วมไม่ท่วม ช่วยอะไร แม้แต่บาทเดียวผมก็ไม่เคยคิดที่จะเอา”

“ผมตระหนักอยู่ในใจตลอดเวลาว่า ทุกอย่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทยศักดิ์สิทธิ์จริง แล้วมีจริง ใครทำอะไรไม่ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว ทำดีได้ดี แล้วก็มีคุณธรรม มีสัจธรรม ต้องมีความจริง”

ต่อมานายนิรันดร สุขปรีดี ผู้เกี่ยวข้องกรณีโครงการเสื้อสีชมพูได้ออกมาปกป้องบิณฑ์ว่า

เห็นโครงการขายเสื้อสีชมพูของโรงพยาบาลศิริราช เพื่อสมทบทุนสร้างอาคาร จึงชักชวนบิณฑ์มาร่วมด้วย ก่อนนัดพูดคุยแล้วแนะนำเสี่ยโป้ให้รู้จัก และเสี่ยโป้ตกลงจะบริจาคให้ 10 ล้านบาท

โดยทวงถามเสี่ยโป้ไป แต่สุดท้ายไม่มีการโอนเงิน และเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา

ยืนยันไม่เคยหักค่าหัวคิวหรือได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ที่สำคัญไม่ใช่การโอนผ่านบัญชีของบิณฑ์

แต่ให้โอนเข้าบัญชีโรงพยาบาลศิริราชโดยตรง

สําหรับบิณฑ์ เสี่ยโป้ และสันธนะ ทั้ง 3 คนล้วนมีประวัติที่มาที่ไปน่าสนใจอย่างยิ่ง

บิณฑ์โด่งดังจากการเป็นพระเอกและนักแสดงมากมายหลายเรื่อง เคยคว้ารางวัลตุ๊กตาทอง

ต่อมาผันตัวจากพระเอกตุ๊กตาทองสู่นักจิตอาสา ทำงานเป็นอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูนานกว่า 20 ปี

ช่วงปลายปี 2562 บิณฑ์สร้างความฮือฮาเมื่อเปิดขอรับเงินบริจาคนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี โดยครั้งนั้นมีผู้บริจาคเข้ามามากถึง 422 ล้านบาท

ก่อนนำเงินบริจาคไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านถึงมือแบบสดๆ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการลงทะเบียนใดๆ ให้ซับซ้อนยุ่งยากล่าช้าเหมือนการช่วยเหลือของรัฐ ท่ามกลางสายตาเคลือบแคลงจากสังคมบางส่วนที่ต้องการให้ตรวจสอบการใช้เงิน

ชื่อของบิณฑ์ร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อออกมาวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎร จังหวะนั้นเอง บิณฑ์ได้ตัดสินใจลาออกจากอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู เพื่อออกมาเคลื่อนไหวในฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มราษฎรแบบเต็มตัว

ส่วนเสี่ยโป้โด่งดังจากการเป็นนักเลงย่านฝั่งธนฯ

แต่ที่สร้างชื่อจนกลายเป็นที่รู้จักมาจากคดีสะเทือนขวัญ “เปรี้ยวฆ่าหั่นศพ” เมื่อปี 2559 หลังเสี่ยโป้เปิดแชตข้อความที่เคยสนทนาพูดคุยกับเปรี้ยวออกมาในโลกออนไลน์

เคยถูกจับกุมฐานฟอกเงิน และชักชวนคนเล่นพนันออนไลน์

เมื่อไม่นานมานี้ ได้รับเชิญจากกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนฯ ให้ร่วมเป็นคณะทำงานแก้ปัญหาศึกษาการพนันและบ่อนพนันออนไลน์เช่นเดียวกับนายสันธนะ

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม จนตัวแทนกรรมาธิการต้องออกมาปฏิเสธ อ้างว่าเพียงแค่เชิญมาให้ข้อมูลในฐานะผู้มีความรู้เรื่องพนันออนไลน์เท่านั้น ไม่ได้เชิญมาเป็นคณะทำงานแต่อย่างใด

ขณะที่นายสันธนะเคยเป็นตำรวจยศพันตำรวจโท ตำแหน่งรอง ผกก.สันติบาล

ถูกให้ออกจากราชการเมื่อปี 2545 ด้วยข้อหาขัดขวางการเข้าจับกุมบ่อนการพนันพื้นที่ สน.บางกอกน้อย โดนถอดยศตำรวจในปี 2561 เนื่องจากกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ก่อนผันตัวมาเป็นผู้กว้างขวาง ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน

กระแสเรียกร้องตรวจสอบเงินบริจาคที่บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ต้องเจอรอบนี้

ต่างจากที่เจอตอนเปิดขอรับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ครั้งนั้นไม่มีคู่ขัดแย้งเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเป็นการเปิดรับบริจาคช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

แต่หนนี้บทบาทของบิณฑ์เปลี่ยนไป โดยเฉพาะจากการเข้าร่วมกิจกรรมบางกิจกรรมเมื่อเร็วๆ นี้ ตามมาด้วยการถูกกล่าวหาเรียกรับเงินบริจาคเพื่อนำไปซื้อเสื้อสีชมพู

จากดาราจิตอาสาช่วยเหลือสังคม กลายมาเป็นนักบุญทุนชาวบ้าน

โดดเข้าร่วมสมรภูมิความขัดแย้งในสังคมแบบเต็มตัว ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม

กับอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่การตัดสินของสังคม