ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | คนแคระบนบ่ายักษ์ |
เผยแพร่ |
ตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็น “รัฐบาลทักษิณเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่?” ไปแล้ว
มาคราวนี้ ถึงตารัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือเปล่า?
ก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าเข้าข่ายหรือไม่ จะขอย้ำถึงนิยามหรือกรอบความหมายของระบอบ “อำนาจนิยม” อีกครั้ง
กรอบที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์เป็นเกณฑ์ระบอบอำนาจนิยมตามเกณฑ์อำนาจนิยมและอำนาจนิยมอำพราง (authoritarianism และ stealth authoritarianism) ของ Ozan O. Varol เงื่อนไขสำคัญของระบอบอำนาจนิยมตามที่ Varol ได้วางไว้
นั่นคือ รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญหรือเปิดโอกาสรับฟังความเห็นต่างและความหลากหลายทางการเมือง (political pluralism) และรัฐบาลหรือพรรคที่ปกครองประเทศมักจะกระทำการอย่างมุ่งมั่นชัดเจนที่จะกดหรือบีบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว โดยใช้วิธีการต่างๆ ที่จะกดหรือปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่นๆ และการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลในระบอบอำนาจนิยมมักจะเกิดขึ้นโดยอาศัยวิธีการผ่านช่องทางตามกฎหมายหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ (extra-legal) และการใช้อำนาจนั้น แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดตามอำเภอใจคาดการณ์ไม่ได้เหมือนอย่างในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ก็มักจะไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน (ill-defined norms) แต่กระนั้นก็เป็นการใช้อำนาจที่พอคาดการณ์ได้
ตามคำอธิบายของ Juan J. Linz ใน Totalitarian and Authoritarian Regimes หน้า 162 ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian) กับระบอบอำนาจนิยม (authoritarian)
โดยระบอบเบ็ดเสร็จขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ (ideology)
ในขณะที่ระบอบอำนาจนิยมขับเคลื่อนโดยทัศนคติหรือวิธีคิด (mentality)
และ Zargorka Golubovic ได้ขยายความความหมายของ “authoritarian mentality” ไว้ใน “Traditionalism and Authoritarianism as Obstacles to the Development of Civil Society in Serbia,” in Civil Society in Southeast Europe หน้า 92 ว่า ทัศนคติหรือวิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian mentality) ปรากฏหรือแสดงออกในลักษณะของการยอมรับและเชื่อฟังอำนาจโดยไม่พินิจพิเคราะห์ (uncritical)
การเชื่อฟังอำนาจที่ว่านี้ เริ่มต้นจากการเชื่อฟังอำนาจของผู้นำพรรคและพรรคของรัฐ
ต่อมาคือการยอมรับและเชื่อฟังอย่างผู้นำรัฐและรัฐชาติอย่างไม่พินิจพิเคราะห์
ยุครัฐบาลนอมินีหรือรัฐบาลที่เป็นร่างทรง คุณทักษิณ ชินวัตร เริ่มตั้งแต่การที่ คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ ส.ส.พลังประชาชนไม่ค่อยจะฟังคุณสมัครเท่าคุณทักษิณ
ขณะเดียวกัน ไม่รู้ว่าคุณทักษิณคิดอย่างไรถึงเลือกคุณสมัครมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน
เพราะก่อนที่จะลงตัวเป็นคุณสมัคร ผู้เขียนได้ข่าวกระเส็นกระสายมาว่า ตอนนั้นคุณทักษิณมีตัวเลือกอยู่สองท่าน ระหว่างคุณสมัครกับอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นทหารที่เคยร่วมหอลงโรงอยู่พรรคเดียวกันมาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2550 (ที่ผู้เขียนไม่ประกาศชื่อท่านออกมาเลย ก็เพราะไม่แน่ใจว่าจะถูกฟ้องหรือเปล่า หากจริงๆ แล้ว ท่านมิได้เป็นตัวเลือกในขณะนั้น)
ผู้เขียนได้ข่าวลือมาอีกว่า อดีตหัวหน้าพรรคที่เป็นทหารใหญ่ตั้งเงื่อนไขขอความเป็นอิสระในการบริหารจัดการรวมทั้งทรัพยากรในการ “รัน” พรรคอีกด้วย ซึ่งคุณทักษิณพิจารณาแล้วว่า “มากไป”
แต่จะว่าไปแล้ว ราคาของท่านทหารใหญ่นี้สูงกว่าคุณสมัคร เพราะท่านทหารมีลูกพรรคหรือคนการเมืองในสังกัดมากกว่าคุณสมัครหลายช่วงตัว
แต่การที่มีไพร่พลในสังกัดนี้ ไม่น่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับคุณทักษิณเท่าไรนัก เพราะดีไม่ดี พรรคพลังประชาชนอาจจะถูก “แฮป” เอาไปได้
นายหัวตัวจริงอยู่นอก ของแบบนี้เผลอไม่ได้แน่นอน อำนาจและผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร
ในที่สุด คุณทักษิณก็ตัดสินใจใช้บริการคุณสมัคร เพราะคุณสมัครมีแค่ตัวคุณสมัคร หรือถ้าจะมีพวกก็ไม่มากนัก ไม่น่าสร้างปัญหางัดข้อกบฏอะไรได้มาก
อีกทั้ง ถ้ายังจำกันได้ วิกฤตการเมืองก่อนหน้ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่คุณทักษิณโดนอัดเละเรื่องหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสถาบันสูงสุด
ดังนั้น การใช้บริการคุณสมัครย่อมจะเหมาะกว่าท่านทหาร เพราะคุณสมัครมีภาพลักษณ์ของการเป็น “ขวาสุดตัว” มาตั้งแต่ 6 ตุลาฯ โน่นแล้ว
แต่ท่านทหารใหญ่ท่านก็ออกแนวล้ำๆ หน่อย แต่ก็เป็นที่ไว้ใจสำหรับขาที่กลับมาจากการล่องไพร!
แต่คุณสมัครก็ยังเป็นคุณสมัครวันยังค่ำ ท่านมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ใครๆ ก็รู้ อีกทั้งระดับคุณสมัครแล้ว จะให้เป็นเพียงหุ่นเชิดร่างทรงบริสุทธิ์ คงไม่ใช่แน่ๆ
และความจริงก็ปรากฏชัดอีตอนหลังจากที่คุณสมัครถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการที่มีการกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 มีความผิดในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อน
การถูกตัดสินที่ส่งพ้นให้สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นการลงโทษที่สิ้นสุดลง จะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในสภา
ซึ่งคุณสมัครมีสิทธิ์ที่จะถูกเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งได้ หากเสียงข้างมากในสภาสนับสนุน เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 มิได้มีบทบัญญัติห้ามไว้
แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า คุณสมัครเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนแต่ในนาม และปรากฏการณ์ “นอมินี” ภายใต้การควบคุมสั่งการจากคุณทักษิณที่อยู่ต่างประเทศส่งผลให้เกิดความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มก๊วนต่างๆ ภายในพรรคพลังประชาชน ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างแย่งกันเป็นกลุ่มนำเพื่อเข้ากำหนดทิศทางของพรรค
หนึ่งในนั้นได้แก่ คุณสมัครและพวกอีกสามคนคือ คุณธีรพล นพรัมภา นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ คุณเนวิน ชิดชอบ ที่ต่อมาได้รับฉายาจากสื่อว่าเป็น “แก๊งออฟโฟร์”
คนทั้งสี่พยายามที่จะควบคุมพรรคและผลักดันให้คุณสมัครขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย โดยอ้างว่าเป็นการรวมตัวเพื่อสร้างฐานอำนาจใหม่ให้กับพรรคพลังประชาชน ในยามที่คุณทักษิณ เจ้าของพรรคพลังประชาชนตัวจริงที่ต้องหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ
แต่การกระทำของแก๊งออฟโฟร์ กลับสร้างความไม่ไว้วางใจให้กับพลพรรคพลังประชาชนและคุณทักษิณได้ไม่น้อย”
ดังนั้น เพื่อมิให้พรรคของตนเองถูกแย่งชิงหรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลอื่นที่พยายามจะเป็นอิสระจากตน
คุณทักษิณจึงส่งสัญญาณไม่สนับสนุนคุณสมัครให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก และเป็นการสลายขั้วอำนาจใหม่ภายในพรรคด้วย
คุณทักษิณจึงผลักดันให้คนที่ตนสามารถไว้วางใจและแน่ใจว่าจะไม่พยายามจะเป็นอิสระจากตน
คุณทักษิณจึงเลือกให้ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีของ คุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ ของตัวเองขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนายสมัคร เพราะง่ายต่อการควบคุมสั่งการ
ส่งผลให้คุณสมัคร นอมินียุคที่หนึ่งต้องสิ้นสุดลง และก่อกำเนิดนอมินียุคที่สอง นั่นคือ คุณสมชายผู้เป็นน้องเขยคุณทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551
ก่อนจะบรรยายความปรากฏการณ์ของคุณสมชาย นอมินียุคที่สองของคุณทักษิณ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตกับปรากฏการณ์ปัจจุบันสักนิดหนึ่งก่อน
เมื่อไม่นานมานี้ วันที่ 15 พฤษภาคม 2559 เป็นวันคล้ายวันเกิดของคุณเยาวภา มีผู้คนในเครือข่ายเพื่อไทย (อดีตพลังประชาชนและอดีตไทยรักไทย และยังรวมถึงนักการเมืองจากพรรคอื่นๆ ที่ย้ายมาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย โดยไม่ได้ผ่านพลังประชาชนและไทยรักไทย) ไปอวยพรกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
หากดูรูปนิ่งจากสื่อ จะไม่เห็นอะไรน่าสังเกต แต่ถ้าดูจากสื่อโทรทัศน์ จะพบว่า ผู้ใหญ่ระดับรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังออกอาการเกรงอกเกรงใจเคารพนบน้อมคุณเยาวภาอย่างยิ่ง
นอกจากผู้ใหญ่ระดับรักษาการหัวหน้าพรรคแล้ว ยังมีผู้ใหญ่ที่ใหญ่ๆ อีกมาก ก็ออกอาการในลักษณะเดียวกันกับคุณเยาวภา
ปรากฏการณ์แบบนี้บอกได้คำว่าเดียว ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ปรากฏการณ์นอมินีน่าจะยังคงดำเนินต่อไป ยกเว้นเสียแต่คุณเยาวภาจะเป็นหัวหน้าพรรคเสียเอง แต่กระนั้น ก็ยังเป็นนอมินีของคุณทักษิณอยู่ดี ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณทักษิณจะวางมือจากการเมืองจริงๆ
แต่ถ้าคุณเยาวภาเป็นหัวหน้าพรรค ภาพลักษณ์ก็จะชัดว่าพรรคนี้เป็นของตระกูล “ชินดาวงศ์” อย่างที่ท่านบิ๊กจิ๋วท่านเปรยไว้ และตัดสินใจไม่ร่วมสังคายนาด้วย การปล่อยให้ภาพลักษณ์ของพรรคเป็นตามที่บิ๊กจิ๋วท่านเก็งไว้ น่าจะไม่ใช่เรื่องดีสำหรับการเป็น “พรรคการเมือง” จริงๆ จะว่าไปแล้ว ลึกๆ ท่านบิ๊กจิ๋วก็คงรักความอิสระไม่น้อยไปกว่าคุณสมัครเท่าไรนัก
ผู้เขียนไม่ได้เป็นคนตามกระแสข่าวอย่างลึก จึงไม่แน่ใจว่าวันเกิดคุณเยาวภาที่ผ่านมา คุณหญิงสุดารัตน์ท่านไปร่วมอวยพรด้วยหรือเปล่าไม่ทราบ? ใครรู้ช่วยบอกที!! เห็นแต่ท่านนาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ไป!