จรัญ มะลูลีม : กึ่งศตวรรษสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย ตอน 1 สายธารร่วมสมัย

จรัญ มะลูลีม

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียถือว่ามีความราบรื่นตลอดมา ผ่านการเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและผู้คน

ไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศแรกสุดที่ให้การรับรองมาเลเซียเมื่อมาเลเซียได้รับเอกราชในปี 1957

นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย คือ ตุนกู อับดุรเราะห์มานนั้นเคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย เคยเรียนหนังสือระดับประถมที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ พร้อมกับพี่ชายซึ่งเข้าศึกษาต่อที่ ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย (วชิราวุธวิทยาลัยเดิม) และเข้ารับราชการทหารในกองทัพไทยจนกระทั่งเสียชีวิตในเมืองไทย

ส่วนตุนกู อับดุรเราะห์มาน เดินทางกลับประเทศมาเลเซียและก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์กับไทยจึงถือเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ระดับสูงสุดสำหรับมาเลเซียในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน หรือในแง่ของความสัมพันธ์ในวงกว้างออกไปอย่างในอาเซียนหรือในสหประชาชาติก็ตาม

มาเลเซียและไทยมีสัมพันธ์อันดีอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคตลอดมา

 

มาเลเซียเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง ASEAN และองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation) หรือ OIC และเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศอื่นๆ อีกหลายองค์การ อย่างเช่น สหประชาชาติ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) กลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Align Movement) หรือ NAM

นโยบายต่างประเทศของมาเลเซียวางอยู่บนหลักการความเป็นกลาง (neutrality) และมีความสัมพันธ์ที่มีความสงบสันติกับทุกประเทศ แต่จะให้ความสำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงและความมีเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มาเลเซียเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองมาโดยตลอด ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นแม้ว่าในบางช่วงเวลามาเลเซียจะประสบกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ แต่ช่วงเวลาส่วนใหญ่ของมาเลเซียจะมีความเจริญอย่างต่อเนื่อง

 

กล่าวกันว่า ในบรรดาประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองมากที่สุดคือมาเลเซียและสิงคโปร์ ทั้งนี้ จะวัดได้จากการเลือกตั้งที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

“ความสม่ำเสมอ” ในการเลือกตั้งเป็นเครื่องวัดที่ดีที่สุดถึงสภาพทางการเมืองในรัฐ-ชาติที่กำลังเติบโต ทั้งนี้ก็เพราะหลายประเทศล้มเหลวในกระบวนการนี้ ความสม่ำเสมอในการเลือกตั้งเป็นการยืนยันว่า กฎเกณฑ์ของสภาในระบอบประชาธิปไตยได้หยั่งรากลงแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐที่เต็มไปด้วยชนหลายเชื้อชาติ

นับเป็นเวลา 61 ปีมาแล้วที่มาเลเซียได้เปิดให้มีการเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งแรกเริ่มขึ้นในปี 1959

และหากไม่นับรวมปี 1969 ซึ่งเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างชาวมาเลย์และชาวจีน (ความขัดแย้งที่ขยายตัวอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 1969 หลังการเลือกตั้ง สาเหตุหลักของความขัดแย้งก็เนื่องมาจากการที่ชาวมลายูเห็นว่าชาวจีนนอกจากจะมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจแล้วยังมีอิทธิพลทางด้านการเมืองอีกด้วย โดยพรรคของชาวจีนฝ่ายค้าน (DAP) ได้รับเลือกถึง 13 คน การจลาจลรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน ความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 15 ล้านริงกิต)

หลังจากนั้นรัฐบาลก็พยายามแก้ไขปัญหาความแตกแยกทางสังคมด้วยประกาศรูกูเนอการา (Rukunekara) หรืออุดมการณ์แห่งชาติ โดยความมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การกระจายความมั่นคงให้แก่ทุกเชื้อชาติ และสร้างสังคมที่ก้าวหน้ามุ่งไปสู่การใช้เทคโนโลยีทันสมัย มีอุดมการณ์หลักคือ

1. ศรัทธาในพระเจ้า กำหนดให้ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ

2. จงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชาธิบดีและประเทศชาติ โดยสมเด็จพระราชาธิบดี (ยังดี เปอร์ตวน อากง) ต้องเป็นชาวมลายู ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ

3. ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย

และ 4. มีศีลธรรม จริยธรรมและความประพฤติดี

หลังจากนั้นจะพบว่ามาเลเซียได้เดินสู่แนวทางการเลือกตั้งด้วยความมั่นใจยิ่งๆ ขึ้น

 

กฎเกณฑ์ทางรัฐสภาได้รับการเคารพทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ศักยภาพและพฤติกรรมจากการเลือกตั้งทั่วไปทำให้ผู้มาออกเสียงมีความมั่นใจแม้จะมีกรณีพิพาทอยู่บ้างแต่ก็แก้ไขได้ด้วยกระบวนทางกฎหมาย (จรัญ มะลูลีม “มาเลเซียกับการเลือกตั้ง” กรุงเทพธุรกิจ 24 เมษายน 2538) ดังนั้น กระบวนการเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการที่ถูกต้องซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในระบบการเมืองที่น่าเชื่อถือ มีโครงสร้างของพรรคการเมืองที่แข็งแกร่ง

ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางด้านการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซียมีอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์

นอกจากนี้ มาเลเซียยังเป็นประเทศที่บทบาททางทหารกับบทบาททางการเมืองได้ถูกแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับอินเดียซึ่งทหารทำหน้าที่เป็นทหารอาชีพแต่เพียงอย่างเดียว

จึงอาจกล่าวได้ว่าในมาเลเซียพลเรือนมีส่วนบริหารประเทศอย่างแท้จริง

แม้ว่ารูปแบบการปกครองเช่นนี้จะมาจากอังกฤษ แต่ประเทศอื่นๆ ที่เคยปกครองโดยอังกฤษก็ไม่สามารถแยกบทบาทของทหารออกจากการเมืองได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่บทบาทของทหารที่มีต่อการเมืองของบังกลาเทศและปากีสถาน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วพรรคการเมืองของมาเลเซียอันเป็นพรรคที่สังกัดอยู่กับเชื้อชาติ ต่างก็มุ่งหาประโยชน์ให้กับเชื้อชาติของตน จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในปี 1959 แต่หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านพ้นไปและเมื่อรัฐบาลเริ่มกระจายความเจริญและผลประโยชน์ไปยังทุกเชื้อชาติ เช่น การพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวมลายูได้มีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจ การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจแผนใหม่เพื่อขจัดความยากจนโดยไม่เลือกเชื้อชาติ และที่สำคัญก็คือการทำให้ “บุตรของแผ่นดิน” หรือภูมิบุตร (Bumiputera) เข้ามามีส่วนในด้านการค้าและอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้มาเลเซียจึงมีความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าแต่ละฝ่ายยังคงภักดีต่อเชื้อชาติของตนเองอยู่ก็ตาม แต่ก็ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศร่วมกัน

 

มาเลเซียและประเทศไทยเป็นสมาชิกที่มีความตื่นตัวของ ASEAN มีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ราบรื่นเป็นมิตรและร่วมกันในความสัมพันธ์ทวิภาคีที่เข้มแข็งในด้านต่างๆ อย่างเช่น การค้าและการลงทุน ความมั่นคง การศึกษาและการฝึกฝนการอาชีพ เยาวชน และการกีฬา

ในส่วนของการเชื่อมโยงต่อกันและการพัฒนาบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งสองประเทศมีชายแดนร่วมกันเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

โดยเบื้องต้นมาเลเซียเป็นประเทศมุสลิม ซึ่งมีลักษณะเป็นพหุวัฒนธรรม (multicultural character) ร่วมกับชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้เป็นมุสลิม

ในอีกทางหนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชาวพุทธรวมกันเป็นคนส่วนใหญ่โดยมีชุมชนมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างที่อยู่ติดกับชายแดนมาเลเซีย

ประเทศไทยมีชายแดนร่วมกับกัมพูชา ลาว มาเลเซียและเมียนมา แม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ก็มีการเปลี่ยนผ่านระบอบประชาธิปไตยกับการเข้ามามีบทบาทของทหารมากกว่าหนึ่งทศวรรษ

ประชาชนร้อยละ 95.9 เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย ส่วนที่เหลืออีก 4.1 จะมาจากเมียนมาและจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

ภาษาไทยเป็นภาษาราชการที่เป็นภาษาหลักทั้งในทางการศึกษาและในการบริหารงานของรัฐบาลและมีการพูดอยู่ทั่วประเทศ

ศาสนาของประเทศไทยคือพุทธเถรวาท (Theravada Buddhism) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของไทย ที่สำคัญประเทศไทยเป็นประเทศพหุวัฒนธรรมโดยมีกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาอาศัยอยู่ วัฒนธรรมถูกหล่อหลอมมาจากหลายอิทธิพล รวมทั้งอิทธิพลที่มาจากอินเดีย ลาว เมียนมา กัมพูชา และจีน

มาเลเซียปกครองในระบอบสหพันธรัฐ ภายใต้การเป็นประมุขของสมเด็จพระราชาธิบดี (Yang-di Pertuan Agong) ตำแหน่งพระราชาธิบดีจะมาจากผู้ปกครองรัฐ 9 รัฐ ได้แก่ ยะโฮร์ ตรังกานู ปะหัง เซลังงอ เกอดะฮ์ กลันตัน เนกรีเซมบิลันและปะลิส

ตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดี มีวาระ 5 ปี หมุนเวียนไปตามรัฐทั้ง 9 รัฐ