ต่างประเทศ : ทำไมเราทุกคนถึงได้วันหยุด “เสาร์-อาทิตย์” จุดเริ่มต้นมาจากไหน?

ในช่วงที่ผ่านมาท่ามกลางการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มราษฎร จะเน้นไปที่การต่อสู้ของพลังแรงงานกับต่อสู้เพื่อความเสมอภาค ส่วนหนึ่งคือการหลุดพ้นจากการกดขี่ของกลุ่มนายทุน

หนึ่งเรื่องที่ถูกพูดถึงคือความสำเร็จของกลุ่มแรงงานที่ร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสวัสดิการมากมายที่ยังคงมีมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้นคือวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุด “เสาร์-อาทิตย์” อย่างที่เราคุ้นเคยกันดี

แล้ววันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

ต้นกำเนิดการนับ 1 สัปดาห์เท่ากับ 7 วันถูกบันทึกไว้เมื่อ 4,000 ปีก่อนในยุคชาวบาบิโลน อารยธรรมเมโสโปเตเมีย กำหนดวันตามดวงดาว 7 ดวงที่เชื่อว่ารวมตัวกันเป็นระบบสุริยะ และแนวคิดที่ว่าก็ถูกนำไปใช้ในตะวันออกกลางและยุโรปตามลำดับ

นั่นคือที่มาของคำว่า “สัปดาห์” แต่ยังไม่มีการพูดถึง “วันหยุดสุดสัปดาห์” แต่อย่างใด

เรื่องวันหยุดของแรงงานมีบันทึกย้อนไปในอาณาจักรโรมันโบราณ มีการทำงาน 8 วันและหยุด 1 วันเพื่อเป็นวันเปิดตลาดและประกอบพิธีทางศาสนา ขณะที่ปฏิทินของนักปฏิวัติฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 17-18 กำหนดให้แรงงานทำงาน 10 วันและได้หยุด 1 วัน เป็นต้น

ต่อมาแนวคิดเรื่องวันหยุด 1 วันต่อสัปดาห์เริ่มก่อกำเนิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยถูกนำไปยึดโยงอยู่กับการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น ศาสนาคริสต์ มักจะหยุดงานใน “วันอาทิตย์” ศาสนายูดาห์ของชาวยิว จะหยุดใน “วันเสาร์” ขณะที่ศาสนาอิสลามจะหยุดใน “วันศุกร์”

นั่นจึงส่งผลให้ในยุโรปเริ่มมีการใช้ระบบการหยุดใน “วันอาทิตย์” มาใช้ในโรงงานต่างๆ ในช่วงศตวรรษที่ 19 เพื่อให้แรงงานได้มีเวลาว่างในการพักผ่อนและทำพิธีกรรมทางศาสนาเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

การหยุด “วันเสาร์” เริ่มต้นขึ้นในช่วงนี้เอง โดยมีบันทึกไว้ว่าเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าของโรงงานและบรรดาแรงงานในอังกฤษให้แรงงานสามารถหยุดงานในช่วง “ครึ่งวันบ่าย” ของวันเสาร์ได้ หลังจากเกิดปัญหาแรงงานทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในวันจันทร์ หรืออาจถึงขั้น “หยุดงานในวันจันทร์” ที่เรียกกันเป็นธรรมเนียมว่า “เซนต์มันเดย์”

การเพิ่มวันหยุดสุดสัปดาห์จาก 1 วันครึ่งไปเป็นการหยุด 2 วันเต็มนั้นเป็นผลมาจากปัญหาวันหยุดทางศาสนาที่ไม่ตรงกันระหว่างแรงงานชาวคริสต์ ที่หยุด “วันอาทิตย์” และชาวยิว ที่นับเอา “วันสะบาโต” เป็น “วันเสาร์” เพื่อหยุดประกอบพิธีทางศาสนา

ด้วยปัญหาที่ว่านี้ ทำให้ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โรงงานในนิวอิงแลนด์ สหรัฐอเมริกา จึงเริ่มเปิดทางให้โรงงานหยุดเสาร์-อาทิตย์ได้ และเริ่มมีหลายโรงงานใกล้เคียงใช้แนวปฏิบัตินี้ตามๆ กันไปด้วย

 

บริษัทแรกของโลกที่นำเอาแนวปฏิบัติในการหยุด “วันเสาร์-อาทิตย์” มาใช้และกำหนดชั่วโมงทำงานที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละ 8 ชั่วโมง อย่างเป็นทางการก็คือ “เฮนรี่ ฟอร์ด” ผู้ก่อตั้ง “ฟอร์ด มอเตอร์” ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่

หลังใช้ระบบดังกล่าวพบว่าประสิทธิภาพการทำงานในโรงงานเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้เวลากับแรงงานในการใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้มีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้อีกด้วย

หลังจากนั้นมีกลุ่มสหภาพแรงงานในโรงงานอื่นๆ ที่เรียกร้องให้มีการหยุดเสาร์-อาทิตย์ตามมาอีกหลายแห่ง

จนกระทั่งสหรัฐอเมริกานำเอาแนวปฏิบัติทำงาน 5 วันและหยุดเสาร์-อาทิตย์ มาบังคับใช้ในกฎหมายอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1932 ในที่สุด

 

แนวทางการหยุดเต็มวัน “เสาร์-อาทิตย์” ในยุโรปเกิดขึ้นตามมาโดยเริ่มต้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษช่วงปี ค.ศ.1933 โดย “จอห์น บู๊ต” เจ้าของโรงงานผลิตภัณฑ์เคมี ที่ต่อมาพัฒนาเป็นเครือข่าย “ร้านบู๊ทส์” ที่คนไทยรู้จักกันดี

จุดเริ่มต้นมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นที่โรงงานในเมืองน็อตติ้งแฮม ที่บู๊ตเพิ่งเปิดขึ้นใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต แต่ว่านั่นกลับทำให้มีสินค้ามากเกินความต้องการจนล้นสต๊อก

เดิมปัญหาดังกล่าวจะถูกแก้ไขด้วยการปลดแรงงานออกจากสายการผลิต แต่ “จอห์น บู๊ต” เลือกที่จะให้แรงงานหยุดงาน “วันเสาร์” เต็มวัน จากเดิมที่ทำงานครึ่งวันเช้าด้วย โดยยังคงกำลังคนเอาไว้เท่าเดิม และจ่ายค่าแรงเท่าเดิม

การลดเวลาการทำงานนอกจากจะแก้ปัญหาสินค้าล้นสต๊อกได้แล้ว ยังส่งผลให้แรงงานมีความสดใสและพร้อมทำงานในเช้าวันจันทร์ หลังจากมีเวลาว่างในการพักผ่อนและทำกิจกรรมกับครอบครัว

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าการมีวันหยุด 2 วันเต็มในแต่ละสัปดาห์ยังช่วยลดการหยุดงานและมีผลดีกับประสิทธิภาพการผลิต

จนในที่สุดบู๊ตก็กำหนดให้การหยุดงานวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นนโยบายบริษัทอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1934

นั่นทำให้จอห์น บู๊ต ได้รับยกย่องในฐานะ “ผู้คิดค้น 5 วันทำงาน” ก่อนที่สหภาพแรงงานจะรวมพลังกันเรียกร้องให้หลายโรงงานใช้แนวปฏิบัติดังกล่าว ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นกฎหมายแรงงานในที่สุด

หลังจากนั้น แนวปฏิบัติการทำงาน 5 วันและหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็แพร่หลายไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม มีประเทศในบางภูมิภาค เช่น ตะวันออกกลางที่มีวันหยุดในวันศุกร์-เสาร์ เพื่อให้สอดคล้องกับวันหยุดประกอบพิธีทางศาสนาในศาสนาอิสลามอยู่

 

นั่นก็คือที่มาของวันหยุด 2 วันต่อสัปดาห์สำหรับแรงงานทั่วโลก แต่ก็มีคำถามเช่นกันว่า แล้วจะเป็นไปได้ไหมที่แรงงานจะมีวันหยุดที่มากกว่า 2 วันในอนาคต?

คำตอบก็คือ มีการถกเถียงกันถึงเรื่องนี้กันมาบ้างแล้วและมีการทดลองใช้แล้วในบางประเทศ เช่น ในประเทศแกมเบีย ที่ประธานาธิบดีประกาศลดวันทำงานของข้าราชการลงเหลือ 4 วัน แต่เพิ่มชั่วโมงทำงานเป็น 9 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อปี 2013 ก่อนจะเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวมาเป็นการทำงาน 4 วันครึ่ง เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกันกับ “ฝรั่งเศส” ก็มีนโยบายทำงานวันศุกร์แค่ครึ่งวันเช้า และให้เวลาแรงงานหยุด 2 วันครึ่งแล้วเช่นกัน และมีหลายบริษัทระดับโลกอย่างเช่นไมโครซอฟท์ในญี่ปุ่น ที่ลองให้พนักงานลดเวลาทำงานลงเหลือ 4 วัน ซึ่งก็พบว่าสามารถลดต้นทุนด้านพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้จริง

อย่างไรก็ตาม มีบริษัทในสวีเดนที่ทดลองใช้ระบบการทำงาน 4 วันแล้วกลับมาใช้การทำงาน 5 วันเหมือนเดิม หลังจากบริษัทจำเป็นต้องจ้างพนักงานเพิ่มหลังจากลดวันทำงานของพนักงานเดิมลงเหลือ 4 วันเช่นกัน

แน่นอนว่าเรื่องวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป และความรู้สึกลิงโลดในเย็นวันศุกร์ และความหม่นหมองในเย็นวันอาทิตย์ที่ต้องตื่นไปทำงานในวันจันทร์ก็ยังคงจะอยู่กับเราไปอีกนาน