คุยกับทูต : ยอน ธอร์กอร์ด สายสัมพันธ์ 400 ปี ไทย-เดนมาร์ก ตอนจบ “การลงทุนอย่างยั่งยืน”

การลงทุนของไทยในเดนมาร์ก

เดนมาร์กเป็นตลาดดั้งเดิมที่อยู่ห่างไกลจากไทย การขนส่งสินค้าไปเดนมาร์กต้องใช้เวลานาน และมีต้นทุนสูง นักลงทุนไทยยังมีการลงทุนในเดนมาร์กน้อยมาก

โดยบริษัทไทยที่ได้เข้าไปลงทุนในเดนมาร์กในขณะนี้ ได้แก่ บริษัท CPF และภัตตาคาร Blue Elephant เป็นต้น

ท่านทูตกล่าวถึงความสัมพันธ์ทวิภาคี

“ต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและเดนมาร์กให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ในด้านการค้าและการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลงทุนด้วย”

“ส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งคือ การค้นหาแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน เพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก รัฐบาลเดนมาร์กและบริษัทของเดนมาร์กมีความเชี่ยวชาญในการนำเสนอโซลูชั่นสำหรับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเมืองที่ยั่งยืน”

 

เดนมาร์กมีระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง และเป้าหมายประเทศที่สำคัญ (KPI) คือ การทำให้เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีอัตราการจ้างงานที่สูง การลดการปล่อยมลภาวะสู่ธรรมชาติ (CO2 emission) การเข้าช่วยแก้ไขปัญหา Climate Change การพัฒนามลภาวะทางอากาศ (Clean air) การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและความมั่นคง การส่งเสริมระบบรัฐสวัสดิการเพื่อความมั่นคงของประชาชนและความปลอดภัยทางสังคม รวมทั้งการจัดสรรเงินสนับสนุนจากรัฐบาลให้กับประชาชนอย่างมีเหตุผล

“ตั้งแต่มาประจำการที่กรุงเทพฯ ผมมีโอกาสไปพัทยาสองครั้ง ครั้งแรกไปกับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็น Team Building เพื่อพัฒนาความสามารถเป็นเวลาสองวัน ครั้งต่อมา ผมไปเยี่ยมหลายบริษัทจากเดนมาร์กที่อยู่ใน Eastern Seaboard และยังวางแผนจะไปเยี่ยมบริษัทจากเดนมาร์กที่ตั้งอยู่อีกหลายแห่งในประเทศไทย รวมถึงชุมชนคนเดนมาร์ก และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์เดนมาร์กประจำจังหวัดภูเก็ตด้วย”

“ต้องบอกว่า ผมประทับใจกับชุมชนนักการทูตที่นี่มาก รู้สึกว่าเป็นชุมชนที่ดีจริงๆ โดยยินดีที่จะแบ่งปันข้อมูลและเครือข่าย ดังนั้นผมจึงรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนี้”

“กรุงเทพมหานครและประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งหมายความว่าเป็นประเทศที่มีส่วนร่วมกับผู้คนและนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก เป็นเมืองนานาชาติ นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนของประเทศไทยยังเอื้ออำนวยในการให้ความช่วยเหลือที่ดี อีกทั้งการเดินทางเป็นไปโดยสะดวก จึงเป็นประเทศที่น่ามาเยือนมาก”

 

เป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการมาปฏิบัติงานที่ประเทศไทย

“ผมคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญในการเพิ่มรากฐานต่างๆ ของเดนมาร์กในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น รากฐานในด้านความยั่งยืนดังที่ผมกล่าวถึง ด้วยพลังงานทดแทนและน้ำ (renewable energy and water) และอยากเห็นรากฐานของเดนมาร์กในประเทศไทยในภาคสุขภาพและอาหารด้วย”

“เรื่องต่อมาคือ ผมหวังว่าเราจะประสบความสำเร็จในการจัดงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-เดนมาร์ก ในโอกาสครบ 400 ปีในปี 2021ที่ใกล้จะถึงนี้”

“และผมหวังเป็นอย่างสูงว่า เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขเหมือนเดิมอีกครั้งหนึ่งเมื่อโลกไร้โควิด-19 เพราะมีชาวเดนมาร์กจำนวนไม่น้อยที่ต้องการจะมาเยือนประเทศไทย และผมก็ต้องการให้เจ้าหน้าที่สถานทูตทุกคนให้การบริการที่ดีหากพวกเขาประสบปัญหา เป็นต้น”

“ดังนั้น จึงมีหลากหลายเมล็ดพันธุ์ของรากฐานที่ผมอยากปลูกไว้ในช่วงเวลาที่ผมอยู่ที่นี่”

 

เนื่องจากบิดาของท่านทูตเคยเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองที่ครอบครัวอาศัยอยู่ คือเอเบลทอฟต์ (Ebeltoft) และมารดาเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน (AFS) ในปี ค.ศ.1957 ทำให้เรื่องราวที่สนทนากันในบ้านมักเกี่ยวกับต่างประเทศเป็นประจำตลอดมาตั้งแต่ท่านทูตยอนเกิดจนกระทั่งเติบโต และต่อมาท่านทูตก็ได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน (AFS) ที่แคนซัสซิตี้ (Kansas City) ในสหรัฐอเมริกาเมื่อมีอายุ 17 ปี

“แน่นอน เมื่อเราต้องเปลี่ยนสถานที่ไปอยู่ ณ ที่แห่งใหม่ เช่นเดียวกับตอนไปประจำ ณ กรุงปราก นิวยอร์ก และประเทศลัตเวีย ก็มักจะมีเรื่องตื่นเต้นมากมายในตอนแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักครึ่งปี ก็จะเริ่มเข้าที่และรู้สึกดี เหมือนที่ผมรู้สึกอยู่เวลานี้” ท่านทูตยิ้มกว้างเมื่อพูดถึงตอนนี้

“ผมมีมุมมองที่เป็นสากลเสมอ แต่ไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นนักการทูต ซึ่งอาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลจากคุณพ่อที่เป็นนักการเมือง คุณแม่ที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนและมีความคิดเป็นสากล จึงกลายเป็นความทะเยอทะยานของผมที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่อให้โลกดีขึ้น รู้ว่าต้องการทำงานแบบนั้น และจบลงด้วยการเป็นนักการทูตในที่สุด”

“เราเป็นหนึ่งในประเทศนอร์ดิก มีส่วนร่วมอย่างมากในเป้าหมายการพัฒนาคน และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนวัตกรรมมากที่สุด ดังนั้น เราจึงแข่งขันกับเพื่อนชาวนอร์ดิกของเราในเรื่องนวัตกรรมอยู่เสมอ เพราะเราสนับสนุนองค์การสหประชาชาติ ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 17 เป้าหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เพื่อจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น เมื่อเราพูดถึงการมีส่วนร่วมของหลายประเทศ เราก็มักจะเริ่มต้นด้วยเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติ อันเป็นก้าวสำคัญยิ่งเสมอ”

ท่านทูตชอบดูฟุตบอลเพื่อผ่อนคลายหลังเลิกงาน และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มีฟุตบอลสีสันสดใสที่ด้านบนของตู้ตรงทางเข้าสำนักงาน

 

สุดท้ายท่านทูตยอน ธอร์กอร์ด กล่าวว่า

ในโอกาสครบ 400 ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เดนมาร์กที่ใกล้จะถึงนี้

ผมอยากขอให้ช่วยกันหาร่องรอยต่างๆ ของเดนมาร์กในประเทศไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมาแบ่งปันกับเรา

ที่ผ่านมาได้มีคนไทยเข้ามาคุยกับผมพร้อมเรื่องราวและข้อเสนอแนะที่ดีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราทั้งสอง

ผมจะยินดีและขอบคุณมากหากได้รับข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่เรามีอยู่แล้ว