หลังเลนส์ในดงลึก : คำชม

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือดาว - ในป่า ทั้งเสือและคน ต่างใช้เส้นทางเดียวกัน

‘คำชม’

หลังจากพบกับปีที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ น้ำในลำห้วยเอ่อล้นตลิ่ง

ถึงเดือนธันวาคม สายลมหนาวเดินทางมาถึง พร้อมกับอุณหภูมิลดต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

ต้นไม้ปรับตัวลดการใช้น้ำ ใบไม้เริ่มทยอยเปลี่ยนสี นอกจากความหนาวเย็น สิ่งที่คนทำงานในป่าต้องพบอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นในช่วงเวลานี้คือ เห็บ

กลางวันแดดจัดจ้า กลางคืนอุณหภูมิลดต่ำ การขยับออกห่างกองไฟคือสิ่งที่ไม่อยากทำ

แต่อีกนั่นแหละ ดูเหมือนว่า นี่เป็นเวลาซึ่งคนออกเดินทาง ภายใต้ท้องฟ้าแจ่มใส บนยอดดอยสูง เพิ่งผ่านพ้นเวลาที่เมฆเริงระบำมาไม่นาน เหล่านกนักเดินทางทัพหน้า เดินทางมาถึงแล้ว บนยอดดอย แสงสียามเช้าและเย็น งดงาม หมอกหนา

ช้าง, กระทิง และสัตว์อื่นๆ ออกจากป่าดิบ, ป่าไผ่ มุ่งหน้าสู่แหล่งอาหารเสริมในโป่ง

ทุกหนแห่งดูงดงาม

แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ในป่าทุ่งใหญ่ นี่คล้ายเป็นเวลาอันยากเข็ญแห่งการเดินทาง

ดินเหนียวอยู่ในสภาพ “กำลังหนืด” ปลักเริ่มแห้ง

ในสภาพดินแบบนี้ ไม่เพียงแต่รถเท่านั้นหรอก เดินด้วยเท้าก็ใช่ว่าจะง่าย

นี่คือช่วงเวลาที่ประโยค “เดินเร็วกว่าครับ” เป็นประโยคที่คนในป่าทุ่งใหญ่ใช้เสมอๆ…

หน่วยพิทักษ์ป่าชั่วคราว ลูกไม้แดง หรือที่เรียกอย่างคุ้นชินว่า เซซาโว่ ผมใช้เวลาอยู่ที่นี่มาก ตั้งแต่ช่วงที่ร่วมงานกับทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ โดยวิธีวางกล้องดักถ่าย รวมทั้งหน่วยพิทักษ์ป่าแม่กะสะ ที่อยู่ห่างไปอีกราว 20 กิโลเมตร

เซซาโว่คล้ายความหนาวเย็นจะมากกว่าที่อื่น การเดินทางจากสำนักงานเขตมาถึงนี่ไม่ง่าย ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูใด

ช่วงเวลาหนึ่งผมเดินทางมาถึงด้วยพาหนะเป็นรถโตโยต้า DX ทำช่วงล่างนิดหน่อย ใส่ยางที่รถแข่งแรลลี่ในสนามใช้ ผมนำรถคันนั้นไปถึงหน่วยแม่กะสะและบ้านจะแกในฤดูแล้งถึงสองครั้ง ในครั้งที่สอง ผมพบกับน้าสนมที่หน่วยแม่กะสะ

แกส่ายหัวพร้อมกับพูดเบาๆ คำพูดซึ่งผมจำได้ดีว่า “ไอ้นี่ท่าจะบ้า”

เวลาผ่านมานาน หลายสิ่งเปลี่ยนแปลง คนทำงานในป่าแห่งนี้ รุ่นแรกๆ ต่างเกษียณไปหมดแล้ว

เมื่อผมกลับเข้ามาทำงานที่นี่ ผมพบว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยคือ การเดินทาง

เส้นทางเคยทุรกันดาร หลายช่วงเป็นปลักลึก ขึ้นเนินลื่นไถล เป็นเช่นนี้ตลอดมา และเส้นทางจะทุรกันดารมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

เส้นทางในป่านี้คล้ายเป็นทางทดสอบสมรรถนะของรถและคน แม้จะเป็น “รถนอกถนน” ซึ่งดัดแปลงมาอย่างดี หลายครั้ง หลายคันก็ผ่านพ้นเส้นทางไปได้ไม่ตลอด ไปไม่ถึงจุดหมาย

พาหนะอันเหมาะสมของคนทำงานที่นี่ ดูเผินๆ พวกมันคือรถขับเคลื่อนสี่ล้อ คานแข็งเก่าๆ สภาพเดิมๆ มักถูกเรียกว่า “อีแก่” มันพร้อมจะเสียได้ทุกเมื่อ และคนก็พร้อมจะซ่อมแซมพวกมันในทุกที่ที่พวกมันเสียเช่นกัน

ทั้งรถและคนคุ้นเคยกับเส้นทาง เมื่อรถเสีย คนเดินออกไปเอาอะไหล่ หรือเดินสู่จุดหมาย

คนยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ความทุรกันดารของเส้นทาง มันมาพร้อมกับงานของพวกเขา

และไม่ใช่เรื่องที่จะเอาชนะ

ในช่วงเวลาที่ดิน “กำลังหนืด” เป็นช่วงซึ่งทีมวางกล้องดักถ่ายต้องเข้ามาทำงาน ทุกคนรู้ดีว่าจะพบกับเส้นทางอย่างไร จึงเตรียมอุปกรณ์และใจอย่างพร้อมเพรียง

“ถ้านังลายไม่ไหวจริงๆ ก็เดินละครับ”

นังลายคือชื่อรถ คานแข็ง สภาพเดิมๆ

ก่อนหน้าทีมใหญ่จะมาถึงราวสองสัปดาห์ มีชุดล่วงหน้าเข้ามาสำรวจร่องรอยเสือโคร่ง และกำหนดจุดที่จะติดตั้งกล้อง

ผมอยู่กับทีม ซึ่งต้องใช้เวลาราวเดือนครึ่งกับการทำงาน

เวลาร่วมสองเดือนในป่านี้ ดูเหมือนผมจะคุ้นเคยกับหล่มหรือเนินชันๆ ขึ้นบ้าง

คุ้นเคยแต่ไม่ได้หมายความว่า บางหล่มผมจะผ่านไปได้พ้น

การสำรวจประชากรเสือโคร่งโดยวิธีติดตั้งกล้องดักถ่าย คือวิธีสำรวจอันได้ผลค่อนข้างแม่นยำ เพราะสัตว์กลุ่มเสือมีลายขนเฉพาะตัว ไม่ต่างจากลายนิ้วมือคน

ภายในพื้นที่ราว 70 ตารางกิโลเมตร อันเป็นพื้นที่ของเสือโคร่งตัวเมียหนึ่งตัว จะมีกล้องดักถ่ายอยู่ประมาณสามจุด

เสือโคร่งจะเดินตรวจสอบพื้นที่ของมันตลอด

ไม่ไกลจากหน่วยลูกไม้แดง ชุดสำรวจพบร่องรอยเสือโคร่งแม่-ลูกวัยรุ่น

ลูกเสือจะอยู่กับแม่กระทั่งอายุสองปี หลังจากนั้นพวกมันต้องแยกตัวออกไปหาพื้นที่ของตัวเอง ส่วนแม่ก็เตรียมตัวมีลูกชุดใหม่

ช่วงแยกจากแม่ใหม่ๆ เสือพวกนี้ดูคล้ายเป็นเสือพเนจร หาที่อยู่ยังไม่ได้ นักวิจัยพบว่า ช่วงนี้มันมักเลือกอยู่ตามสันเขา หรือที่กันดาร

สะสมประสบการณ์ จนอายุเกือบสี่ปีจึงเข้มแข็งพอจะเบียดเจ้าของที่เดิมออกไปเพื่อครอบครองแทนได้

สำหรับลูกเสือ พูดได้ว่าช่วงเวลาวิกฤตที่สุดในชีวิต คือช่วงเวลาที่ต้องแยกจากแม่

และความ “วิกฤต” นี้ พวกมันจะพบอีกครั้งในตอนที่ถูกเบียดออกจากพื้นที่โดยเสือที่เข้มแข็งกว่า

และในวันเวลาซึ่งวัยโรยรา วิกฤตนี้ย่อมหนักหนากว่าครั้งแรก

หลายปีผมใช้เวลาอยู่ในป่านี้

มีวันเวลาที่ดีได้เรียนรู้ ซึมซับประสบการณ์การเดินทางบนเส้นทางทุรกันดาร

เรียนรู้ไลน์ รู้ร่อง รู้ว่าหล่มใดลึก หล่มใดตื้น หล่มในป่าหลายหล่มดูด้วยตา ลึก และน่าจะผ่านไปได้ยาก แต่ส่วนใหญ่มักตื้น

หล่มซึ่งดูเหมือนว่าตื้นๆ ไม่มีอะไร นั่นแหละยากนักที่จะพารถผ่านให้พ้น

ได้ขับรถตามเหล่าคนผู้ชำนาญ หลายครั้งพวกเขาผ่านหล่มต่างๆ ไปได้ แต่ผมติด

อาจไม่ใช่เรื่องแปลก หล่มลึกบางหล่ม บางคนผ่านไปได้ง่ายๆ

ขณะบางคนผ่านไปไม่พ้น

เส้นทางในป่านั้นไม่ง่าย แต่หากไม่เคยระหกระเหินอยู่บนเส้นทางทุรกันดาร

บางทีอาจไม่รู้ว่า เส้นทางอันราบเรียบนั้น เป็นอย่างไร

อยู่ในป่าทุ่งใหญ่ ผมไม่กล้าบอกใครหรอกว่า เคยเอา “รถเก๋ง” เข้าไปถึงบ้านจะแก

ผมจำประโยคที่น้าสนมพูดที่หน่วยแม่กะสะได้ดี

“ไอ้นี่ท่าจะบ้า” หลายปีบนทางทุรกันดารจริงๆ

ผมรู้ว่า ประโยคนี้ไม่ใช่ “คำชม”