อนุสรณ์ ติปยานนท์ : อายิโนะโมะโต๊ะ

ปากะศิลป์ฉบับอ่านใหม่ (60)

อุทยานรส (6)

มิถุนายน 1909

ซายาโกะ มัตสุดะ กำลังมุ่งหน้ากลับบ้าน เสียงนาฬิกาที่ตีเป็นสัญญาณเวลาจากนาฬิกาตั้งโต๊ะสักเครื่องหนึ่งของร้านค้าแถบนั้นบอกว่าอีกไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง สามีของเธอที่เป็นพนักงานขับรถโดยสารจะเดินทางกลับถึงบ้าน

เป็นเพราะบทสนทนาที่ลื่นไหลกับอายูมิ เพื่อนร่วมชั้นเรียนสมัยมัธยมของเธอที่ทำให้เธอหลงลืมเวลา ในตอนแรกเธอตั้งใจที่จะย่างปลาซาบะกับทำเทมปุระผักให้สามี แต่ถ้าเธอกลับไปถึงบ้านในตอนนี้ เพียงแค่การหุงข้าวก็ดูจะกินเวลาไปหมดแล้ว

เธอนึกถึงอาหารที่ทำให้สามีทานในเย็นนี้ไม่ได้เลยสักเมนูเดียว

สมองของเธอสับสนและอาการร้อนรนยิ่งทำให้เธอคิดอะไรไม่ออกยิ่งขึ้นอีก

เบื้องหน้าเธอ บนถนนระหว่างทางกลับบ้านมีคณะละครเร่คณะหนึ่งที่กำลังส่งเสียงเอิกเกริก มีเสียงตะโกนไล่ให้พ้นทางจากผู้เป็นเจ้าของร้านที่คณะละครเร่ไปทำการแสดง

หากเป็นเวลาปกติ เธอคงหยุดชมสักเล็กน้อย แต่ในยามนี้ เธอกลับหงุดหงิดต่อเสียงเครื่องดนตรีและเสียงตะโกนจากตัวละคร เธอพยายามเร่งฝีเท้า

แต่ในขณะที่เธอกำลังจะเดินผ่านคณะละครนั้นเอง เธอก็ได้ยินถ้อยคำจากการตะโกนที่เกิดขึ้นบนถนน

“เพียงแค่มีอายิโนะโมะโต๊ะอยู่ในมือ เราทุกคนก็จะเป็นอิสระจากการเตรียมน้ำซุปและการปรุงรสด้วยสิ่งต่างๆ บอกลาผงโบนิโตะ บอกลาสาหร่ายคอมบุได้เลย โดยเฉพาะคุณแม่บ้าน ประดิษฐกรรมด้านอาหารจากอนาคตของอายิโนะโมะโต๊ะให้รสชาติอันยอดเยี่ยมหรือรสอูมามิอย่างที่พวกคุณจะไม่เคยลิ้มรสมาก่อน”

ซายาโกะเหลือบมองชายผู้กำลังกล่าวถ้อยคำดังกล่าว เขาสวมใส่เสื้อคลุมที่พิมพ์คำว่าอายิโนะโมะโต๊ะและกำลังประกาศเชิญชวนดังกล่าวด้วยความมั่นใจ

คำว่า “อูมามิ” นั้นน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับแม่บ้านอย่างเธอที่ต้องทำอาหารให้ได้มาตรฐานทุกครั้งไปหรืออย่างน้อยก็มาตรฐานพอที่สามีของเธอจะไม่มีคำตำหนิ เธอขยับเข้าไปใกล้คณะละครเร่นั้น

สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มเมื่อแลเห็นเธอ เขาก็ยื่นขวดแก้วขนาดเล็กที่ภายในบรรจุเกล็ดสีขาว

“อายิโนะโมะโต๊ะครับคุณนาย เพียงไม่ถึงช้อนชาที่คุณนายเหยาะสิ่งนี้ลงในอาหารที่คุณนายปรุง คุณนายจะพบความอร่อยอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน”

ในขณะที่ซายาโกะกำลังลังเลอยู่นั้น ชายผู้สวมใส่เสื้อคลุมก็หันมาแนะนำตัวกับเธอ

“ผมซาบุโร่ซูเกะที่สองครับคุณนาย เป็นเจ้าของบริษัทแห่งอนาคตที่มุ่งมั่นจะลดภาระให้กับแม่บ้านทุกคน เกล็ดสีขาวนี่คือเกล็ดอายิโนะโมะโต๊ะ ชื่อทางเคมีของมันอาจฟังดูแปร่งหูคือโมโนโซเดียมกลูตาเมต แต่ชื่อที่ทุกคนจะจดจำได้ต่อไปคือเกล็ดแห่งรสอูมามิ มันเป็นผลิตผลจากมันสมองของอาจารย์อิเคดะ นักเคมีแห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล โตเกียว เพียงแค่ปริมาณเล็กน้อยบนอาหารของคุณนาย คุณนายจะได้เปิดประสบการณ์ใหม่แห่งรสชาติทีเดียว ขอประทานโทษด้วย คุณนายตั้งใจจะประกอบอาหารอะไรในเย็นนี้หรือครับ?”

ซายาโกะคลี่ความคิดของเธออย่างรวดเร็ว “คิดว่าอยากจะย่างปลาซาบะกับทำเทมปุระนะค่ะ”

“เหมาะมากทีเดียวครับคุณนาย” ชายผู้นั้นเอ่ย “คุณนายโรยเกล็ดอายิโนะโมะโต๊ะของเราบนปลาก่อนย่างและผสมเกล็ดของเรากับแป้งทอดเทมปุระ ผมกล้ารับประกันเลยว่าอาหารทั้งสองอย่างของคุณนายจะทำให้สามีของคุณนายเอ่ยชมเป็นแน่ และผมเชื่อว่าคุณนายจะต้องกลายเป็นแม่บ้านฝีมือเลิศในสายตาของสามีในไม่ช้านี้ ขอเพียงแต่คุณนายอย่าเอ่ยความลับข้อนี้ให้เขารู้เป็นพอ”

ซายาโกะซื้ออายิโนะโมะโต๊ะขวดนั้นกลับบ้าน เธอมีความมั่นใจขึ้นอย่างประหลาดและลงมือทำอาหารอย่างไม่เร่งรีบ สามีของเธออ่านหนังสือพิมพ์รออาหารมื้อนั้น และเมื่ออาหารถูกเสิร์ฟ เพียงคำแรก เขาก็เอ่ยชมเธอ ซายาโกะกลับเข้าไปในครัว

เธอหยิบขวดอายิโนะโมะโต๊ะขึ้นพิจารณาและตัดสินใจว่าพรุ่งนี้เธอจะต้องออกจากบ้านแต่เช้าตรู่เพื่อไปซื้อเกล็ดอามามิดังกล่าวมาเก็บไว้ก่อนที่มันจะขาดตลาด

สามเดือนแรกหลังจากที่อายิโนะโมะโต๊ะออกสู่สาธารณชน ศาสตราจารย์อิเคะดะ คิคูนาเอะ ติดตามเสียงตอบรับผลิตผลจากการค้นคว้าของเขาอยู่อย่างเงียบๆ ในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ยอดขายที่ได้รับของอายิโนะโมะโต๊ะอาจทำให้เขาตื่นเต้นบ้าง แต่ไม่เท่ากับการที่คำว่า “อูมามิ” กลายเป็นคำสามัญที่พ่วงไปกับเกล็ดโมโนโซเดียมกลูตาเมตที่เขาค้นพบ

เขาเขียนจดหมายไปถึงศาสตราจารย์วิลเฮลม์ ออสวัลด์ ผู้เป็นอาจารย์ของเขาที่มหาวิทยาลัยไลป์ซิกในเยอรมนี จดหมายตอบกลับจากศาสตราจารย์ออสวัลด์ให้กำลังใจเขาอย่างมาก

อีกทั้งยังทำให้เขารู้ว่างานค้นคว้าของศาสตราจารย์ออสวัลด์ในเรื่องสมดุลทางเคมีกำลังคืบหน้าไป

อิเคดะลุกขึ้นจากโต๊ะทำงาน เขาวางแผ่นเสียงของโมสาร์ตที่ศาสตราจารย์ออสวัลด์ชื่นชอบลงบนเครื่องเล่น และฟังมันตลอดบ่ายนั้นพร้อมกับอ่านจดหมายของอาจารย์ซ้ำไปซ้ำมา เขาคงไม่รู้ว่าอีกไม่กี่เดือนนับจากนั้น สิ่งที่ศาสตราจารย์กำลังหมกมุ่นอยู่นั้นจะทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในเวลาถัดมา

ทุกสิ่งทุกอย่างดูดำเนินไปด้วยดี ในปี 1910 ยอดขายของอายิโนะโมะโต๊ะขยายตัวจากการวางตลาดครั้งแรกหลายเท่า

ทั้งซาบุโร่ซูเกะที่สองและศาสตราจารย์อิเคดะแทบไม่มีความกังวลใจใดๆ ทว่าไกลออกไปในคาบสมุทรเกาหลี สิ่งที่ชินจิ นากามูระ กำลังเผชิญกลับน่าหวาดหวั่นกว่าสิ่งใดที่เขาเคยเผชิญมา

ในการประชุมนายทหารระดับสูงครั้งล่าสุด มีการกำหนดนโยบายชัดเจนว่าอีกไม่นานเกาหลีจะต้องถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชินจิไม่ได้มีความวิตกกังวลในเรื่องสงคราม ในฐานะของนายทหารเขาถูกฝึกมาให้ไม่มีความเกรงกลัวต่ออนาคตและสงคราม

ทว่าสิ่งที่ทำให้เขากังวลใจในยามนี้มีอยู่สองประการ

ประการแรก คือการที่เขารู้สึกตนเองว่ามีใจฝักใฝ่ในสงครามน้อยลงเต็มที หลังชั่วโมงแห่งการงาน เขาพบตนเองอยู่ตามร้านอาหารของชาวเกาหลี สนทนาและพูดคุยกับคนเหล่านั้น เขามีความสุขในมื้ออาหารมากเสียกว่าการอยู่ในสนามรบ

อีกทั้งเขายังรู้สึกเหมือนหนึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารเกาหลีไปเสียแล้ว เขาดื่มโชจูมากกว่าสาเกและกินกิมจิบ่อยครั้งกว่าซุปมิโสะในยามนี้

แต่สิ่งที่รบกวนจิตใจเขาที่สุดคือ รสชาติจากเห็ดมัตซึตาเกะ นับวัน นับวัน เขารู้สึกได้ว่ารสชาติจากเห็ดชนิดนี้เป็นรสชาติเฉพาะที่พิเศษและแตกต่างจากรสเปรี้ยว หวาน เค็ม และขมที่มนุษย์รู้จักกันเป็นอย่างดี
เขาเชื่อว่าหากเขาละจากสิ่งที่ทำและมุ่งหน้าค้นคว้าในรสนี้ เขาจะได้พบรสใหม่ของอาหารอย่างแน่นอน

แทบทุกสัปดาห์ ชินจิ นากามูระ จะขึ้นไปที่ป่าสน เขาเก็บเห็ดมัตซึตาเกะเอามาปรุงในทุกเมนูที่เขาจดจำได้ เมนูหนึ่งที่เขาชอบทำเป็นพิเศษคือการหุงข้าวโดยการเจือน้ำซุปที่ได้จากการต้มเห็ดมัตซึตาเกะและผัดเห็ดมัตซึตาเกะกับน้ำซุปที่ได้จากสาหร่ายคอมบุและนำเห็ดมาโรยหน้าข้าวที่หุงเสร็จแล้ว ชินจิเรียกเมนูนี้ว่า “ข้าวมัตซึตาเกะ”

เขาทำเมนูนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางครั้งเขาก็ทดลองใช้ข้าวเมล็ดยาวที่ได้มาจากอินเดีย

บางครั้งก็ใช้ข้าวเมล็ดป้อมของญี่ปุ่น

บางครั้งก็ใช้น้ำซุปจากปลาแห้ง

และบางครั้งเขาก็เปลี่ยนมาใช้เห็ดตากแห้งที่บดเป็นผงโรยหน้าแทนเห็ดสด ชินจิ นากามูระ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเข้าถึงรสชาติอันลี้ลับของเห็ดมัตซึตาเกะ

แต่แล้วเช้าวันหนึ่งคำเฉลยในรสชาติดังกล่าวก็มาถึงเขา

กองทัพส่งเสบียงอาหารชุดใหม่มาให้กองร้อยของเขา ชินจิ นากามูระ หยิบขวดแก้วที่มีเกล็ดสีขาวบรรจุอยู่ขึ้นจากลัง มีคำบรรยายแนบติดมาว่าสิ่งนี้คือเกล็ดที่ให้รสชาติอันเลิศ

ชินจิละลายเกล็ดดังกล่าวกับน้ำอุ่นและชิมมันดูเพียงเล็กน้อย แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นก็ทำให้เขาแทบใจสลาย

มีใครบางคนค้นพบรสชาติของเห็ดมัตซึตาเกะก่อนเขา รสชาติดังกล่าวถูกขนานนามโดยคนเหล่านั้นว่า “อูมามิ”